ประเมินโครงการอย่างครบถ้วนด้วย TIRR

ประเมินโครงการอย่างครบถ้วนด้วย TIRR

ปัจจุบัน มีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นอย่างมากมาย สำหรับประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่จะเป็นโครงการก่อสร้างโครง

สร้างพื้นฐาน แต่สำหรับประเทศพัฒนาแล้วจะเป็นโครงการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม

ในอนาคตจะมีโครงการที่เกิดจากภาคส่วนที่ไม่ใช่รัฐเพิ่มมากขึ้น หรืออาจจะเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน หรือความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมถึงความร่วมมือทั้งจากภายในประเทศและระหว่างประเทศ

การลงทุนในโครงการต่างๆ เป็นปัจจัยที่สามารถช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยให้ประเทศเกิดการพัฒนา หรือเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้ ซึ่งความมากน้อยของผลประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการต่างๆ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการประเมินผลตอบแทนและการตัดสินใจเลือกว่าจะลงทุนในโครงการใด

ดังนั้น ก่อนการตัดสินใจลงทุนในโครงการใด ควรมีการวิเคราะห์และประเมินอย่างครบถ้วนทุกองค์ประกอบและทุกมิติที่เกี่ยวข้อง รวมถึงให้ความสำคัญกับมูลค่าของผลประโยชน์สุทธิที่ตกอยู่กับสังคมโดยรวม ภายใต้การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักเศรษฐศาสตร์มากกว่าการให้ความสำคัญกับมูลค่าผลประโยชน์สุทธิที่ตกอยู่กับผู้เป็นเจ้าของโครงการ

โดยทั่วไปแล้ว การประเมินผลตอบแทนจากการลงทุนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การประเมินอัตราผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Internal Rate of Return: EIRR) และอัตราผลตอบแทนการลงทุนทางการเงิน (Financial Internal Rate of Return: FIRR) ซึ่งผมมองว่ายังไม่เพียงพอต่อการประเมินผลตอบแทนและต้นทุนของโครงการ

ผมจึงได้สร้างแนวคิดในการประเมินโครงการเพื่อการลงทุน ที่เรียกว่า อัตราผลตอบแทนภายในทั้งหมดจากการลงทุน หรือ Total Internal Rate of Return (TIRR)”

อัตราผลตอบแทนรวมภายในจากการลงทุน (TIRR) ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ อัตราผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) + อัตราผลตอบแทนการลงทุนทางสังคม หรือ Social Internal Rate of Return (SIRR) + อัตราผลตอบแทนการลงทุนทางการเมือง หรือ Political Internal Rate of Return (PIRR) ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนการลงทุนทางการเงิน (FIRR) ผมให้รวมเป็นส่วนหนึ่งของ EIRR

อัตราผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR)

เนื่องด้วยอัตราผลตอบแทนภายในจากการลงทุน (Internal Rate of Return: IRR) คือ อัตราส่วนลดที่ทำให้มูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์เท่ากับมูลค่าปัจจุบันของค่าใช้จ่าย หรือเป็นอัตราความสามารถของเงินทุนที่ทำให้ผลประโยชน์คุ้มกับค่าใช้จ่ายเมื่อคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน

ลักษณะทั่วไปของอัตราผลตอบแทนจะเป็นการคำนวณต้นทุนและประโยชน์ที่เป็นตัวเงิน (FIRR) และ EIRR คือ อัตราผลตอบแทนที่นับรวมประโยชน์และต้นทุนที่ไม่ใช่ตัวเงิน (Non – Cash) ที่เกิดขึ้นจากโครงการ โดยจะประเมินปัจจัยเหล่านั้นเป็นมูลค่า เพื่อสามารถคำนวณออกมาได้

เพราะฉะนั้น EIRR ในความหมายของผม จึงเป็นอัตราผลตอบแทนที่คำนวณต้นทุนและประโยชน์ทั้งที่เป็นตัวเงินและที่ไม่ใช่ตัวเงิน เป็นความสนใจที่จะประเมินระบบเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย ไม่ได้สนใจเฉพาะโครงการที่กำลังพิจารณาเท่านั้น

