SMEs ก็ไปลงทุนอสังหาฯ ต่างแดนได้

SMEs ก็ไปลงทุนอสังหาฯ ต่างแดนได้

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises หรือ SMEs) คือหัวหอกในการออกไปลงทุน

อสังหาริมทรัพย์ต่างแดน เพื่อสร้างชื่อให้ประเทศไทย ยิ่งในภาวะที่ไทยอยู่ในห้วงชะลอตัวด้วยแล้ว เรายิ่งต้องลุยตลาดต่างประเทศให้มาก

ที่ผ่านๆ มา เรามักได้ยินแต่ผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินรายใหญ่ไปลงทุนต่างประเทศ การลงทุนต่างประเทศ ดูประหนึ่งเป็นสิ่งไกลเกินเอื้อมสำหรับ SMEs ในความเป็นจริง การไปลงทุนต่างประเทศนั้นเป็นโอกาสของ SMEs ต่างหาก ลองยกตัวอย่างง่ายๆ ก็เช่น ร้านอาหารไทย ก็ล้วนแต่ถือได้ว่าเป็นกิจการ SMEs ทั้งสิ้น เราจึงควรให้ SMEs บุกออกหน้าในตลาดอาเซียนของเรา

ผมเคยพบกับคุณอนันต์ อัศวโภคิน ซึ่งเป็น “จอมยุทธ์ ท่านหนึ่งในวงการพัฒนาที่ดิน ผมก็กราบเรียนท่านตามประสาที่เด็กกว่า (ท่านแก่กว่าผม 8 ปี แต่ดูๆ ไปท่านดูน่าจะอ่อนวัยกว่าผม 8 ปีด้วยซ้ำไป คงเป็นเพราะท่านอิ่มบุญจากการทำบุญ ทำดีนั่นเอง) ว่าเดี๋ยวนี้บริษัทของผมไปสำรวจวิจัยทั่วอาเซียนแล้ว ท่านก็บอกผมว่า ท่านก็เคยไปมาหมดแล้วเมื่อ 20 กว่าปีก่อน เจ๊งมาหมดแล้ว ท่านช่างพูดอย่างโอ่อ่าเปิดเผยน่านับถือยิ่งนัก

แต่ตอนนั้นคงอยู่ที่การไป “แต่งงาน” หรือมีผู้ร่วมทุนที่ไม่เหมาะ หรือไปลงทุนทำโครงการใหญ่ๆ ก่อน จึงตกอยู่ในภาวะลำบาก ด้วยเหตุนี้ ในปัจจุบันที่ผมช่วยบริษัทมหาชนรายใหญ่ๆ บุกตลาดต่างประเทศ ผมจึงมักสนับสนุนให้พวกเขาทำโครงการเล็ก ๆ เพื่อชิมลางก่อน แล้วค่อยๆ เติบโตก็ยังไม่สายแต่อย่างใด ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นใหญ่เลย ทำทีละเล็กละน้อย ค่อยๆ สะสมประสบการณ์ และค่อยๆ เก็บเกี่ยวพนักงาน ผู้ร่วมทุน คู่ค้าที่ดีๆ มาร่วมกันเติบใหญ่ น่าจะดีกว่า

แทบทุกประเทศที่ผมไป ผมเชื่อได้อย่างหนึ่งว่า ต่อแบบบ้านของพวกเขา ส่วนมากแล้ว ของเราจะดูสวยงาม เท่ สง่างามและดูทันสมัยกว่าของท้องถิ่นต่างๆ เป็นอย่างมาก ทั้งในกรุงจาการ์ตา กรุงพนมเปญ กรุงมะนิลา หรือนครโฮจิมินห์ซิตี้ ดังนั้น ผมเชื่อว่าสถาปนิกและวิศวกรไทย น่าจะมีโอกาสไปทำงานในต่างประเทศได้เป็นอย่างมาก ในประเทศไทยของเราในปี 2559 อยู่ในช่วงขาลงเมื่อเทียบกับปี 2558 จำนวนโครงการต่างๆ ก็น้อยลงกว่าแต่ก่อน เราจึงควรออกไปหาตลาดนอกประเทศบ้าง บริษัทสถาปนิกและวิศวกรเหล่านี้แหละคือ SMEs ของไทยเรานั่นเอง

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมไปกรุงฮานอย ไปลงนามทำความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างโรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย กับสถาบันจัดการศึกษาอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลเวียดนาม ที่นั่นเขาต้องการพัฒนาการศึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์เป็นอย่างมาก ที่ผ่านมาโรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.trebs.ac.th) ที่ผมเป็นผู้อำนวยการ ก็บินไปสอนถึงทั้งที่กัมพูชา เนปาล บรูไน ภูฏาน เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น ผมเชื่อว่าสถาบันการศึกษาอื่นๆ ของไทยก็สามารถขยายโอกาสการจัดการศึกษาในต่างประเทศได้เช่นกัน

ผมพบกับนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์เมียนมา เขาก็บอกว่าอยากจะเชิญสถาบันการศึกษาไปเปิดสอนอสังหาริมทรัพย์ในประเทศของเขาเหมือนกัน ผมว่าไม่เฉพาะแต่ด้านอสังหาริมทรัพย์ และไม่ใช่เฉพาะระดับมหาวิทยาลัย แม้แต่โรงเรียนช่างกล โรงเรียนพาณิชย์ดังๆ ก็สามารถไปเปิดสอนร่วมกับสถาบันในท้องถิ่นของเขาได้เช่นกัน น่าจะได้รับการต้อนรับด้วยดีทีเดียว

ในด้านการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์นั้น การพัฒนาที่ดินก็สามารถทำได้ และในปัจจุบันก็เปิดกว้าง กลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาที่ดินในอาเซียนก็คือ

  1. การหาพันธมิตรที่ดี ไม่ควรจะไปทำเอง
  2. การหาพนักงานที่ดีที่มีประสบการณ์
  3. การมีที่ปรึกษาทางกฎหมายและการเงินที่ดี แรกๆ อาจใช้บริษัทข้ามชาติรายใหญ่ก่อน แต่ภายหลังก็จะมีบริษัทท้องถิ่นมากมายให้เลือก
  4. เริ่มพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเล็กๆ ก่อน ไม่ใช่ไปเริ่มที่อาคารชุดขนาดใหญ่หรือศูนย์การค้า ถ้าเจ๊ง ขนหน้าแข้งก็ไม่ร่วง แต่ถ้าเจ๊งก็ถือว่าเป็นก้าวแรกๆ ในการพัฒนานอกประเทศ

แต่นอกจากการพัฒนาที่ดินแล้ว ยังควรไปทำกิจการซื้อหรือเซ้งห้องชุดพักอาศัยมาปล่อยเช่า การทำโรงแรมขนาดเล็ก การทำอะพาร์ตเมนต์ เป็นต้น เริ่มจากกิจการเล็ก ๆ เหล่านี้ การตั้งบริษัทก็ง่าย หลายแห่ง เช่น กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ก็ตั้งบริษัทต่างชาติมาทำธุรกิจได้ ถ้าเป็นกิจการ SMEs การมีบริษัทของเราเอง ก็จะคล่องตัวมากขึ้น การนำเงินเข้าออกต่างประเทศก็ง่ายขึ้นมากในปัจจุบัน

สิ่งหนึ่งที่เราอาจไม่รู้ก็คือ ในประเทศต่างๆ ในอาเซียนนั้น ไม่ได้มีแต่เมืองกรุงที่ลงทุนได้เช่นกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่านครอื่น ๆ หลายสิบเท่าตัว และไม่มีเมืองใดที่มีประชากรถึง 1 ล้านคนเลย แต่ในอินโดนีเซีย มี 14 เมืองที่มีประชากรเกิน 1 ล้านคน ในฟิลิปปินส์ก็มี 7 เมือง ในเวียดนาม ก็มีเมืองใหญ่ๆ อยู่หลายเมือง เมียนมา ก็เช่นกัน ถ้าเรายึดหัวหาดที่แรกได้ก่อน เช่น พอตั้งหลักในกรุงจาการ์ตาได้แล้ว เราก็จะสามารถไปนครสุราบายา นครเมดาน ฯลฯ ที่มีประชากรมากมายนั่นเอง

ผมเคยบอกคุณทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ว่าถ้า บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ของท่านสามารถไปปักหลักที่กรุงจาการ์ตาสำเร็จ และขยายตัวอย่างรวดเร็วเช่นที่ดำเนินการในกรุงเทพมหานคร ก็ไม่แน่ว่าภายในเวลา 10 ปีข้างหน้า “พฤกษาฯ อินโดฯ” อาจใหญ่กว่าในประเทศไทย เพราะที่นั่นประชากรมีขนาดถึง 3.5 เท่าของไทย แถมกำลังเติบโต ในขณะที่ไทยยังไม่รู้จะไปทางไหนกัน!?!

ผมไปเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลหลายแห่งในอาเซียน เชื่อว่า ประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา อินโดนีเซีย บรูไน หรือแม้แต่ประเทศที่พยายามเป็นคู่แข่งเราเช่นเวียดนาม เขายัง “ซูฮก” หรือยอมรับไทยเราไม่น้อย เราจึงควรใช้โอกาสนี้ในการบุกตลาดต่างประเทศ เริ่มจากอาเซียนแล้วค่อยๆ ไปอนุทวีป ไปได้ถึงอาฟริกาตอนใต้อีกด้วย การไปต่างประเทศจึงเป็นการขยายโอกาส กระจายความเสี่ยงและสร้างแบรนด์ของเราเอง

เราต้องช่วยกันสร้างชื่อให้ชาติไทยด้วยการบุกตลาดโลกนั่นเอง SMEs อสังหาฯ ก็ช่วยชาติได้ครับ