Trump VS Clinton (3): สี่ปีข้างหน้าภายใต้ประธานาธิบดีคนใหม่

Trump VS Clinton (3): สี่ปีข้างหน้าภายใต้ประธานาธิบดีคนใหม่

หากหนึ่งสัปดาห์เป็นระยะเวลาที่ยาวในการเมืองดังที่อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษท่านหนึ่งเคยกล่าวแล้วนั้น

สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าในหนึ่งเดือน ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ในปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา นางฮิลารี่ คลินตัน ผู้สมัครชิงตำแหน่งจากพรรคดีโมแครตดูเหมือนเริ่มจะเพลี้ยงพล้ำ นายโดนัลด์ ทรัมพ์ จากรีพับบริกกัน ไม่ว่าจะจากประเด็นด้านสุขภาพและความไม่น่าเชื่อถือ ขณะที่ทรัมพ์ซึ่งดึงลูกชายและลูกสาวช่วยหาเสียงด้วยนั้นกำลังได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

แต่สถานการณ์ก็เปลี่ยนไปหลังการโต้วาทีของทั้งสองผู้สมัครทั้งสามครั้ง ที่เป็นการสาดโคลนเข้าหากัน และขุดเรื่องในอดีตที่ไม่สำคัญมาพูดเป็นหลัก แทนที่จะหาเสียงในประเด็นนโยบาย และสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะประเด็นที่สำคัญและควรที่จะเป็นประเด็นที่ชี้เป็นชี้ตายของการเลือกตั้งครั้งนี้คือกระแสโลกาภิวัฒน์

ดังที่ทราบกันดีว่า ในปัจจุบัน กระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์รุนแรงมาก โดยเฉพาะในประเทศเจริญแล้ว อันเป็นผลจาก (1) ประชาชนที่ตกงานเพราะการค้าเสรีทำให้ผู้ผลิตย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ต้นทุนถูกกว่า (2) จากแรงงานต่างชาติที่เข้ามาแย่งงานคนในประเทศ และ (3) จากบริษัทขนาดใหญ่ที่มีอำนาจและเส้นสายในการต่อรองกับทางการสูง ( Lobby) สูงจนทำให้บริษัทรวมถึงผู้ประกอบการขนาดเล็กต้องล้มตายไป

กระแสที่รุนแรงเช่นนี้นำมาสู่การประท้วงทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกา ทั้ง Occupy Wall Street ในปี 2554 กระแสต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดในยุโรปในปี 2555-58 รวมถึงประชามติ Brexit ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รวมถึงทำให้นักการเมืองที่หาเสียงด้วยนโยบายต่อต้านโลกาภิวัฒน์แบบสุดโต่งได้คะแนนนิยมสูงขึ้น

ทั้งทรัมพ์และนายเบอร์นี่ แซนเดอร์ส อดีตคู่แข่งของนางฮิลารี่ในศึกการเลือกตั้งข้างต้น (Primary Election) และแม้แต่นางฮิลารี่เอง ก็หันกลับมาคุมเข้มในประเด็นที่เคยเปิดเสรีหลายประเด็น เช่น ไม่สนับสนุน TPP คุมเข้มกฎระเบียบภาคเอกชนมากขึ้น รวมถึงมีนโยบายขึ้นภาษีคนรวย เป็นต้น

ฉะนั้น คำถามที่น่าสนใจ และควรจะอยู่ในการโต้วาทีคือ กระแสโลกาภิวัตน์เลวร้ายจริงหรือ รวมถึงคำถามที่สำคัญคือ อะไรจะเกิดขึ้นใน 4 ปีข้างหน้าหากหนึ่งในผู้สมัครทั้งสองได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ

หากกล่าวโดยย่อ ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นแล้วนั้น กระแสโลกาภิวัฒน์อันได้แก่การเปิดเสรีด้านการค้าและบริการ ด้านแรงงาน ด้านเงินทุน รวมถึงด้านเทคโนโลยีนั้นย่อมเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วที่จะสามารถนำเข้าสินค้า บริการ รวมถึงปัจจัยการผลิตต่างๆ ด้วยราคาที่ถูกลง ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาก็จะได้รับเงินทุน รวมถึงเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง และสามารถพัฒนาขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

เห็นได้จากการผลักดันการค้าเสรีในรอบ 70 ปีที่ผ่านมา ทำให้สัดส่วนการส่งออกโลกเพิ่มขึ้นจาก 8% ต่อ GDP โลกมาเป็นประมาณ 20% ในปัจจุบัน ขณะที่กระแสการลงทุนโดยตรงที่เข้ามาทำให้ประเทศที่เป็นผู้รับเงินทุนและเทคโนโลยีเติบโตอย่างก้าวกระโดด แรงงานที่อพยพไปในประเทศเจริญแล้วทำให้ต้นทุนการผลิตในประเทศเหล่านั้นถูกลง และทำให้ผู้คนมีกำลังซื้อมากขึ้น

