เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง

เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง

เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ถือเป็นการศึกษาแนวใหม่ที่ผนวกจิตวิทยาร่วมด้วยวิธีการทดลองให้เข้า

มาสู่เศรษฐศาสตร์ โดยมีพื้นฐานความคิดที่ปฏิเสธความมีเหตุผลของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ที่มองว่ามนุษย์สามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ภายใต้ข้อมูลที่ครบถ้วน) และมีพฤติกรรมที่คงเส้นคงวา 

อย่างไรก็ตาม เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมองว่ามนุษย์มีการเลือกไม่เป็นเหตุผล และมีความเอนเอียงได้ เช่น ในการทดลองได้แบ่งกลุ่มคนออกเป็น ก และ ข โดยทั้งสองกลุ่มเสนอว่า จะได้รับเงิน 1,000 บาท เมื่อทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ภายระยะเวลาที่เท่ากันทั้งคู่ด้วยวิธีต่างกัน กล่าวคือ กลุ่ม ก ถูกเสนอให้ได้รับเงิน 1,000 เมื่อบรรลุวัตถุประสงค์ ในขณะที่กลุ่ม ข ได้รับเงิน 1,000 บาททันที แต่จะถูกริบคืน ถ้าหากไม่บรรลุวัตถุประสงค์ตามกำหนด จากกรณีนี้ ถ้าเป็นเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจะมองว่าประสิทธิภาพในการบรรลุวัตถุประสงค์ของคนสองกลุ่มย่อมไม่ต่างกันอย่างสำคัญ (เพราะผลตอบแทนเท่ากัน) 

อย่างไรก็ตาม เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมองว่า กลุ่ม ข จะมีประสิทธิภาพในบรรลุวัตถุประสงค์มากกว่า เพราะศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมองว่าในแง่ของความรู้สึก มนุษย์กลัวความสูญเสียมากกว่า ดังนั้นนั้นการได้เงินมาอยู่ในมือ แล้วกลัวถูกริบคืนในกลุ่ม ข จึงเป็นแรงจูงใจที่กระตุ้นการทำงานมากกว่า กลุ่ม ก ที่ได้รับรู้เพียงคำสัญญาที่จะให้เงินเมื่อบรรลุวัตถุประสงค์

เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่ในไทย แต่ก็ได้เริ่มมีคนพูดถึงกันบ้าง ซึ่งความร่วมมือระหว่าง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถือได้ว่าเป็นทิศทางหนึ่ง โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งสองคณะได้ร่วมมือกันจัดสัมนาเรื่อง นโยบายออกแบบได้ สร้างนโยบายการเรียนรู้พฤติกรรม” ขึ้นที่ ม.ขอนแก่น ซึ่งได้มีตัวแทนอาจารย์ของทั้งสองมหาวิทยาลัยบรรยายในประเด็นดังกล่าว 

ที่สำคัญกว่านั้น ยังได้มีการจัด “เกมการทดลองทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม” ขึ้น เกมดังกล่าวเป็นโครงการวิจัยหลักนำโดย ศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่มีการสัญจรไปทั่วประเทศ ผมในฐานะผู้สังเกตการณ์ ก็อยากมาเล่ารายละเอียดในส่วนการออกแบบทดลองของ ม.ขอนแก่น โดย ดร. ธัญมัชฌ สรุงบุญมี ให้ฟังกัน (ส่วนคราวหน้าเราคงได้ฟังจากทางจุฬาฯในคอลัมน์นี้กันครับ)

