ประธานาธิบดีประชานิยม?

ประธานาธิบดีประชานิยม?

การหาเสียงเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐได้ทวีความเข้มข้นมากขึ้นตามลำดับ เมื่อใกล้ถึง

บทสรุปสุดท้ายของการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ที่ชาวอเมริกันทั้งหลายจะต้องเข้าคูหาเพื่อเลือกระหว่างนายโดนัล ทรัมป์ ที่ประกาศอย่างแข็งกร้าวว่าจะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง (Make America Great Again) และ นางฮิลลารี คลินตัน ผู้มากประสบการณ์ทางการเมืองที่สัญญาว่าจะทำให้ผู้คนในสังคมแข็งแกร่งไปด้วยกัน (Stronger Together)

หลายคนอดไม่ได้ที่จะหวนกลับไปคิดถึงกรณี Brexit ที่สุดท้ายแล้วการลงประชามตินั้นกลับมีผลพลิกล็อคแบบถล่มทลาย เมื่อชาวอังกฤษส่วนใหญ่ไม่สนใจคำเตือนของเหล่าผู้เชี่ยวชาญ ที่พูดถึงผลเสียของการออกจากสหภาพยุโรป เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้ จะเกิดขึ้นกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วยหรือไม่ ที่นายโดนัล ทรัมป์ (นักธุรกิจสายอนุรักษ์นิยมที่ชูนโยบายประชานิยม พร้อมทั้งโจมตีเหล่านักการเมืองกระแสหลักว่าเป็นต้นตอที่ปล่อยให้กระแสโลกาภิวัฒน์ทำร้ายผู้ด้อยโอกาสในประเทศ) ว่าจะพลิกกลับมาเป็นผู้ชนะหรือไม่

ความกังวลดังกล่าวนี้ มาจากความเชื่อว่าผลพวงของวิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อปี ค.ศ.2008 ได้ประจานความล้มเหลวของนักการเงินการธนาคารมืออาชีพ และนักการเมืองกระแสหลักในการบริหารเศรษฐกิจ จนทำให้เศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ ดังนั้น เมื่อคนชั้นกลางและชั้นล่างจำนวนมากที่ได้รับความยากลำบาก จากวิกฤตการณ์ทางการเงิน ได้มาผนวกรวมเข้ากับผู้คนอีกจำนวนมาก ที่ตกขบวนการเกลี่ยผลประโยชน์ของโลกาภิวัตน์ ที่กระจายอย่างไม่ทั่วถึง และไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐเท่าที่ควร จึงกลายเป็นกลุ่มพลังของคนด้อยโอกาส ที่รู้สึกผิดหวังกับระบบที่เป็นอยู่ และต้องการได้นักการเมืองทางเลือก ที่กล้าเข้ามาต่อกรกับระบบการเมืองแบบเดิมๆ

จึงกลายเป็นโอกาสให้นักการเมืองหน้าใหม่ อย่างนายทรัมป์และนักการเมืองฝ่ายขวาหัวรุนแรงของอีกหลายๆ ประเทศในยุโรป ก้าวขึ้นมาเรียกคะแนนเสียงนิยมให้กับตนได้อย่างเป็นกอบเป็นกำในปัจจุบัน

ในกรณีของนายทรัมป์นั้น เขาได้นำเสนอนโยบายแนวประชานิยมที่แตกต่างออกไปจากนักการเมืองกระแสหลักทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกีดกันการค้าระหว่างประเทศ ด้วยการแก้ไขข้อตกลงทางการค้าเดิม ที่ทำให้อเมริกาเสียเปรียบ การปิดกั้นแรงงานอพยพผิดกฎหมายด้วยการสร้างแนวกำแพงที่เขตชายแดนระหว่างอเมริกากับเม็กซิโก โดยให้เม็กซิโกเป็นฝ่ายรับผิดชอบค่าก่อสร้าง การสัญญาว่าจะสร้างงานใหม่เพิ่มมากขึ้นให้กับชาวอเมริกัน และการลดภาษีให้กับภาคธุรกิจเอกชน เพื่อเป็นแรงจูงใจในการขยายการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจ การผลักดันให้ประเทศพันธมิตรทั้งหลายต้องร่วมรับภาระค่าใช้จ่ายทางด้านการทหารในเขตพื้นที่ที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันในสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น