ดังตัวอย่าง การทำโครงการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง นอกจากจะต้องคำนึงถึงปัจจัยที่เป็นตัวเงินแล้ว ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยที่ไม่ใช่ตัวเงินด้วย เช่น ด้านผลประโยชน์ ได้แก่ การประหยัดเวลาในการเดินทางมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของมูลค่าที่ดินตลอดเส้นทาง การจ้างงานเพิ่มมากขึ้น หรือด้านต้นทุน ได้แก่ การชดเชยค่าเวนคืนที่ดิน การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิม การจราจรติดขัดในช่วงระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง เป็นต้น

อัตราผลตอบแทนการลงทุนทางสังคม (SIRR)

อัตราผลตอบแทนการลงทุนทางสังคม คือ การนำปัจจัยทางสังคมในด้านอื่นๆ ที่บางครั้งไม่ได้อยู่ใน EIRR หรือไม่สามารถจำแนกให้อยู่ในทางเศรษฐศาสตร์ได้ หรือเป็นปัจจัยทางสังคมอย่างเข้มข้น เข้ามาคำนวณในการหาอัตราผลตอบแทนภายใน เพื่อประเมินโครงการก่อนตัดสินใจลงทุน

เช่น การลงทุนในโครงการใดๆ หากนำมาซึ่งความผูกพันในชุมชนเพิ่มขึ้นหรือคนมีความไว้วางใจกันมากขึ้น หรือทำให้เกิดทุนทางสังคมในมิติอื่นๆ เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือกันในชุมชน ความเกื้อกูล หรือทำให้ความเป็นสถาบันของชุมชนเข้มแข็งขึ้น ก็จะทำให้เกิดผลดีต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของสังคมได้

ทั้งนี้ทุนทางสังคมนับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลทางเศรษฐกิจ ด้วยการเป็นตัวกลางในการเข้าถึงปัจจัยการผลิตหรือทุนอื่นๆ ช่วยให้เกิดการรวมตัวกันเพื่อจัดสรรทรัพยากรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น ทรัพยากรมนุษย์ ทรัพยากรทางธรรมชาติ รวมถึงข้อมูลข่าวสาร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ทุนทางสังคมยังช่วยให้เกิดการลดต้นทุนทางธุรกรรมและการตรวจสอบดูแล จนสามารถสร้างผลตอบแทนที่เปรียบเสมือนกำไรจากการลงทุนได้อย่างเป็นรูปธรรม

อัตราผลตอบแทนการลงทุนทางการเมือง (PIRR)

ปัจจัยทางการเมือง เป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างมาก โดยเฉพาะการนำนโยบายไปปฏิบัติ ซึ่งมักจะขาดการพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างผลประโยชน์ของนโยบายกับต้นทุนในการดำเนินนโยบายเหล่านั้น รวมถึงต้นทุนในการบังคับใช้กฎระเบียบ กฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ อันนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของต้นทุนในโครงการซึ่งต้องใช้เวลาพิจารณาให้ลึกซึ้งเพื่อวัดได้ชัดเจนต่อไป

ด้วยเหตุนี้ อัตราผลตอบแทนการลงทุนทางการเมืองจึงเป็นองค์ประกอบที่ไม่อาจละเลยได้ในการประเมินโครงการต่างๆ

ผมมองว่า หลายครั้งการประเมินโครงการต่างๆ ก่อนการลงทุน มักไม่ได้รวมการประเมินทางด้านสังคมและด้านการเมืองเข้าไปด้วย ทำให้การประเมินโครงการไม่ครบถ้วนและไม่สะท้อนสภาพจริงของผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในการลงทุนในโครงการใดโครงการหนึ่ง จนนำไปสู่การประเมินและตัดสินใจลงทุนผิดพลาดในที่สุด

ความครบถ้วนในการประเมินโครงการก่อนการตัดสินใจลงทุน ทั้งผลประโยชน์ ผลเสีย ความคุ้มค่าต่อมิติทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองจึงสำคัญยิ่ง เพราะจะทำให้การลงทุนโครงการต่างๆ เป็นไปอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพในการดำเนินโครงการ