Fiscal policy is the next best thing!

 Fiscal policy is the next best thing!

นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (Accommodative Monetary Policy) ที่ธนาคารกลางขนาดใหญ่ทั่วโลกใช้มาตั้งแต่วิกฤตปี 2551

 เริ่มที่สหรัฐฯ ตามด้วยญี่ปุ่นและยุโรป ล่าสุดธนาคารกลางอังกฤษลดดอกเบี้ยและเพิ่มการซื้อพันธบัตรเพื่อพยุงเศรษฐกิจหลังBrexit

ตลาดชินกับการหล่อเลี้ยงด้วยสภาพคล่องและตระหนกทุกครั้งที่มีสัญญาณลดการอัดฉีด ขณะเดียวกันนักเศรษฐศาสตร์ก็ตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพที่ถดถอยลงของนโยบายการเงิน เพราะใช้มานาน หลายวิธี หลากเครื่องมือ แนวโน้มเศรษฐกิจยังชี้ถึงความซบเซาเหมือนเป็นโรคเรื้อรังหรือดื้อยาธนาคารกลางกำลังถูกต้อนสู่ทางตันด้วยเครื่องมือที่จำกัดลง ทางออกถัดไปที่หลายๆ ประเทศกำลังเล็งไว้ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจคือ “นโยบายการคลัง (Fiscal Policy)”

ที่จริง การใช้นโยบายการคลังใส่เงินเข้าระบบจะเข้าถึงประชาชนในวงกว้างมากกว่าขอบเขตของนโยบายการเงิน เพราะการให้ธนาคารเป็นทางผ่านไปปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ แม้จะจูงใจให้บริษัทและประชาชนกู้ยืมไม่ว่าจะกู้ไปลงทุนหรือกู้ไปใช้แต่ประสิทธิภาพเทียบไม่ได้เลยกับการที่รัฐบาลใช้งบประมาณลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สร้างถนนรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ หรือสนามบิน ซึ่งเป็นการอัดฉีดเงินใหม่เข้าภาคธุรกิจโดยตรงและเร็วกว่าหลายเท่าคำถามในใจของหลายคนคือ ถ้าดีกว่า ทำไมหลายๆ ประเทศถึงไม่ใช้นโยบายการคลังแต่แรก....

ลองนึกย้อนไปปี 2551 ที่โลกมีปัญหาเศรษฐกิจกระทบเป็นโดมิโน หลายประเทศเผชิญกับปัญหาการค้าและงบประมาณขาดดุล แปลง่ายๆ คือวันนั้นรัฐบาลไม่มีเงินมาใช้จ่ายได้มากมาย บวกกับระดับหนี้ของรัฐเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งสร้างแรงกดดันต่อสภาพคล่องของเงินทุนในประเทศ

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันฐานะการเงินของหลายประเทศดูดีขึ้น หนี้ภาครัฐฯมีแนวโน้มชะลอลง ขณะที่ดุลการค้าที่เคยขาดดุลสูงๆ ก็ลดลงทำให้หลายประเทศสามารถใช้นโยบายการคลังที่เข้มข้นขึ้นได้โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคทรุดโทรมจากอายุการใช้งานอันยาวนานตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นวางแผนจะใช้วงเงิน 6.2 ล้านล้านเยน ปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนรองรับนักท่องเที่ยวรวมถึงรื้อฟื้นโครงการรถไฟพลังงานแม่เหล็กในเส้นทางนาโกย่า-โอซาก้า

แม้สหรัฐฯเองที่เศรษฐกิจดูจะอยู่ในขั้นฟื้นตัวดีที่สุดก็มีแนวโน้มจะเพิ่มความเข้มข้นของการเบิกจ่ายภาครัฐฯ ไม่ว่านางฮิลลารี คลินตัน หรือนายโดนัลด์ทรัมป์จะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่เห็นได้จากนโยบายหาเสียงโดยนางฮิลลารีตั้งเป้าโครงการก่อสร้างพื้นฐานมูลค่าสูงถึง 2.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 ส่วนนายโดนัลด์ก็มีโครงการสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโกครอบคลุมระยะทางถึง 1,000 ไมล์ขณะที่ประเทศเกิดใหม่ นอกจากมีระบบสาธารณูปโภคที่ต้องพัฒนาแล้ว การลงทุนของรัฐฯในด้านอื่นๆ ก็จำเป็นเช่นเดียวกัน อย่างการศึกษาและสาธารณสุข เป็นต้น

ด้วยสภาพแวดล้อมที่นโยบายการเงินเริ่มเข้าสู่ทางตันและความต้องการสร้างผลงานหลังเลือกตั้ง การลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานก็ดูสมเหตุสมผลและน่าดึงดูดใจไม่น้อยด้านผลตอบแทนก็น่าสนใจไม่แพ้กันเพราะตั้งแต่ต้นปีดัชนีราคาหุ้นกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกซึ่งจัดทำโดย S&P สร้างผลตอบแทนไปแล้ว 14%