Wealth Creation:บริหารการเงินยั่งยืนด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง

Wealth Creation:บริหารการเงินยั่งยืนด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง

วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา นับเป็นวันที่เกิดความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่งของประเทศไทยและต่อปวงชนชาวไทย

 เมื่อสำนักพระราชวังได้ออกประกาศว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต ผมขอถวายความอาลัยด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ต่อเหตุการณ์สวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเชื่อว่าทุกท่านก็คงเศร้าโศกเช่นกัน แต่ประเทศไทยต้องดำรงต่อไป ตามที่นายกรัฐมนตรี กล่าวในแถลงการณ์ว่า “การแสดงความจงรักภักดีและความอาลัยที่ดีที่สุด คือเจริญรอยตามพระยุคลบาท สืบสานพระราชปณิธาน ที่จะรักษาความเจริญของบ้านเมือง”
ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์กว่า 70 ปี ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระองค์ จึงมีพระราชกรณียกิจมากมายหลายด้าน อีกทั้งพระราชทานแนวพระราชดำริ พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสแก่พสกนิกรชาวไทย เพื่อผลแห่งการมีความสุขในการดำเนินชีวิต และการยกระดับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น สมดังที่นานาอารยประเทศได้ยกย่องพระองค์ท่านว่าทรงเป็น “กษัตริย์นักพัฒนา” ผมขอน้อมนำแนวทางพระราชดำริและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเผยแพร่เพื่อให้ทุกท่านนำไปปรับใช้ในการวางแผนทางการเงิน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน สมกับพระราชปณิธานของพระองค์
“…พอเพียง มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่าพอ ก็พอเพียงนี้ก็พอแค่นั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมี มีมากอาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น…”
(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ 4 ธันวาคม 2541)
ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง จึงนำมาประยุกต์ใช้ในการวางแผนทางการเงินได้ ดังนี้
1. ความพอประมาณ คือ การตรวจสอบรายจ่ายและรายได้ ไม่ให้มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ รายจ่ายไม่มากกว่ารายได้แสดงว่าจะเหลือเก็บ เมื่อเหลือเก็บก็นำไปลงทุน เมื่อลงทุนเงินทองก็เพิ่มพูน นี้เป็นเหตุของความพอประมาณ
2. ความมีเหตุผล คือ เมื่อเราหาเงินได้ เราก็มีสิทธิจะใช้เงินนั้น บนความมีเหตุผล ไม่จำเป็นต้องตระหนี่จนเกินไป เพราะถ้าการตระหนี่นั้นทำให้ชีวิตไม่เติมเต็ม เราจะหาเงินไปเพื่ออะไร ดังนั้นก่อนที่เราจะใช้เงินที่เราหามา เราต้องดูว่าการใช้เงินนั้นมากเกินไปกว่าที่เราใช้ได้หรือไม่ และมีเหตุผลที่ตอบสนองชีวิตเราและครอบครัวเราหรือไม่ ถ้าไม่มากไป และดีกับเราและคนที่เรารัก จงใช้เงินที่หามาสร้างความสุขให้เราและครอบครัว เมื่อเรายังมีลมหายใจดีกว่า
3. ภูมิคุ้มกัน คือ การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ในหลักการเงินเราอาจจะใช้สินค้าในการโอนความเสี่ยง เช่น การใช้สินค้าเรื่องของการประกัน ไม่ว่าจะเป็นประกันภัยสินทรัพย์ ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต หรือรวมไปถึงการโอนย้ายความเสี่ยงการลงทุนในหุ้น เช่น การใช้สินค้าในตลาดอนุพันธ์ ในการลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ทำให้เรามีชีวิตที่ราบรื่นไม่ต้องกังวลกับเหตุการณ์ที่อาจจะทำให้ชีวิตเราพังพินาศ

โดยมี เงื่อนไขของการตัดสินใจในการวางแผนทางการเงินแบบพอเพียง 2 ประการ ดังนี้
1. เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับด้านการวางแผนการเงิน การลงทุน การประกัน(เพื่อใช้ลดความเสี่ยง) และความรู้เกี่ยวกับธุรกิจหรือการงานที่ทำ
2. เงื่อนไขคุณธรรม เนื่องจากความร่ำรวยและมั่งคั่ง ไม่ใช่มีแค่ด้านการเงินอย่างเดียว ยังมีความมั่งคั่งด้านความสุข ความั่งคั่งด้านความรู้ และความมั่งคั่งในการแบ่งปัน ดังนั้นถ้าเราจะต้องร่ำรวยและมั่งคั่งด้านการเงินอย่างเดียวคงไม่ใช่คำตอบของชีวิต แต่ความสุขที่แท้จริงคงมาจากการเป็นคนดีและได้แบ่งปันความมั่งคั่งร่ำรวยให้กับคนอื่น นั่นน่าจะเป็นความสุขที่มากกว่า ดั่งคำพ่อสอน