ต้องสร้างผลกำไรจากนวัตกรรม

ต้องสร้างผลกำไรจากนวัตกรรม

เราเชื่อกันว่า ธุรกิจที่จะเติบโตและมีความเข้มแข็งในตลาดได้จะต้องเป็นธุรกิจที่สร้างนวัตกรรม

แต่ในข้อเท็จจริงทางธุรกิจแล้ว ธุรกิจที่เป็นเจ้าของนวัตกรรม อาจไม่ประสบความสำเร็จในตลาดก็ได้ และในหลายต่อหลายกรณี ธุรกิจที่เป็นเจ้าของนวัตกรรมนั่นแหละ ที่เป็นผู้พ่ายแพ้ ต้องออกจากตลาดไปในที่สุด

ปรากฎการณ์เช่นนี้ ทำให้นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบอร์คลีย์ คือ ศาสตราจารย์ เดวิด ทีซ (David Teece) ต้องค้นคว้าวิจัยเพื่อหาคำตอบที่แท้จริง

เดวิด ทีซ เริ่มต้นจากการตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับธุรกิจนวัตกรรมว่า จะมีผู้เล่นอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งจะได้ชื่อว่าเป็น กลุ่มมุ่งสร้างนวัตกรรม ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง จะเป็นกลุ่มที่คอยรับประโยชน์จากการเกิดนวัตกรรมที่สร้างขึ้นโดยผู้อื่น ซึ่ง เดวิด ทีซ จะเรียกง่ายๆ ว่าเป็น กลุ่มเลียนแบบ

ข้อค้นพบเบื้องต้นจากงานวิจัยนี้ก็คือ กลุ่มเลียนแบบ มักจะมีโอกาสสูงกว่าในการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากนวัตกรรมทางธุรกิจได้มากกว่า กลุ่มผู้ที่เป็นผู้สร้างนวัตกรรมเอง

แต่ผลงานวิจัยได้ชี้ให้เห็นจุดอ่อนว่า ในกรณีที่ผู้เจ้าเจ้าของนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมาใหม่จะสามารถสร้างผลตอบแทนหรือผลกำไรจากนวัตกรรมนั้นๆ ได้สูงสุด จะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการ ที่จะต้องสร้างขึ้นควบคู่ไปกับการสร้างนวัตกรรม

องค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการนี้ ได้แก่

1.มาตรการเพื่อปกป้องไม่ให้ไอเดียถูกลอกเลียนแบบได้โดยง่าย

สำหรับธุรกิจนวัตกรรม การคิดปกป้องไอเดียใหม่ควรจะต้องเกิดขึ้นควบคู่กันไปตั้งแต่เริ่มต้นคิดไอเดียขึ้นมาได้ วิธีการที่มักนำมาใช้ ได้แก่การขอคุ้มครองสิทธิ์ตามกฎหมาย ซึ่งจะขึ้นอยู่กับกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่แต่ละประเทศกำหนดไว้ และมีมาตรการบังคับที่แตกต่างกัน

กฏหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา อาจให้ทางเลือกตั้งแต่การคุ้มครองรูปแบบ การออกแบบ ตราสัญญลักษณ์ เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตร เป็นต้น

ธุรกิจบางแห่ง จะเลือกใช้วิธีการเก็บเป็นความลับทางการค้า ซึ่งไม่จำเป็นต้องเปิดเผยในรายละเอียดเหมือนการคุ้มครองรูปแบบอื่นที่จำเป็นต้องเปิดเผยรายละเอียดของข้ออ้างสิทธิที่จะต้องคุ้มครอง ซึ่งทางการจะต้องเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบ และจะไม่สามารถละเมิดสิทธิดังกล่าวได้

2.เน้นสู่การสร้างรูปแบบที่ตลาดยอมรับ

สินค้าหรือบริการที่เป็นนวัตกรรม มักจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับตลาดและผู้บริโภค ทำให้เกิดความไม่คุ้นเคยและไม่กล้าทดลองซื้อหามาใช้งาน ดังนั้น ธุรกิจนวัตกรรม จึงควรใส่ใจกับการออกแบบสินค้าหรือบริการที่จะสร้างความคุ้นเคยให้กับตลาดและผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว และเป็นที่ยอมรับของตลาด (Dominant Design)

เมื่อสินค้านวัตกรรม เปิดตัวออกสู่ตลาด ย่อมจะทำให้ผู้เล่นเดิมตื่นตัวและปรับตัวเพื่อแข่งขัน อาจมีการศึกษารายละเอียดของความแปลกใหม่ และพยายามเลียนแบบไอเดียโดยดัดแปลงเพื่อนำเสนอสินค้าที่เหนือกว่า ดังนั้น เจ้าของนวัตกรรมจึงต้องเตรียมการรองรับพฤติกรรมเหล่านี้ และรักษาเอกลักษณ์ของนวัตกรรมให้คงความเป็นผู้นำในตลาดไว้ให้ได้

การศึกษาวิจัยของ เดวิด ทีซ พบว่า การที่ธุรกิจนวัตกรรมจะประสบความสำเร็จในการสร้างรูปแบบที่ตลาดยอมรับได้ จะขึ้นอยู่กับทรัพยากรประกอบอื่นๆ ที่จะช่วยเพิ่มคุณค่าในเชิงธุรกิจที่มีอยู่ เช่น ภาพลักษณ์ของเจ้าของ ความสำเร็จทางธุรกิจในอดีต แบรนด์ เครือข่ายและช่องทางการเข้าถึงตลาด

รวมไปถึงในกรณีที่ได้รับปัจจัยหนุนจากภาครัฐ เช่น การอยู่ภายใต้โครงการที่ได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษ และการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่โดดเด่นในอุตสาหกรรม เป็นต้น

การเป็นเจ้าของรูปแบบโดดเด่นที่ตลาดยอมรับ อาจต้องใช้การลงทุนหรือทรัพยากรสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อคงความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน

3.ความสามารถในการขยายธุรกิจ

การเป็นเจ้าของรูปแบบหรือดีไซน์ที่เอาชนะใจตลาดได้อย่างเดียว ยังไม่เพียงพอต่อการเก็บเกี่ยวกำไรและผลตอบแทนจากนวัตกรรมกลับสู่เจ้าของได้มากที่สุด เจ้าของนวัตกรรมยังต้องคำนึงความพร้อมที่จะขยายธุรกิจออกไปให้มีขนาดเพียงพอที่จะรองรับการตอบสนองของตลาดได้อีกด้วย

หากไม่สามารถขยายธุรกิจออกไปได้ ความต้องการส่วนเกินของตลาดก็ย่อมจะตกไปเป็นของคู่แข่งรายอื่นๆ ที่อยู่ในตลาด

ความสามารถในการขยายธุรกิจ จะต้องครอบคลุมถึง การขยายกำลังการผลิต การขยายกำลังในการขายและการบริการ และโครงสร้างในการบริหารจัดการโดยทั่วไป เป็นต้น

ทฤษฎีการสร้างนวัตกรรมนี้สรุปว่า การไม่ได้คำนึงถึงองค์ประกอบทั้ง 3 นี้ควบคู่ไปกับการคิดสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมตั้งแต่เริ่มแรก จะทำให้เจ้าของนวัตกรรม ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากนวัตกรรมของตนเองกลับมาได้มากที่สุด

ประโยชน์ส่วนเกินก็อาจตกไปอยู่ในมือของผู้ตามหรือผู้ลอกเลียนแบบได้ในที่สุด