พ่อหลวงนักเศรษฐศาสตร์

พ่อหลวงนักเศรษฐศาสตร์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “พ่อหลวง” ของชาวไทยทรงเป็นเสาหลักของบ้านเมือง พระองค์ท่านมีบทบาท

สำคัญในการพัฒนาและสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนาผู้ทรงเข้าพระทัยอย่างลึกซึ้งว่าหัวใจสำคัญของการพัฒนา ไม่ใช่การปั่นเม็ดเงิน แต่เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตควบคู่ไปกับการสร้างความสมดุลระหว่างคนและสภาพแวดล้อม

โครงการต่าง ๆ ซึ่งพระองค์ทรงริเริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนอย่างเป็นองค์รวม ไม่แปลกแยก ทุกโครงการล้วนแล้วแต่มุ่งแก้ปัญหาให้กับสังคมแบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น ไม่ทำลายทุนทางสังคมของชุมชนและพื้นที่

ผมได้ยินคนพูดถึงพระองค์ท่านในฐานะนักเศรษฐศาสตร์อยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งโดยความเห็นส่วนตัวแล้ว ความเป็นนักเศรษฐศาสตร์ของพระองค์นั้นกว้างขวางและลึกซึ้งกว่านั้นมากนัก

ก่อนจะบอกว่าทำไมผมจึงเชื่อเช่นนี้ ขอทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า นักเศรษฐศาสตร์ไม่จำเป็นต้องมีใบปริญญามาการันตี คนที่รู้จักคิดรู้จักตัดสินใจอย่างมีเหตุผล รู้จักชั่งน้ำหนักทางเลือกต่างๆ เปรียบเทียบผลได้ผลเสีย ก็ได้ชื่อว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์แล้ว

อย่างไรก็ตาม ระดับความเป็นนักเศรษฐศาสตร์ในแต่ละคนมีไม่เท่ากัน ใครจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์แบบไหนก็วัดจากขอบเขตของผลได้ผลเสียที่เอามาใช้ในการพิจารณาตัดสินใจนี่แหละ

หากเราสนใจเฉพาะเรื่องของตัวเอง จะทำอะไรก็คิดอยู่เสมอว่าผลประโยชน์ของเราคนเดียวหรือเฉพาะพวกพ้องของเราว่าได้คุ้มกับเสียหรือเปล่า ก็จัดว่าเราเป็นนักเศรษฐศาสตร์ฉายเดี่ยวถ้าไม่มีคุณธรรมจริยธรรมมาคอยกำกับก็ นักเศรษฐศาสตร์แบบนี้ มีโอกาสจะกลายเป็นคนเอารัดเอาเปรียบคนอื่นได้

ผมเคยเห็นสติ๊กเกอร์ท้ายรถหลายคันเขียนไว้ว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป ก็เลยหมดแรงใจจะทำดี” คนที่คิดแบบนี้คือคนที่คิดจะทำดีเพื่อตัวเอง เป็นนักเศรษฐศาสตร์ได้แค่ระดับฉายเดี่ยว เพราะหวังว่าทำความดีแล้วไปแล้ว ประโยชน์ของความดีต้องตกกับตัวเองด้วย

นักเศรษฐศาสตร์ระดับดีขึ้นมาหน่อยเรียกว่านักเศรษฐศาสตร์จรรโลงสังคม คนประเภทนี้นอกจากจะคิดถึงผลกระทบของการกระทำของตัวเองว่าจะทำให้คนอื่นได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์มากน้อยแค่ไหนแล้ว เขายังรู้จักเอาประโยชน์ของตัวเองกับประโยชน์ของคนอื่นมาชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบกับต้นทุนซึ่งจะเกิดขึ้นกับตัวเองและผู้ที่เกี่ยวข้อง คนประเภทนี้ถ้ามีเยอะๆ จะช่วยให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก ไม่ค่อยมีการเอารัดเอาเปรียบกัน