ด้วยแนวนโยบายประชานิยมแบบนี้นี่เอง ที่กลายเป็นแรงส่งสำคัญให้ นายโดนัล ทรัมป์ เปลี่ยนจากการเป็นนักการเมืองนอกสายตาในตอนต้น กลายมาเป็นผู้แทนพรรคที่สามารถเอาชนะการเลือกตั้งในระบบคอคัส และไพรมารีของพรรรครีพับลิกันที่มีผู้สมัครรวมกันมากกว่า 14 คน และต่างก็เป็นนักการเมืองที่มีประสบการณ์ทำงานการเมือง ที่มากกว่านายทรัมป์ทั้งสิ้น 

ไม่ว่าจะเป็น วุฒิสมาชิกจากรัฐเท็กซัส นายเทด ครูซ อดีตผู้ว่าการรัฐอาร์คันซอนายไมค์ ฮักกาบี อดีตวุฒิสมาชิกของเพนซิลวาเนีย นายริชาร์ด แซนโทรัม อดีตวุฒิสมาชิกจากรัฐเคนทักกี นายแรนด์ พอล อดีตผู้ว่าการรัฐนิวเจอซี่ นายคริส คริสตี นางคาร์ลี ฟีโอรีนา ผู้บริหารของบริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด อดีตผู้ว่าการรัฐเวอร์จิเนีย นายจิม กิลมัวร์ หรือแม้แต่อดีตผู้ว่าการรัฐฟลอริดา อย่างนายเจ๊บ บุซ ก็ตาม

ในฝั่งของ นางฮิลลารี คลินตัน ซึ่งเป็นนักการเมืองกระแสหลัก และเป็นตัวแทนผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครต ในตำแหน่งประธานาธิบดีเองนั้น ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องขับเคี่ยวกันอย่างหนักกับ อดีตวุฒิสมาชิกจากรัฐเวอร์มอนต์อย่างนายเบอร์นี แซนเดอร์ส ที่ชูประเด็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมอเมริกัน จนกลายเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางจากสมาชิกจำนวนมากของพรรคเดโมแครต ระหว่างการเลือกตั้งในระดับคอคัสและไพรมารี่ที่ผ่านมาเช่นกัน

แม้ล่าสุดนี้ นางฮิลลารีจะยังมีคะแนนนิยมที่นำนายทรัมป์ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นทั่วประเทศก็ตาม และที่ผ่านมาแม้นายทรัมป์จะโดนกระแสสังคมเล่นงานอย่างหนัก จากปัญหาเรื่องส่วนตัวในอดีต และการที่สังคมสงสัยเกี่ยวกับคุณสมบัติของเขาในตำแหน่งประธานาธิบดี รวมทั้งมีความเป็นไปได้สูงว่า หากแม้เขาจะชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ก็ตาม เขาก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาความล้มเหลวของระบบเดิมตามที่สัญญาไว้อยู่ดี แต่ผลการเลือกตั้งก็อาจพลิกทำให้อเมริกาได้ประธานาธิบดีแบบประชานิยมได้แม้โอกาสจะน้อยก็ตาม

แต่ที่แน่ๆ ก็คือว่า นักการเมืองอย่างนายทรัมป์แม้จะแพ้การเลือกตั้งในครั้งนี้ แต่เสียงเรียกร้องของผู้ด้อยโอกาสในสังคมที่ต้องการให้แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง ก็จะยังคงวนเวียนตามหลอกหลอนนักการเมืองกระแสหลักกันต่อไปไม่สิ้นสุด