แต่กระแสโลกาภิวัฒน์ก็มีด้านมืดเช่นกัน เพราะการเปิดเสรีการค้าทำให้แรงงานในสหรัฐกว่า 6 ล้านคนตกงาน โดยกว่า 1.2 ล้านคนเป็นผลจากการที่จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO ทำให้ธุรกิจย้ายฐานการผลิตไปยังจีนและเอเชีย ขณะที่แรงงานต่างชาติที่เข้ามาแย่งงานของชาวอังกฤษโดยเฉพาะในบางเมือง เช่น เบอร์มิงแฮม และเมืองสโต๊ค ก็มีส่วนทำให้ค่าจ้างในเมืองดังกล่าวลดลง และทำให้สวัสดิการของชาวเมืองแย่ลง ในขณะเดียวกัน การที่บริษัทขนาดยักษ์ระดับโลก เช่น บริษัท Apple หันไปตั้งบริษัทบังหน้าที่ไม่ได้มีการประกอบธุรกิจจริง (หรือที่เรียกว่า Mailbox Company) ในประเทศที่มีภาษีนิติบุคคลในอัตราต่ำเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี เช่นที่ไอร์แลนด์ ก็มีส่วนทำให้รัฐบาลสหรัฐได้รับเงินภาษีน้อยลง ขณะที่ไอร์แลนด์เองก็แทบไม่ได้ประโยชน์จาก Mailbox Company ดังกล่าว

เมื่อกระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์มีมากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นในสี่ปีข้างหน้าก็คงจะแตกต่างจากปัจจุบัน ไม่ว่าทรัมพ์หรือคลินตันจะได้เป็นประธานาธิบดีก็ตาม โดยผู้เขียนเห็นว่ามีประเด็นที่ต้องจับตา 5 ประเด็นดังนี้

หนึ่ง ข้อตกลงทางการค้าต่าง ๆ อาจถูกยกเลิกหรือพักการเจรจาไว้ก่อน โดยเฉพาะหากทรัมพ์ได้เป็นประธานาธิบดีแล้วนั้น มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐอาจจะขอออกจากการเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกและยกเลิกเขตการค้าเสรี NAFTA ในขณะที่คลินตันอาจชะลอการนำประเด็น TPP เข้าเจรจากับสภาคองเกรสอย่างน้อยสี่ปี ทำให้เป็นไปได้ที่การค้าโลกจะยิ่งลดลง

สอง กฎระเบียบของภาคเอกชนสหรัฐ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินจะถูกคุมเข้มขึ้น โดยเฉพาะหากคลินตันได้รับตำแหน่ง น่าจะคุมเข้มด้านช่องโหว่ภาษีมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การลงทุนโดยตรง (FDI) จากสหรัฐไปยังประเทศกำลังพัฒนายิ่งลดลง

สาม ผู้คนว่างงานน่าจะกลับมามากขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่ไม่จบระดับอุดมศึกษา เนื่องจากกระแสปิดประเทศจะทำให้เศรษฐกิจซึมเซาลง ขณะที่เทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานมากเท่าในอดีต สิ่งเหล่านี้เป็นผลลบต่อภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก และจะยิ่งทำให้กระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์มีมากขึ้น

สี่ บริษัทขนาดใหญ่ โดยเฉพาะที่เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น Google, Facebook, Apple จะมีอำนาจมากขึ้น เพราะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีที่สามารถทำการวิเคราะห์แบบ Big Data Analytic ได้ รวมถึงมีพลังในการ Lobby ภาครัฐมากขึ้น

และสุดท้าย กระแสการแตกแยกระหว่างพรรค (Partisanship) จะมีมากขึ้น เนื่องจากผู้สมัครทั้งสองหาเสียงในลักษณะสาดโคลน จนทำให้โอกาสที่จะสภาคองเกรสจะรอมชอมและสามารถผลักดันนโยบายตามที่หาเสียงเป็นไปได้ยาก ยกเว้นนโยบายที่เป็นกระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์

การค้าและการลงทุนโลกจะยิ่งลดลง ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นมีมากขึ้น บริษัทยักษ์ใหญ่กุมอำนาจมากขึ้น และการเมืองที่เป็นอัมพาต เหล่านี้คือสิ่งที่รออยู่ในสี่ปีข้างหน้า

-------------

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่