ถ้ามีอิ๊กกี้กาย ก็อยู่สบาย 100 ปี

ถ้ามีอิ๊กกี้กาย ก็อยู่สบาย 100 ปี

ผ่านไป 1 เดือนแล้ว ที่ข้าราชการเกษียณอายุไม่ต้องตื่นแต่เช้าตรู่

มีเวลาว่างเป็นของตนเอง และไม่มีภารกิจมากมายเหมือนอดีต ซึ่งก็น่าจะทำให้ชีวิตสดชื่นมากขึ้น แต่จะรู้สึกเช่นนี้ไปอีกนานเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อม และสภาพจิตใจของแต่ละบุคคล 

เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่า ชีวิตวัยเกษียณของอดีตข้าราชการบางคน คุณภาพเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็วทั้งร่างกายและจิตใจ เพราะเมื่อวันเวลาผ่านไปเพียงไม่กี่เดือน ก็เริ่มเหงาและว้าเหว่ แต่ละวันที่มาถึง ไม่รู้จะทำอะไร รู้สึกว่าคุณค่าของตนเองหายไป

แม้จะหาอะไรมาทำเพื่อฆ่าเวลา แต่ก็อดรู้สึกไม่ได้ ว่าคืนวันมันช่างผ่านไปอย่างเชื่องช้าและคุณค่าไม่ค่อยมี บางคนหวนคิดถึงอดีต ยามที่มีอำนาจและบารมี แต่วันเช่นนั้นก็ได้ผ่านไปแล้ว เมื่อจิตใจเป็นเช่นนี้ ก็มีโอกาสกระทบสุขภาพกาย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ถ้าอาการอยู่ในขั้นรุนแรง ชีวิตหลังเกษียณก็อาจไม่ยาวนานนัก แต่ถ้าปรับการใช้ชีวิตได้และปรับจิตใจเป็น ก็คงอยู่ได้อย่างมีความสุขและยาวนาน เพราะการแพทย์และพยาบาลสมัยนี้ ดีเหลือเกิน

แล้วทำอย่างไรชีวิตหลังเกษียณ จะเป็นชีวิตที่มีคุณภาพอีกสัก 20 ปี 30 ปี หรือ 40 ปี แน่นอนว่าการที่จะอยู่ได้อีกกี่ปีคงเป็นเรื่องของ พรหมลิขิต แต่การอยู่อย่างมีคุณภาพเป็นเรื่องของ การจัดการชีวิตและจิตใจ ของเราเอง

เมื่อปี ค.ศ. 2005 นิตยสาร National Geographic ได้วิจัยสถานที่ซึ่งประชากรจำนวนมาก มีอายุยืนยาวเกิน 100 ปีและยังใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ เขาพบสถานที่ 4 แห่งที่มีลักษณะเช่นนี้ หนึ่งในนั้นคือเมือง “โอกินาว่า” ประเทศญี่ปุ่น

ทีมงานได้ลงไปศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้อาวุโสชาวโอกินาว่า และพบว่าประชากรเมืองนี้ รับประทานผักผลไม้ที่ปลูกเองเป็นหลัก บริโภคอาหารประเภทเนื้อน้อยมาก และรับประทานให้อิ่มเพียง 80% เท่านั้น คนในสังคมก็ให้เกียรติผู้สูงอายุอย่างยิ่ง ทำให้ไม่เกิดความรู้สึกว่าเป็นส่วนเกินของสังคม

ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ชาวโอกินาว่า ไม่มีและไม่รู้จักคำว่า “เกษียณ” แต่พวกเขามีคำๆ หนึ่งที่เรียกว่า “Ikigai” หรือ “อิ๊กกี้กาย” ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้อาวุโสชาวโอกินาว่าจำนวนมาก ดำรงชีพอยู่อย่างมีความสุขและยาวนานเกิน 100 ปี

“อิ๊กกี้กาย” แปลว่า “ความหมายของชีวิต” หรือ “เหตุผลที่ทำให้เราอยากตื่นขึ้นมา ในเช้าวันพรุ่งนี้”

เข้านอนคืนนี้ ไม่มีใครทราบหรอกครับว่า พรุ่งนี้เราจะมีโอกาสตื่นขึ้นมาอีกหรือไม่ บางคนอาจจะหลับยาวไปชั่วนิรันดร์เลยก็ได้ แต่นั่นเป็นเรื่องของพรหมลิขิตซึ่งเราควบคุมไม่ได้ ที่เราควบคุมได้ก็คือ วันพรุ่งนี้ ถ้าเราตื่นขึ้นมา เราต้องอยู่อย่างมีความสุข