ผู้ออกแบบการทดลองมีมุมมองว่า “การร่วมมือกันทางสังคม” ทำให้เกิดผลประโยชน์ทางสังคมสูงสุด แต่คนมักไม่ทำกัน เพราะการละเมิดจากความเห็นแก่ตัวทำให้เขาได้รับประโยชน์มากขึ้น (แต่นำพามาซึ่งการลดลงของประโยชน์แห่งสังคม) เช่น ในกรณีการดูคอนเสิร์ต ถ้าหากทุกๆคนทำตามกฏคือนั่งเป็นระเบียบ สังคมโดยรวมจะได้ประโยชน์ อย่างไรก็ตามถ้าหากมีคนหนึ่งยืนขึ้น คนนั้นจะได้รับประโยชน์มากจากการมองเห็นที่ชัดขึ้น โดยที่คนอื่นสูญเสียประโยชน์ไปอย่างมากด้วยเช่นกัน (โดนบัง) และสิ่งที่อาจตามมาคือสถานการณ์ได้ลุกลาม คือ ทุกๆคนก็ต่างลุกขึ้นดูคอนเสิร์ตกันหมด ซึ่งการออกแบบทดลองสนใจค้นหาถึงสัดส่วนของคนระหว่าง ผู้ที่เลือกร่วมมือทำตามกฏ (แล้วทำให้สังคมได้ประโยชน์) หรือ เลือกที่จะแหกกฏ (ตนเองได้ประโยชน์มากขึ้น และสังคมเสียรวมประโยชน์)

เพื่อออกแบบการทดลองดังกล่าว ผู้ร่วมการทดลองทั้ง 40 คน ได้จัดให้นั่งในโต๊ะที่มีฉากกั้น และให้เลือกไพ่สีดำและสีแดงโดยใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัว โดยไพ่สีดำแสดงออกถึงความร่วมมือทางสังคม ซึ่งสะท้อนด้วยการให้คะแนนที่ว่า ถ้าหากทุกคนเลือกสีดำหมด ทุกคนก็จะได้ผลคะแนนจากการเลือกที่เท่ากันไปเรื่อยๆในทุกรอบๆ ไม่มีใครมากกว่าใคร (เล่นทั้งหมด 15 รอบ) และถ้าเป็นเช่นนั้นในทุกรอบจะเกิดผลประโยชน์รวมของสังคมสูงสุด (คือแต้มรวมของผู้เล่นที่เลือกไพ่ดำและแดงทุกคน) ในทางกลับกัน ไพ่สีแดงเป็นตัวแทนของการแหกกฏ โดยสะท้อนผ่านการให้คะแนนที่ว่า การเลือกสีแดงทำให้ได้แต้มเพิ่ม 

ในขณะที่ผู้เล่นคนอื่นๆที่เลือกสีดำแต้มลดลง (ซึ่งผู้เล่นได้รับรู้ข้อมูลสัดส่วนการเลือกระหว่างไพ่สีแดงสีดำของผู้เล่นในห้อง และผลคะแนน ผ่านหน้าจอ) และผลลัพธ์จากการมีการเลือกสีดำและสีแดงปะปนกันทำให้ผลประโยชน์ของสังคมไม่สูงสุด ซึ่งการลดลงของผู้เลือกไพ่สีดำเป็นไปตามสัดส่วนของผู้ที่เลือกไพ่สีแดง ถ้าสัดส่วนคนที่เลือกสีแดงมาก คนที่เลือกไพ่สีดำแต้มยิ่งลดลง (เช่น ถ้าร้อยละ 50 เลือกสีแดง คนที่เลือกสีดำคะแนนจะเหลือ 0 หรืออาจติดลบได้ถ้าหากมีคนเลือกสีแดงเพิ่มขึ้นในรอบต่อๆไป)

ถ้าหากคาดการณ์ด้วยเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ผลที่ควรจะได้จากการทดลองนี้คือ ผู้เล่นเกมคงจะเลือกแต่ไพ่สีแดง เพราะว่ามีความจูงใจมากกว่าในการทำให้ผู้เลือกได้แต้มเพิ่ม โดยที่เขาไม่จำเป็นต้องใส่ใจผลประโยชน์รวมของสังคม 

อย่างไรก็ตาม ผลการทดลองเบื้องต้นกลับพบว่า ยังมีคนเลือกไพ่สีดำที่เป็นตัวแทนของการร่วมมือมากถึงกว่าร้อยละ 30 ซึ่งผลการทดลองนี้สื่อนัยยะสำคัญว่า มนุษย์ไม่ได้มีความเป็น สัตว์เศรษฐกิจ” (homo economicus) ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวอย่างสุดขั้น ดังที่เศรษฐศาสตร์กระแสหลักได้นำเสนอ แต่คุณสมบัติที่ยังต้องการทำความดีโดยร่วมมือกันทำตามกฏ หรือมีความเป็น เป็น “สัตว์จริยธรรม” (homo ethicus) นั่นเอง

