ความผันผวนยังปกคลุม

ความผันผวนยังปกคลุม

ตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงเดือนก.ย.ต่อเนื่องถึงเดือนต.ค. ได้รับผลกระทบจากหลายเหตุการณ์

 ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ โดยสถานการณ์ของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่ ส่งผลกระทบต่อตลาดโลก ได้แก่ การเพิ่มการคาดการณ์ความเป็นไปได้มากขึ้นที่ธนาคารกลางสหรัฐ จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมที่เหลือของปีนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์ในตลาดต่างตีความจากการแสดงความคิดเห็นของกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ที่มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ในการคงดอกเบี้ยของการประชุมเดือนก.ย. การให้สัมภาษณ์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐ และรายงานการประชุมประจำเดือนก.ย. เป็นต้นทำให้ 10-Year US Treasury Yield ปรับขึ้นมาต่อเนื่องจนแตะระดับ 1.80% ในช่วงกลางเดือนตุลาคม จากระดับ 1.57% ในช่วงปลายเดือนส.ค. 

ทางด้านประเทศในกลุ่มยูโรโซนทั้งธนาคารกลางประเทศอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต่างไม่ได้มีมาตรการใหม่ ๆ ออกมา ทำให้ตลาดกังวลว่า ECB อาจจะปล่อยให้โครงการซื้อพันธบัตร (QE) จบลงในมี.ค.ปีหน้า 

นอกจากนี้ ยังมีข่าวความกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของธนาคารดอยซ์แบงก์ ที่ราคาหุ้นได้รับแรงกดดันมาก่อนหน้านี้ และล่าสุดกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐยังสั่งปรับเป็นเงินมูลค่าสูงถึง 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ในคดีการสร้างความเข้าใจผิดต่อลูกค้าในการขายตราสารหนี้ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนอง (Mortgage-backed Security)

ทางด้านสถานการณ์ตลาดหุ้นไทย ในช่วงเวลาเดียวกัน ก็มีความผันผวนมากจากหลายเหตุการณ์ ทั้งข่าวความกังวลภายในประเทศที่ทำให้มีแรงขายในลักษณะ Panic Sell จากนักลงทุนกลุ่มสถาบันภายในประเทศเป็นหลัก 

ท่ามกลางข่าวที่เป็นปัจจัยบวกต่อตลาดบ้าง เช่น Fund Flow ที่เข้ามา Rebalance FTSE Index จากการปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น, ความพยายามของ OPEC ในการเจรจาเรื่องกำลังการผลิตเพื่อควบคุมราคาน้ำมันไม่ให้ต่ำไปกว่านี้, การเข้าสู่ช่วงการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาสที่ 3 ซึ่งมีแนวโน้มว่าส่วนใหญ่น่าจะมีการเติบโตที่ดีขึ้น เป็นต้นเหตุการณ์ของตลาดหุ้นไทยดังกล่าว ก่อนการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทยในการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ 13 ต.ค. 2559 ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าแตะระดับ 35.89 บาทต่อดอลลาร์ จากระดับประมาณ 34.6 บาทต่อดอลลาร์ในเดือนส.ค. และ Thailand 5-Yr CDS ขึ้นมาแตะระดับ 105 bpsในช่วงกลางเดือนต.ค. จากที่เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 79-88 bps ในเดือนก่อนหน้า 

ทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย ก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวมาข้างต้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรค่อนข้างผันผวนในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนต.ค. นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับตัวขึ้นมา 2-6 bps 

ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับตัวเพิ่มขึ้นมา 3-7 bps ก่อนที่จะค่อยๆ ปรับตัวลดลงหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว มุมมองของตลาดตราสารหนี้ไทยหลังจากนี้ คาดว่าจะเคลื่อนไหวตามกระแส Global Bond Yield เป็นหลัก เนื่องจากหลายภาคส่วนต่างมีมุมมองในเรื่องเศรษฐกิจภายในที่ตรงกันว่าน่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัว ยังไม่มีแรงกดดันจากเงินเฟ้อ ปริมาณพันธบัตรที่ออกใหม่อยู่ในระดับที่ตรงตามความต้องการของนักลงทุน และการคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงนโยบายการเงินต่อไปอีกซักระยะหนึ่ง