ผู้อาวุโสชาวโอกินาว่า เข้านอนอย่างมีความหวังและตื่นมาอย่างมีความสุข และเป็นเช่นนี้ทุกวันจนอายุยาวนานถึง 100 ปี เพราะท่านทั้งหลายมี “อิ๊กกี้กาย” นั่นก็คือ อยู่อย่างมีความหวังว่า พรุ่งนี้จะตื่นขึ้นมาเพื่ออะไร

ทีมงานวิจัย ถามคุณย่าทวดอายุ 102 ปี ซึ่งอุ้มคุณเหลนอายุ 1 ขวบอยู่ในอ้อมอกว่า พรุ่งนี้คุณย่าทวดจะตื่นขึ้นมาเพื่ออะไร คุณย่าทวดยิ้มอย่างมีความสุข แล้วชี้ไปที่เจ้าตัวน้อยที่กำลังหัวเราะเริงร่าและตอบว่า “เพื่อเจ้าตัวน้อยนี่ไง อิ๊กกี้กายของฉัน”

ลองนึกภาพ คนชราวัย 102 ปี กับทารกอายุ 1 ขวบ กอดกันอย่างอบอุ่นด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขทั้งสองคน นี่แหละครับอิ๊กกี้กาย ความหมายของชีวิต ที่เป็นพลังขับเคลื่อน ให้ตื่นขึ้นมาในวันพรุ่งนี้อย่างมีความหวัง

บางคนอาจจะตื่นขึ้นมาในวันพรุ่งนี้เพื่อไปช่วยดูแลเด็กพิการ เด็กปัญญาอ่อน หรือคนชรา หรือสอนภาษาอังกฤษให้แก่เด็กด้อยโอกาส หรือเล่นเปียโนและร้องเพลงให้คนป่วยฟัง ที่หน้าห้องโอพีดี ฯลฯ นี่ก็ “อิ๊กกี้กาย” ทั้งนั้น

ข้าราชการที่เพิ่งเกษียณ รวมทั้งเอกชนที่ว่างเปล่าเพราะวางมือจากงานประจำแล้ว ควรจะค้นหาอิ๊กกี้กายของตนเองให้พบ เพื่อจะได้ตื่นขึ้นมาทุกวันอย่างมีความหมายและความหวัง
งานวิจัยของมหาวิทยาลัยโทโคฮู ศึกษาชาวญี่ปุ่น 43,000 คน เริ่มศึกษาปีแรกด้วยคำถามว่า “คุณมีอิ๊กกี้กายหรือไม่” และพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ตอบว่า “มี” นั้น หลังจากการวิจัยได้สิ้นสุดลงใน 7 ปีต่อมา คนกลุ่มนี้ยังมีชีวิตอยู่ 95% ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่ตอบว่า “ไม่มี” ยังมีชีวิตอยู่เพียง 83% เท่านั้น นี่เป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่ง ถึงความสำคัญของอิ๊กกี้กาย

เรื่องราวของ “อิ๊กกี้กาย” เป็น 1 ใน 19 บท ในหนังสือเรื่อง “คิดใหม่ ใกล้เกษียณ : คือการเดินทาง มิใช่ปลายทาง” ที่ผมเขียนขึ้นมาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ “คนที่เกษียณแล้ว” และเป็นแนวทางให้ “คนที่ยังไม่เกษียณ” รู้จักเตรียมการล่วงหน้า เพื่อใช้ชีวิตอย่างมีความสุข อีกนานหลายสิบปี

อีก 18 บทที่เหลือ ผมได้ไปเล่าให้ฟังในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมนี้ ใครที่พลาดวันนั้น ก็คงต้องเข้าเฟสบุ๊คของสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ โดยตรงเสียแล้วละครับ

แต่ถ้าไม่มีเวลาติดตาม ก็จำไว้เพียงว่าการเกษียณ เป็นช่วงเวลาที่เราจะได้อิ่มเอิบกับเรื่องราวใหม่ๆ ของชีวิต ดังนั้น จงอย่านั่งจับเจ่าเหงาหงอย...เป็นอันขาด