ความเป็น สัตว์จริยธรรม จากผลการทดลองเบื้องต้นนี้ ทำให้ผมนึกถึงงานวิจัยของ Frey B. and F. Oberholzer-Gee ใน American EconomicReview ปี 1997เรื่อง “The Cost of Price Incentives: An Empirical Analysis of Motivation Crowding-Out”โดยงานวิจัยได้ไปสำรวจผู้ตอบแบบสอบถามในพื้นที่หนึ่งในสวิสแลนด์ว่า มีเห็นด้วยที่จะมีการสร้างที่รองรับของเสียหรือไม่ ผลที่ได้คือ ร้อยละ 50.8 เห็นด้วย ร้อยละ 44.9 ปฏิเสธ และ ร้อยละ 4.3 ไม่สนใจเลยว่าจะสร้างหรือไม่สร้าง เห็นได้ว่าในเบื้องต้นผลที่ยอมรับการสร้างมีมากกว่า ถึงแม้ว่าการสร้างที่รองรับของเสียอาจสร้างภาระหนักให้แก่ชุมชนในพื้นที่ 

ต่อมา รัฐบาลสวิสแลนด์ ได้สำรวจอีกครั้งในคำถามเดิม แต่เพิ่มเติมด้วยข้อเสนอเงินชดเชยให้แก่ชุมชน ผลที่ได้รับกลับผิดจากการคาดการณ์มาก กล่าวคือ ระดับการยอมรับให้มีการสร้างที่รองรับของเสียลดลงไปที่ ร้อยละ 24.6 ซึ่งการยอมรับที่ลดลงนั้นมาจากข้อเสนอเงินชดเชยนั่นเอง โดยผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าการให้เงินชดเชยแสดงถึงความ “ไม่ชอบมาพากล” ของโครงการ (การสร้างดังกล่าวมีความอันตรายมากกว่าที่เขาคิดไว้) สุดท้ายจึงทำให้ แรงจูงใจทางการเงิน (ข้อเสนอการให้เงินชดเชย) “เบียดขับ” (crowd-out) “แรงจูงใจจากภายใน” (intrinsic motivation) อันได้แก่การคิดทำเพื่อผู้อื่น และจิตสาธารณะ ผ่านการยินยอมให้สร้างที่รองรับของเสียที่ลดลงนั่นเอง

แม้งานวิจัยข้างต้นได้ทำในขนบของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก แต่มันก็มีความเชื่อมโยงอย่างสำคัญกับเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมในแง่ที่ว่า แรงจูงใจด้านเศรษฐกิจไม่ได้อยู่เหนือแรงจูงใจอื่นทั้งปวง อีกทั้งแรงจูงใจทางการเงิน (ในบางภาวะ) สามารถบ่อนทำลายความต้องการทำความดีเพื่อสังคมได้ด้วย เพราะความเป็นมนุษย์นั้น ได้เชื่อมโยงกับมิติทางจริยธรรมอย่างสำคัญ แน่นอนว่าผลจากการทดลองของ ม.ขอนแก่น ยังมีสัดส่วนของผู้ที่เลือก ร่วมมือทำดี” ไม่มากนัก ซึ่งการบุกเบิกการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลองคงทำให้เราได้สำรวจแง่มุมทางสังคมของมนุษย์ที่มีแรงจูงใจอันซับซ้อนด้วยความหวังที่นำไปสู่การออกแบบนโยบายเพื่อเพิ่มกลไกที่ทำให้สังคมเราร่วมมือกันทำดีและสามารถดึงเอาความเป็น สัตว์จริยธรรมที่มีอยู่ในตัวเราออกมามากขึ้น

-------------------------

นรชิต จิรสัทธรรม

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น