ทักษะที่สำคัญในอนาคตอันใกล้

ทักษะที่สำคัญในอนาคตอันใกล้

World Economic Forum (WEF) ได้จัดทำวิจัยโดยสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงด้านการบุคคล ซึ่งดูแลพนักงานกว่า 13 ล้านคน

 ใน 9 อุตสาหกรรม ใน 15 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2558 แสดงไว้ในรายงานบทวิจัยเรื่อง งานในอนาคต (The Future of Jobs) เผยแพร่เมื่อเดือนม.ค.2559 เพื่อศึกษาว่าทักษะการทำงานไหนมีความสำคัญมากที่สุดในปี2563 ดิฉันเห็นว่าน่าสนใจ จึงอยากนำมาเล่าในวันนี้

ในอีก 4 ปีข้างหน้า ทักษะการทำงานที่จะมีความสำคัญสิบอันดับแรก คือ 1. การแก้ไขปัญหาซับซ้อน 2.การคิดแบบวิเคราะห์ 3.ความคิดสร้างสรรค์ 4.การบริหารบุคคล 5.การประสานงานกับคนอื่น 6.ความฉลาดทางอารมณ์  7. การใช้วิจารณญาณและการตัดสินใจ  8.การบริการ  9.การเจรจาต่อรอง  10.ความยืดหยุ่นในการเรียนรู้

ทักษะ 10 อย่างนี้ มีสองอย่างที่เพิ่มอันดับขึ้นมาจากการสำรวจทักษะที่สำคัญในปี 2558 คือข้อที่ 6.ความฉลาดทางอารมณ์ และข้อที่ 10.ความยืดหยุ่นการเรียนรู้ โดยมาแทนที่ ทักษะการควบคุมคุณภาพ และทักษะการฟังอย่างตั้งใจ

ดิฉันสันนิษฐานว่า ผู้บริหารเหล่านี้เห็นว่าต่อไป การควบคุมคุณภาพจะถูกแทนที่โดยปัญญาประดิษฐ์ ความสำคัญของทักษะนี้ในตัวพนักงานจึงลดลงไป และเทคโนโลยีได้พัฒนาไปกว้างไกล อัดเสียงและเล่นกลับได้บ่อยเท่าที่ต้องการ ทักษะการฟังอย่างตั้งใจจึงลดความสำคัญลงไป 

ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าพนักงานในโลกอนาคตไม่จำเป็นต้องมีทักษะเหล่านี้ คิดว่าใครมีทักษะการควบคุมคุณภาพและการฟังอย่างตั้งใจ ช่วยเสริมให้เป็นพนักงานแนวหน้าได้

ในอนาคต ปัญญาประดิษฐ์ จะทำหน้าที่ตัดสินใจได้แทนคน โดยการประมวลข้อมูลจากอดีต ถ้าใช้สมาร์ทโฟนอาจสังเกตเห็นว่า หากเรามี email ของคนคนหนึ่ง แต่ไม่ได้บันทึกหมายเลขโทรศัพท์ของเขาไว้ พอคนคนนี้โทรเข้ามาหาเรา เครื่องจะแจ้งเราว่า “อาจจะเป็นคุณ......” นี่เป็นหนึ่งตัวอย่างของความฉลาดของเครื่อง

อุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงของโลก ได้เปลี่ยนแปลงมากช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และคาดอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน และการลงทุนเป็นอุตสาหกรรมต่อไปที่ต้องเปลี่ยนแปลงมาก 

จากการสอบถามผู้บริหารด้านบุคคลในอุตสาหกรรมการเงินและการลงทุนว่า มีแผนดำเนินการอย่างไร ส่วนใหญ่ตั้งใจลงทุนปรับเปลี่ยนทักษะที่จำเป็นแก่พนักงาน และแสดงความเห็นว่าอุปสรรคสำคัญคือ พนักงานไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงใหม่ในลักษณะ Disruptive Change ซึ่งคือการเปลี่ยนแปลงโดยใช้นวัตกรรม

