เกาะกระแสเศรษฐกิจ แนะทิศทางการลงทุน

เกาะกระแสเศรษฐกิจ แนะทิศทางการลงทุน

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน เหลือเวลาอีก 2 เดือนเราจะก้าวผ่านปี 2559 ซึ่งเป็นหนึ่งในปีที่ภาวะตลาดการเงินและการลงทุนค่อนข้างที่จะผันผวน

กันแล้วนะคะ ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมามีปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศ ที่สร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงิน รวมถึงความผันผวนของกระแสเงินทุน (Fund Flows) ของนักลงทุนต่างชาติ ในสินทรัพย์ทางการเงินประเภทต่างๆอย่างมากมาย ซึ่งพอจะสรุปเป็นประเด็นได้ดังนี้

 ความกังวลต่อการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)  ความกังวลต่อความแข็งแกร่งในภาคธนาคารของยุโรป ความกังวลต่อผลกระทบจากเหตุการณ์ Brexit  การแข็งค่าของสกุลเงินเยน  ความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน  และการอ่อนค่าของเงินหยวน  ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบที่ราคาปรับขึ้นลงเกือบ 100% ในระยะเวลาไม่กี่เดือน โดยราคาน้ำมันดิบ WTI ร่วงลงอยู่ต่ำสุดในรอบ 13 ปี อยู่ที่ 26.21 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงเดือน ก.พ. และสามารถกลับมาเพิ่มขึ้นอยู่เหนือ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้อีกครั้งในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

           จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ข้างต้น ทำให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ค่อนข้างมาก ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีการปรับตัวลดลงในทุกภูมิภาค โดยนับตั้งแต่ต้นปี อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล อายุ 10 ปี ของสหรัฐฯ เยอรมัน อังกฤษ และญี่ปุ่น ได้ปรับตัวลดลงประมาณ 43bps, 47bps, 72bps และ 32bps ตามลำดับ ขณะเดียวกันอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชนต่างก็ปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน โดยอัตราผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากพันธบัตรรัฐบาลเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น (Credit Spread)  ปรับตัวลดลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต เนื่องจากมีกระแสเงินทุนไหลเข้ามาลงทุน ซึ่งในปีนี้ ตราสารหนี้ภาคเอกชนประเภทอัตราผลตอบแทนสูง มีความน่าสนใจมากกว่าตราสารหนี้ภาคเอกชนที่อยู่ในอันดับน่าลงทุน สืบเนื่องมาจาก การแสวงหาอัตราผลตอบแทนส่วนเพิ่มของนักลงทุนในภาวะอัตราดอกเบี้ยและอัตราผลตอบแทนทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ (Search for Yield) นอกจากนี้ ตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่ ก็ให้ผลตอบแทนในเชิงเปรียบเทียบที่สูงกว่าตราสารหนี้ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้นับตั้งแต่ต้นปี มี Fund Inflows ไหลเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่แล้วกว่า 8 พันล้านดอลลาร์

นอกจากตลาดตราสารหนี้แล้ว ตลาดหุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ก็ยังดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศในปีนี้ ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปีมี Fund Inflows ไหลเข้าในลงทุนในหุ้นของตลาดเกิดใหม่เกือบ 7 หมื่นล้านดอลลาร์ซึ่งจะเห็นได้ว่า อัตราผลตอบแทนของตลาดหุ้นอินเดีย อินโดนีเซีย รวมถึงไทย ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5%, 21% และ 17% ตามลำดับ ในขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปและอังกฤษ ปรับตัวลดลง -6% และ -8%  ตามลำดับ ส่วนหนึ่งมาจากการที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่มากกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ประกอบกับยังมีความกังวลในภาคธนาคารของยุโรป และผลกระทบด้านลบที่อาจจะเกิดขึ้นจาก Brexit

สำหรับในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อการลงทุน เช่น ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (8 พ.ย.) การประชุมกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันโอเปกเพื่อลดปริมาณการผลิต (30 พ.ย.) การลงประชามติของอิตาลี (4 ธ.ค.) และการประชุม Fed (13-14 ธ.ค.) 

ดังนั้น นักลงทุนจึงควรเตรียมความพร้อมในการวางแผนและกำหนดกลยุทธ์การลงทุนสำหรับช่วงที่เหลือของปีนี้ และในปี 2560 ที่กำลังจะเริ่มขึ้น เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของพอร์ทการลงทุนของท่านต่อไป โดยดิฉันเห็นว่า การลงทุนในตลาดหุ้น ยังคงมีความน่าสนใจ เนื่องจาก เศรษฐกิจในหลายภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยุโรป หรือเอเชีย  ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายจากธนาคารกลางที่สำคัญหลายแห่ง เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed นั้น ยังมีแนวโน้มค่อยเป็นค่อยไป โดย Fed Dot Plot ครั้งล่าสุด สะท้อนว่า คณะกรรมการ FOMC ของ Fed คาดว่าจำนวนครั้งของการปรับขึ้น Fed fund rate มีแนวโน้มลดลงจากการคาดการณ์เดิม

ในส่วนของตราสารหนี้นั้น คาดว่า การปรับเพิ่มความชันของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve) ของสหรัฐฯ รวมถึงประเทศต่างๆทั่วโลกนั้นมีแนวโน้มน้อยกว่าการคาดการณ์เดิม การลงทุนในตราสารหนี้จึงยังคงมีความน่าสนใจ ซึ่งรวมถึงการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนประเภทอัตราผลตอบแทนสูง ในสหรัฐฯ และยุโรป ที่ยังมีส่วนของอัตราผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากส่วนชดเชยความเสี่ยง โดยนักลงทุนควรเลือก ลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทที่มีพื้นฐานดี และมีอายุเฉลี่ยคงเหลือ (Duration) ที่ค่อนข้างสั้น เพราะผลกระทบที่จะได้รับจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed จะน้อยกว่าตราสารหนี้ที่มี Duration ยาวกว่า