เตรียมรับสงครามไซเบอร์

เตรียมรับสงครามไซเบอร์

หากใครเปิดเข้าไปดูในยูทูบ ก็จะรู้สึกประหลาดใจไม่น้อย

 ว่าข้อความหรือเนื้อหาที่มีลักษณะ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างชัดแจ้ง ปรากฏให้เห็นค่อนข้างมาก ทั้งๆ ที่ภาครัฐได้พยายามประสานไปยังเจ้าของเว็บไซต์ ในต่างประเทศให้ช่วยพิจารณา หาวิธีการป้องกันข้อความในลักษณะดังกล่าว โดยได้พยายามกันมาหลายครั้ง แต่ไม่ค่อยจะได้ผลนัก ซึ่งอาจมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งข้อจำกัดของการตรวจสอบดูแลและนโยบายของเจ้าของเว็บไซต์เอง ทำให้การป้องกันเป็นไปได้ยาก

หากพิจารณาเนื้อหาดังกล่าวก็จะยิ่งประหลาดใจไปอีก เพราะผู้ที่เผยแพร่ ทั้งเปิดหน้าเปิดตาให้เห็นและเป็นการรายงานวิเคราะห์ทั่วไป เป็นเนื้อหาที่เก่ามานานและถกเถียงกันมาก่อนแล้ว บางประเด็นก็จะเป็นเรื่องยากจะหาหลักฐานใดมากล่าวอ้างได้ แต่ก็ปรากฏว่ามีการพูดถึงอย่างไม่กลั่นกรองจากผู้เผยแพร่ และการกล่าวอ้างถึงความจริงที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงการกล่าวลอยๆ ตามความคิดความเชื่อส่วนตัวมากกว่าหลักฐานใดๆ รวมทั้งมีการใส่อารมณ์ความรู้สึกค่อนข้างมาก

แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่านั้นคือมีผู้ติดตามดูค่อนข้างมากในแต่ละเรื่องที่มีการเอามาเผยแพร่ ซึ่งไม่ว่าจะเชื่อหรือใหม่กับเนื้อหาที่ปรากฏ แต่ก็ชี้ให้เห็นถึงมีคนจำนวนมากเข้าไปดูและรับฟังเนื้อหาเหล่านี้ โดยบางคนไปพูดต่อและทำให้เกิดเป็นข่าวลือไปต่างๆ นานา อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาปรากฏการณ์ทำคลิปและการเข้าไปรับชมของคนดูแล้ว ก็ถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างมากสำหรับสังคมไทยในระยะต่อไป ที่ข้อมูลข่าวสารมีความสำคัญและมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ในชีวิตประจำวัน

ประเด็นแรก เนื้อหาในคลิปเป็นเรื่องเก่าและบางเรื่องก็ล้าสมัยไปมาก อีกทั้งเป็นการกล่าวหาเหมือนคนไม่ชอบพอกัน ดังที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวันทั่วๆ ไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้การศึกษาของคนไทยจะดีขึ้น และระบบการเมืองการปกครองที่บอกว่ามีจิตใจประชาธิปไตย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นการกระทำที่ปราศจากความรับผิดชอบและผลกระทบใดๆ ตามมา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่าแปลกมากสำหรับคนที่อ้างว่าเป็นปัญญาชนต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ

ประเด็นที่สอง ที่น่าห่วงยิ่งกว่าคือการรับรู้ข่าวสาร ของประชาชนทั่วไปผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งขณะนี้สามารถรับรู้และส่งผ่านไปได้อย่างกว้างไกล จนยากที่จะปิดกั้นได้ แต่ประเด็นสำคัญคือคนไทยพร้อมรับข้อมูลข่าวสารเหล่านี้หรือมีภูมิคุ้มกันต่อข้อมูลเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน โดยผลของการรับข้อมูลอย่างไม่ลืมหูลืมตาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ทำให้เกิดการนองเลือดกลางเมืองมาแล้วจากความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหญ่ และสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

ดังนั้น ในยุคข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน ในประเด็นแรกนั้นเป็นเรื่องยากจะไปห้ามได้ แต่ในประเด็นที่สองในเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนในสังคม ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในโลกยุคใหม่ เพราะไม่เพียงแค่เรื่องความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงภัยด้านอื่นๆ ที่มากับโลกออนไลน์อีกด้วย เพราะอย่าลืมว่าเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ของสังคมไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้เราจะใช้กันมานาน แต่ยังขาดการเรียนรู้และเท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้น

เราเห็นว่าประเด็นใหญ่สำหรับรัฐบาลในการรับมือ การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ คือ ความรู้ความเข้าใจของประชาชน ให้สามารถแยกแยะและวิเคราะห์โดยใช้เหตุผลได้ และก็จะถือว่าเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีเยี่ยมของสังคมในการรับมือภัยคุกคามใดๆ ก็ตาม  แต่หากเราไม่มีมาตรการแก้ไขที่ดีพอ เราเชื่อว่าข่าวสารที่ผ่านมาทางเทคโนโลยีสมัยใหม่เหล่านี้ จะเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งเป็นระยะๆ เพราะเมื่อไม่มีภูมิคุ้มกันในการกลั่นกรองที่ดีพอแล้ว ก็ยากจะวินิจฉัยอย่างคนมีเหตุผลที่ดีได้