ยุคนี้ถือเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 โดยการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคแรก เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2327 เมื่อคิดค้นนำไอน้ำ และน้ำ มาเป็นแรงดันหมุนเครื่องจักรกล ยุคที่สองตั้งแต่ปี 2413 เป็นต้นมา ที่มีการแบ่งงานกันทำ (Division of Labor) มีการค้นพบไฟฟ้าและมีการผลิตจำนวนมากแบบ Mass Production

ยุคที่สาม เริ่มในปี 2512 เป็นการเริ่มต้นของอิเล็กทรอนิกส์ ข้อมูลและสารสนเทศ และการผลิตแบบอัตโนมัติ

และการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่สี่ ไม่แน่ชัดว่าเริ่มในปีใด เป็นยุคของกายภาพไซเบอร์ การนำสมองกล ปัญญาประดิษฐ์มาใช้ มีหุ่นยนต์ที่มีการพัฒนามากขึ้น มีการคมนาคมที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติ มีสมองกลและการเรียนรู้ของเครื่องจักร มีความก้าวหน้าของวัสดุศาสตร์ ไบโอเทคโนโลยี และศาสตร์เกี่ยวกับยีนส์ หรือที่เรียกว่า จีโนมิกส์ (สาขาหนึ่งของชีววิทยาโมเลกุลว่าด้วยชุดของสารพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต)

เชื่อว่าการพัฒนาเหล่านี้ จะเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้ชีวิต และการทำงานของเรา 

มีสุนทรพจน์ที่น่าสนใจซึ่ง มิสเตอร์ เคล้าส์ ชวาบส์ (Klaus Schwab) ผู้ก่อตั้งและประธาน WEF กล่าวในการประชุมที่นิวซีแลนด์ ในเดือนกรกฎาคม ปี 2558 ถึงเทคโนโลยีว่า 

ปัจจุบันเป็นยุคเศรษฐกิจที่ผู้คนใช้เทคโนโลยีตามสั่ง (on demand) และแบ่งปัน (Sharing) ซึ่งทำให้ข้อมูลต่างๆขยายความไปได้กว้างไกลมาก รัฐบาลและองค์กรภาครัฐต้องปรับตัว โดยเฉพาะด้านประสิทธิภาพ เพราะแต่เดิม การกำกับดูแลเป็นในลักษณะบนลงล่าง หรือ Top-Down คือรัฐจะคำนึงถึงผลกระทบ แล้วจึงออกกฎ และบังคับใช้

ในอนาคต รัฐจะต้องทำความเข้าใจกับสิ่งที่จะกำกับดูแล และต้องประสานงาน ร่วมมือ และทำงานแบบร่วมแรงร่วมใจกับภาคธุรกิจอย่างใกล้ชิด

ในมุมของความมั่นคงและความปลอดภัยภัย เทคโนโลยีใหม่และอาวุธอัตโนมัติทำให้คน หรือกลุ่มคนเล็กๆสามารถก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่ได้ รัฐจึงต้องใช้เทคโนโลยีในการป้องกัน โดยลดโอกาสเกิด และใช้เทคโนโลยีในการบรรเทาความเสียหาย

ทั้งหมดนี้ ดิฉันเรียบเรียงจากเอกสารของ World Economic Forum ในช่วงเวลาต่างๆที่ผ่านมาในปีนี้ค่ะ

ขอถือโอกาสนี้เชิญชวนท่านที่สนใจ เข้าฟังการสัมมนาวิชาการ “Wealth Management Forum 2016” จัดโดยสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ในวันที่ 14 พ.ย.นี้ โดยมีทั้งภาครัฐและเอกชนมาให้ความรู้ว่า เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง คาดว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในอุตสาหกรรมการเงินและการลงทุน ภาคเอกชนต้องปรับตัวอย่างไร และภาครัฐจะกำกับดูแล

รายละเอียดติดตามได้จากเว็บสมาคมนักวางแผนการเงินไทย www.tfpa.or.th