กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยกฎหมายส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่

กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยกฎหมายส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่

ประเทศไทยมีเครื่องมือสำคัญที่ใช้เพื่อดึงดูดให้มีการลงทุนภายในประเทศนั้นคือ กฎหมายส่งเสริมการลงทุน

ซึ่งมีพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 (พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนฯ) เป็นกฎหมายแม่บทหลัก โดยมาตรการที่ใช้ส่งเสริมการลงทุนแบ่งได้เป็น 2 มาตรการหลักนั้นคือ

  1. มาตรการทางภาษี กล่าวคือ เป็นมาตรการที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน อาทิเช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือการยกเว้นภาษีการนำเข้าเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต
  2. มาตรการอีกประเภทหนึ่งคือ การให้สิทธิประโยชน์ประเภทอื่นที่มิใช่สิทธิประโยชน์ทางภาษี อาทิเช่น การอนุญาตให้นักลงทุนชาวต่างชาติถือครองที่ดินได้ ทั้งนี้โดยปกติบุคคลที่มิได้มีสัญชาติไทยจะต้องห้ามมิให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน และการอนุญาตให้นำแรงงานมีฝีมือชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในเมืองไทยได้

อย่างไรก็ดี พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฯ ได้มีการใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้มีการแก้ไขให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันปรากฏให้เห็นว่าหลายประเทศได้ปรับตัวและพัฒนาให้เป็นประเทศที่น่าลงทุน อาทิเช่น พม่า ลาว เขมร เวียดนาม เป็นต้น รวมถึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของข้อตกลงระหว่างประเทศ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จึงได้ผลักดันให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฯ ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาวาระที่ 2 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนฯ ได้มีการเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ดังต่อไปนี้

  1. เพิ่มเติมการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนา โดยเดิมทีนั้นอากรขาเข้าจะยกเว้นให้เฉพาะสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเท่านั้น
  2. มีการเพิ่มเติมสิทธิให้กับผู้ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนแต่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลดังนี้
  3. ให้ผู้ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมีสิทธินำเงินที่ใช้ในการลงทุนในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมจากกำไรสุทธิไม่เกินร้อยละ 70 ของเงินลงทุนในกิจการนั้นเป็นระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี ซึ่งสิทธิประโยชน์นี้เดิมทีไม่มีอยู่ใน พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนฯ ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
  4. ให้ผู้ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมีสิทธิได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราไม่เกินกว่าร้อยละ 50 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี ซึ่งเดิมทีหากผู้ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้ว ก็จะไม่มีสิทธิในการได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลไปโดยปริยาย
  5. มีการขยายสิทธิให้ผู้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินปันผลที่ได้รับจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากเดิมที่สิทธิดังกล่าว จะมีตลอดระยะเวลาที่กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้การยกเว้นภาษีเงินปันผลดังกล่าวขยายต่อไปอีก 6 เดือน นับตั้งแต่พ้นระยะเวลาที่กิจการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อเป็นการช่วยคุ้มครองสิทธิให้กับผู้ได้รับเงินปันผลในกรณีที่ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ทันตามกำหนดเวลาที่กิจการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

นอกจากการเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์แล้ว ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนฯ ยังได้ยกเลิกเงื่อนไขทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้วัตถุดิบในประเทศตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีกับองค์การการค้าโลก ซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน เนื่องจากไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขปริมาณวัตถุดิบขั้นต่ำที่ต้องใช้ในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนแต่ก็มีข้อเสียคือ สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่อาจได้รับจากการใช้วัตถุดิบภายในประเทศก็จำเป็นต้องยกเลิกไปด้วย

เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่ามาตรการสำคัญที่หน่วยงานของรัฐได้นำมาใช้ใน ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนฯ คือ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี จึงมีประเด็นที่น่าพิจารณาว่าประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นนั้นเหมาะสมกับการสูญเสียรายได้จากภาษีหรือไม่ และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นวิธีการดึงดูดการลงทุนที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะอันที่จริงแล้วดูเหมือนกับว่าหากเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านในบริเวณใกล้เคียงเช่น กลุ่ม CLMV ซึ่งยกเว้นภาษีให้กับผู้ลงทุนในช่วง 4 ปีแรกเท่านั้น ในขณะที่ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนฯ ฉบับปัจจุบันอาจยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้สูงสุดถึง 8 ปี

แล้วพบกันใหม่โอกาสหน้า สวัสดีค่ะ

------------------------

ภูริตา ธนโชคโสภณ