'ศาสตร์พระราชา' : จากประเทศไทยสู่ระดับสากล

'ศาสตร์พระราชา' : จากประเทศไทยสู่ระดับสากล

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น กษัตริย์นักพัฒนา

แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในเรื่องการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาสในสังคมนั้น ไม่ได้ส่งผลสำเร็จเฉพาะในประเทศไทย แต่ยังได้รับการยอมรับไปทั่วโลกด้วย

ศัพท์คำว่า ศาสตร์พระราชา มาจากแนวทางที่พระองค์ทรงริเริ่มสูตร พัฒนาทางเลือก” ในหลายมิติ หนึ่งในความสำเร็จต้น ๆ ของพระองค์ที่ทรงลงไปสัมผัสถึงปัญหาอย่างแท้จริงของชาวบ้าน คือทรงใช้แก้ไขปัญหาการปลูกพืชเสพติดบนพื้นที่สูงจนประสบความสำเร็จ ปิดตำนาน “สามเหลี่ยมทองคำ” อันลือลั่นมาแล้ว

“กรุงเทพธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย และอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการบังคับใช้กฎหมายเมื่อเร็ว ๆ นี้

ท่านได้เล่าว่า “ศาสตร์พระราชา” ที่ใช้แก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน ทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับอย่างสูงในเวทีโลก กระทั่งได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการพัฒนาทางเลือก ครั้งที่ 2 หรือ ICAD2 (International Conference on Alternative Development) เมื่อปลายปีที่แล้ว

นอกจากนั้น แนวทางดังกล่าวยังนำไปสู่การจัดทำแนวปฏิบัติสหประชาชาติ ว่าด้วยการพัฒนาทางเลือก หรือ United Nations Guiding Principles on Alternative Development (UNGPs) อันเป็นแนวปฏิบัติให้ประเทศสมาชิก สร้างการพัฒนาทางเลือกเพื่อแก้ปัญหายาเสพติด และแปรสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกด้วย

แนวทางการพัฒนาทางเลือก หรือ Alternative Development เกิดจากการที่พระองค์ท่านทรงเห็นว่า รอยตะเข็บชายแดนของไทยในภาคเหนือ ที่เรียกว่าสามเหลี่ยมทองคำในอดีตนั้น มีการปลูกฝิ่นกันมาก โดยคนที่ปลูกฝิ่นเป็นคนพื้นที่สูง ไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีที่ทำกิน และไม่มีสิทธิเป็นพลเมืองของชาติใด ในช่วงนั้นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ก็พยายามใช้มาตรการทางกฎหมายปราบปรามจับกุมเพื่อให้คนเลิกปลูกฝิ่น”

“แต่พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำริว่า พวกเขาไม่มีที่ไป ถ้ามีโอกาสที่จะมีทางเลือกในการพัฒนาชีวิตตัวเอง ก็น่าจะไม่ทำผิดกฎหมาย แนวคิดนี้ได้นำมาสู่การเข้าไปช่วยส่งเสริมเรื่องปลูกพืชทดแทน ปลูกผลไม้เมืองหนาว และกาแฟ ทำให้สุดท้ายคนพื้นที่สูงก็เลิกปลูกฝิ่น มีรายได้เป็นของตัวเองพอสมควรสำหรับการดำรงชีพและดูแลครอบครัว”

แนวทางการแก้ปัญหาเช่นนี้เป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก ว่าประเทศไทยสามารถลดพื้นที่การปลูกฝิ่นได้จริง จนกระทั่งไม่มีการปลูกฝิ่นในประเทศไทย ถือเป็นต้นแบบการพัฒนาทางเลือก

ดร.กิตติพงษ์ เล่าต่อว่า สหประชาชาตินำแนวพระราชดำรินี้ไปใช้ในหลายๆ เรื่อง ภายใต้หลักคิดที่ว่ามนุษย์เราถ้ามีความมั่นคงในตัวเอง ก็จะไม่ก่อปัญหาให้กับสังคมและบ้านเมืองที่ตนเองอาศัยอยู่ เราเรียกว่า human security คือความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งต่างจากความมั่นคงของชาติ หรือ national security ที่มองว่าถ้าเป็นชนกลุ่มน้อย ไม่ใช่คนไทยแล้วทำผิดกฎหมาย ก็จะสร้างความไม่มั่นคงให้กับบ้านเมือง

ในบริบทนี้ หากมองเรื่องการใช้กฎหมาย และการใช้กระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรม จะพบว่าทรงมีแนวพระราชดำริไว้ค่อนข้างมากทีเดียว หัวใจสำคัญก็คือการใช้กฎหมายต่างๆ ต้องไม่มองว่ากฎหมายคือความยุติธรรมในตัวเอง แต่กฎหมายคือเครื่องมือของการนำสังคมไปสู่ความยุติธรรม ถ้านักกฎหมายหรือผู้เกี่ยวข้องกับการใช้กฎหมายติดยึดอยู่กับตัวบทกฎหมายมากเกินไป จนลืมคิดถึงความยุติธรรม ก็น่าจะไม่ถูกต้อง

หัวใจของเรื่องนี้ทั้งหมด คือทรงยึดหลักอยู่ที่การทำให้มนุษย์ได้รับโอกาสในการพัฒนาตัวเอง เห็นได้จากโครงการพระราชดำริต่างๆ ทรงเน้นจากการพัฒนาที่คนเป็นหลัก กระทั่งโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นดีพี ตระหนักในความสำคัญ จึงได้ถวายรางวัลที่ชื่อว่า Lifetime Achievement Award สาขา Human Development แด่พระองค์ท่านในปี 2008 (พ.ศ.2551) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีผู้ได้รับรางวัลนี้ โดย นายโคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติในขณะนั้น ได้นำรางวัลมาถวายแด่พระองค์ท่านด้วยตัวเอง

“เรื่องที่น่ายินดียิ่งไปกว่านั้นในความเห็นของผมก็คือ การที่แนวพระราชดำริเรื่องการพัฒนาคนได้กลายเป็นเป้าหมายการพัฒนาของโลก ที่เรียกว่าเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หลังปี 2015 หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ซึ่งมี 17 ข้อ”

“ถ้าเราไปดูทั้ง 17 ข้อ จะเห็นได้ว่าทุกข้อเป็นเป้าหมายของการพัฒนามนุษย์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาวะแวดล้อม อาหาร ความยากจน การศึกษา รวมถึงสังคมยุติธรรม ถือเป็นความภูมิใจอย่างยิ่งที่เราสามารถบอกกับผู้คนทั่วโลกได้ว่า เป้าหมายการพัฒนาทั้ง 17 ข้อ สามารถมาดูได้ที่ประเทศไทย เพราะทรงงานในเรื่องนี้มาถึง 6 ทศวรรษแล้ว” ดร.กิตติพงษ์ กล่าว

และนี่คือสิ่งยืนยันในพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่าน ที่ขจรขจายไปในระดับสากล