มิติแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตาม 'ศาสตร์พระราชา'

มิติแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตาม 'ศาสตร์พระราชา'

แนวคิดว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นอมตะ เพราะไม่เพียงแต่เป็นการย้ำถึงการเดิน สายกลาง ในการใช้ชีวิตเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของ ความยั่งยืน อันมีความสำคัญอย่างยิ่งอีกด้วย

ผมอ่านแนวทางวิเคราะห์ของ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในปาฐกถาพิเศษในงาน "Thailand’s Economic Outlook 2017” ในหัวข้อ เดินหน้าสู่การพัฒนาอย่างยิ่งยืน แล้ว เห็นว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง

คุณวิรไทบอกว่าได้มีโอกาสศึกษาองค์ความรู้ หลักคิดและต้นแบบทรงงานของในหลวง ร.9 แล้วมีอย่างน้อย 3 มิติสำคัญที่คนไทยควรยึดถือเป็นแนวทางแก้ปัญหาต่าง ๆ ของประเทศ

มิติแรกคือการยกระดับศักยภาพ และผลิตภาพของไทยให้สูงขึ้นทั้งในระดับบุคคล สังคมและประเทศโดยอาศัยพลังแห่งความเพียร ความอดทน ความร่วมมือกัน และการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญของการพัฒนา ดั่งพระบรมราโชวาทที่ว่า

การดำรงชีวิตที่ดีจะต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา การปรับปรุงตัวจะต้องมีความเพียรและความอดทนเป็นที่ตั้ง ถ้าคนเราไม่มีความหมั่นเพียรและความอดทนก็อาจจะท้อใจไปโดยง่าย เมื่อท้อใจไปแล้วไม่มีทางที่จะมีชีวิตเจริญรุ่งเรืองแน่ ๆ

มิติที่สองที่การพัฒนาอย่างยั่งยืนจะต้องมีคือ เสถียรภาพ” เพื่อให้การพัฒนาส่งผลให้มีชีวิตของแต่ละคนมีความปลอดภัยมีความเจริญ มีความสุขและไม่สะดุดขาตัวเอง เสถียรภาพเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรารู้จักที่จะพอประมาณ “ไม่ทำด้วยอาการเร่งรีบตามความกระหายที่จะสร้างของใหม่เพื่อความแปลกใหม่” รวมทั้งจะต้องคิดถึงการประหยัด เก็บสะสมทรัพยากรในวันนี้เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันจากความผันผวนต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น คาดเดาได้ยากขึ้น

ดั่งพระราโชวาทที่สะท้อนถึงแนวพระราชดำรัสนี้ว่า

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานแห่งความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเมืองตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มด้วยซ้ำไป

มิติที่สามคือการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างทั่วถึง หรือการพัฒนาอย่างส่วนร่วมของประชาชนทั้งประเทศเพื่อให้ ชีวิตของแต่ละคน” เจริญขึ้น

การพัฒนาอย่างทั่วถึงจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งทางสังคมและสร้างพลังร่วมกันให้สามารถเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ ของประเทศได้

การพัฒนาอย่างทั่วถึงจะต้องเริ่มต้นจากพวกเราทุกคน ดั่งพระราชดำรัสว่า

ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้นหมายถึงความสุขความเจริญที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรม ทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญหรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังจากผู้อื่น”

แนวพระราชดำริเรื่องพัฒนาเพื่อความยั่งยืนทั้งชัดเจน ตรงเป้าและพิสูจน์ด้วยความจริงของโลกได้ทุกประเด็นจริง ๆ