เดอะพอเพียงมาร์เก็ตติ้ง

เดอะพอเพียงมาร์เก็ตติ้ง

“ความพอเพียง” ตามคำสอนของพ่อหลวง ไม่ได้หมายถึงความประหยัด แต่หมายถึง ความอิ่มเอมจากการพึ่งตนเองและรู้จักพอ

เมื่อรู้จักพอ เราก็จะไม่อยากได้ของคนอื่น ไม่เกิดกิเลสให้อยากได้ในสิ่งของที่ไม่ได้มีประโยชน์ต่อปัจจัยการดำรงชีวิตและไม่ใช่ของๆ เรา 

เมื่อไม่อยากมี ไม่อยากได้ เกิดความพอใจ สังคมก็ไม่เกิดโทษจากการลักขโมย ผิดศีลธรรม ฆ่าฟัน แก่งแย่ง เอารัดเอาเปรียบและที่ดีกว่านั้นคือ เมื่อเรามีเพียงพอ เราย่อมไม่รู้สึกขาด นำมาซึ่งความสุขและความรู้สึกอยากแบ่งปันให้ผู้อื่น แค่นี้ล่ะค่ะ สิ่งที่พ่อหลวงของเราอยากเห็น 

สังคมที่งดงามด้วยคนที่กินอิ่มหลับสบาย ไม่ก่อโทษซึ่งกันและกัน เพราะต่างก็พอใจในสิ่งที่ตนมี ท่านถึงพยายามปลูกฝังให้คนรู้จักพึ่งตนเองและรู้จักพอ ความพอเพียง คือ การชำระกิเลส (ขึ้นชื่อว่ากิเลส แปลว่าไม่จำเป็นกับชีวิต) แน่นอนขัดกับหลักการ “มาร์เก็ตติ้ง” ทั่วไปที่มุ่งเน้นขายของ และเป็นการสร้างกิเลสให้เกิด เพราะถ้าไม่สร้างกิเลส ให้เกิดความอยาก แบรนด์ก็ขายไม่ได้ คำถามคือ เราจะนำคำสอนของพ่อหลวงมาทำมาร์เก็ตติ้งได้ไหม? คำตอบคือได้และดีด้วย

เดอะพอเพียงมาร์เก็ตติ้ง เป็นหลักการทำมาร์เก็ตติ้งด้วยหัวใจที่ไม่ต้องการเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ดีไปกว่านั้นคือต้องการมอบสิ่งดีๆให้สังคม เช่น คุณเป็นเกษตรกร ต้องการพึ่งตนเอง จึงทำสิ่งที่ตนเองถนัด เช่น ปลูกข้าว การใช้หลักพอเพียง คือ ทำให้ตัวเองกินอิ่มหลับสบาย จึงไม่ได้หวังรวย เพราะไม่ได้อยากมี อยากได้เงินของคนอื่นแบบเอารัดเอาเปรียบ จึงไม่เน้นปริมาณแต่เน้นคุณภาพ  เมื่อรู้ว่าคุณภาพจะทำให้ขายของได้ จึงปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี และเน้นขบวนการที่คงวิตามินอันสูงสุด และไม่โกหกผู้บริโภค

เมื่อขายได้เรื่อยๆ เพราะสินค้ามีคุณภาพ และลูกค้าเริ่มบอกต่อ ก็ได้ลูกค้าเพิ่มขึ้น และมีรายได้มากพอที่จะนำมาพัฒนาสินค้าให้ดียิ่งขึ้นไปอีก หรือแม้แต่สอนเกษตรกรคนอื่น เป็นการสร้างอาชีพให้สังคมต่อไป 

เมื่อมีรายได้มากพอ ก็ทำบุญแบ่งปันกันไป การที่ลูกค้าชอบสินค้าเพราะของดี ทำให้เจ้าของสินค้ามีความสุข มีความภูมิใจ ลูกค้าก็มีความสุขเพราะได้ใช้ของดี เมื่อต่างก็รู้สึกดี ย่อมไม่มีใครอยากเอาเปรียบใคร คนซื้อก็ไม่อยากต่อราคา เพราะรู้สึกว่าคุ้มค่ามากแล้ว ส่วนคนขายก็ไม่อยากโก่งราคาเช่นกัน ดีทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย สังคมเราก็แข็งแรง เป็นวงจรผลิตภัณฑ์ที่แข็งแรงมาก 

โดยไม่ต้องเสียเงินลงทุนไปสร้างภาพลักษณ์ สร้างแบรนด์อะไรเลย แค่ผลิตของดี ในราคาสมเหตุสมผลก็พอเพียงแล้ว เพราะการสร้างแบรนด์เป็นการสร้างคุณค่าเพื่อโก่งราคา หรือสร้างตัวตน ภาพลักษณ์ เพื่อก่อกิเลส บ่มเพาะความอยากมีอยากได้โดยไม่จำเป็น ซึ่งไม่ใช่หลักการของเดอะพอเพียงมาร์เก็ตติ้ง ที่เน้นผลิตของดี เน้นความจริงใจกับผู้บริโภค ไม่สร้างกิเลส เน้นของที่ใช้ตามความจำเป็น และพัฒนาคุณภาพชีวิต และสังคม

ที่สำคัญ เดอะพอเพียงมาร์เก็ตติ้ง ทันยุคทันสมัยมาก เพราะผู้บริโภคทุกวันนี้และสืบต่อไปในอนาคต จะถามหาความจริงใจ และจะใช้สินค้าที่แสดงความจริงใจ ซื่อสัตย์ ในเรื่องคุณภาพ คือทำมาเพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้ ได้กินของดีจริง แบรนด์ที่แสดงความจริงใจ ความเป็นคนดี ไม่ใช่เริ่มต้นจาก CSR อีกต่อไป เพราะมีหลายแบรนด์ที่ทำ CSR ก็ไม่ได้ช่วยเรื่องภาพลักษณ์เท่าไหร่

การทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นว่าของที่ทำมาเพื่อให้ผู้บริโภคได้ของดีจริง เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น เพราะถ้าใครไม่เริ่มทำ แบรนด์อยู่ยากแน่นอน 

ตัวอย่างหลายผลิตภัณฑ์ที่เริ่มหันมาพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เช่น บรรจุภัณฑ์ไข่ โดยเป็นทั้งกล่องวัสดุที่ปกป้องไข่ระหว่างการขนส่งและยังต้มไข่ได้ด้วยเมื่อนำน้ำมาผสม เนื่องจากมีการสร้างปฏิกิริยาทางเคมีไว้ในบรรจุภัณฑ์ อีกตัวอย่างคือ กล่องไวน์ ที่สามารถเก็บความเย็นได้ถึงสองชั่วโมง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากแป้งมันฝรั่งและกระดาษรีไซเคิลที่เป็นวัสดุของกล่องนั้นย่อยสลายได้เร็ว เป็นต้น 

จะเห็นได้ว่าคำสอนของพ่อหลวงไม่เคยล้าสมัย แถมล้ำสมัยอีกต่างหาก  

“เดอะพอเพียงมาร์เก็ตติ้ง” อาจไม่ได้ทำให้เราเป็นประเทศที่ร่ำรวยล้นฟ้า แต่จะทำให้เราเป็นประเทศที่ร่ำรวยน้ำใจ และผู้คนอยู่กันอย่างมีความสุข บนสังคมแห่งความรู้จักพอ ไม่มีการแก่งแย่ง เอาเปรียบ แล้วคุณเลือกจะอยู่สังคมแบบไหนกัน?