นักเศรษฐศาสตร์ระดับสูงสุดเรียกว่า นักเศรษฐศาสตร์เพื่อมนุษยชาติ คนที่จะไปถึงระดับนี้ได้นั้นจะต้องประกอบไปด้วยคุณสมบัติสำคัญสามประการดังนี้

ประการแรก ต้องเห็นคุณค่าของความเป็นคน พร้อมจะเสียสละความสุขความสบายส่วนตัวเพื่อให้คนอื่นได้อยู่อย่างมีความสุข เรียกว่า ประโยชน์ของคนอื่นมีความหมายมากกว่าประโยชน์ของตนเอง

ประการที่สอง  รู้จักวางตัวเป็นกลางไม่คิดอะไรโดยใช้ความรู้สึกของตนเองมาเป็นบรรทัดฐาน คุณสมบัติข้อนี้จะเกิดขึ้นกับคนซึ่งเป็นคนเต็มคนอยู่แล้ว ไม่ต้องการแสวงหาอะไรให้กับตัวเองอีก

ประการที่สาม  ต้องเป็นผู้มีโอกาสหรือรู้จักสร้างโอกาสเพื่อให้ตนเองได้รับใช้คนหมู่มาก มีสติปัญญา รู้จักใช้ทรัพยากรเพื่อให้สิ่งที่ต้องการสำเร็จลุล่วงไปได้ มีความมานะพยายาม ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค เป็นคนพร้อมจะยืนหยัดต่อสู้กับอุปสรรคนานัปการ เพราะเขาเชื่อว่า ผลเสียจากการยอมแพ้นั้นมันสูงมาก หากยกธงขาวเสียแล้ว สังคมจะขาดทุน

คุณสมบัติข้อแรกและข้อสองนั้นพระองค์ท่านทรงมีอยู่แล้ว หากใครได้เคยดูสารคดีพระราชกรณียกิจของพระองค์จะทราบดีกว่าพระองค์ท่านทรงทำงานเพื่อความก้าวหน้าของประเทศโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ทรงรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นอยู่เสมอ แม้แต่ชาวบ้านร้านตลาดธรรมดาท่านก็ยังทรงตรัสถามเพื่อจะได้เรียนรู้ ยิ่งเรียนมากก็ยิ่งรู้มาก ก็ยิ่งเข้าในเรื่องราวต่าง ๆ ได้ถ่องแท้ขึ้นด้วยเหตุนี้เอง ในหลวงของเราจึงทรงเป็นบรมครูที่ยิ่งใหญ่

คุณสมบัติข้อที่สามพระองค์ทรงมีความรู้แตกฉานในหลายสาขาวิชา สามารถนำเอาองค์ความรู้เหล่านั้นมาบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาได้ ไม่ทรงย่อท้อต่ออุปสรรคต่างๆ ทั้งที่พระองค์ทรงมีทางเลือก พระองค์ไม่จำเป็นต้องทรงลงมาลำบากตรากตรำเหน็ดเหนื่อยพระวรกาย แต่พระองค์ก็ทรงทำ สะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ให้ความสำคัญกับพวกเราปวงชนชาวไทยมากกว่าความสุขส่วนพระองค์ ความสุขของส่วนรวมคือสิ่งสำคัญที่สุด

ในประวัติศาสตร์โลก คนที่มีคุณสมบัติครบทั้งสามข้อนี้มีน้อยจนแทบจะนับนิ้วได้ พระองค์ก็เป็นหนึ่งในนั้น พวกเราโชคดีมาที่ได้เกิดมาใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระองค์ แม้เราอาจไม่มีโอกาสได้เป็นนักเศรษฐศาสตร์ระดับสูงสุดเหมือนพระองค์ท่าน แต่อย่างน้อยการก้าวตามรอยเท้าของพ่อหลวงจะเลื่อนขั้นให้เราพ้นจากนักเศรษฐศาสตร์ฉายเดี่ยวมาเป็นนักเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม แค่นี้บ้านเมืองเราก็น่าอยู่ขึ้นเป็นกองแล้วครับ