พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา...กับการสนับสนุนภาคเกษตรในเชิงบวก

พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา...กับการสนับสนุนภาคเกษตรในเชิงบวก

ระบบเกษตรพันธสัญญาหรือคอนแทร็คฟาร์มมิ่ง เป็นเครื่องมือการทำงานระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ใช้กัน

อย่างกว้างขวางทั่วโลก หากนำไปใช้อย่างถูกต้องระบบนี้จะสามารถตอบสนองความต้องการของเกษตรกร อันได้แก่ การเข้าถึงเทคโนโลยี การมีตลาดรองรับผลผลิต และการมีรายได้ที่มั่นคง และในส่วนของผู้ประกอบการเองก็จะสามารถควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ใน Supply Chain ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นี่คือข้อดีของระบบที่ตั้งอยู่บนคำว่า “หากนำไปใช้อย่างถูกต้อง”

ประเทศไทยใช้ระบบเกษตรพันธสัญญามายาวนานแต่ยังไม่มีสัญญากลาง หรือหน่วยงานกลางใดๆมากำกับดูแล แม้ส่วนใหญ่จะสามารถดำเนินธุรกรรมต่อกันไปได้อย่างราบรื่น แต่ก็มีบางส่วนที่เกิดการละเมิดทั้งจากผู้ประกอบการบ้างหรือจากเกษตรกรบ้างนำไปสู่ข้อกล่าวหาว่าเกษตรพันธสัญญาเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และมีความพยายามในการร่างกฏหมายเพื่อมากำกับดูแลระบบนี้ให้โปร่งใสเป็นธรรมมากขึ้น โดยซีพีเอฟมีส่วนร่วมในการสนับสนุน ตลอดจนให้ข้อมูล และนำตัวอย่างสัญญาของบริษัทมาให้คณะทำงานได้ศึกษาและพิจารณาอย่างเปิดเผยด้วยกระทั่งเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม พ.ศ

ตลอดเวลาที่ผ่านมา เกษตรพันธสัญญาเป็นเหมือน “สัญญาใจ” ระหว่างผู้ประกอบการกับเกษตรกรดังเช่นที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่และข้าวอินทรีย์ให้สัมภาษณ์ไว้ในนสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 29 กันยายน 2559 ซึ่งประเด็นนี้เป็นความจริง เพราะตลอดอายุการทำงานกว่า 30 ปีที่ผมต้องข้องเกี่ยวกับเกษตรกรในระบบคอนแทร็คฟาร์มมิ่ง ล้วนอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจ และเหนือสิ่งอื่นใดคือ “ความซื่อสัตย์” ต่อกันเป็นสำคัญ เกษตรกรของซีพีเอฟที่มีเพียง 5,000 รายก็เช่นกัน กว่า 99% ที่ประสบความสำเร็จก็ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ ซื่อสัตย์ และตรงไปตรงมา ภายใต้สัญญาที่ส่งเสริมให้ Win-Win ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ถึงกระนั้นเอง บริษัทก็ยังคงปรับปรุงสัญญาให้มีความทันสมัยตามแนวทางสากลของ UNIDROIT (the International Institute for the Unification of Private Law) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระทางกฎหมายสากลอันดับ 1 ของโลก และเป็นแนวทางที่ FAO (องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ) ให้การยอมรับ แนวทางสากลดังกล่าวจะเน้นความโปร่งใสเป็นประโยชน์กับทั้งผู้ประกอบการ เกษตรกร รวมถึงผู้บริโภค และยังเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้ามาตรวจสอบวิจารณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็น FAO หรือคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ...

ในโลกของการทำเกษตรพันธสัญญานั้นกว้างนัก มีผู้ประกอบการที่เลือกใช้ระบบนี้นับพันนับหมื่นราย มีเกษตรกรที่เข้าไปเกี่ยวข้องหลายแสนรายทั้งพืชและสัตว์ การปฏิบัติต่อกันย่อมแตกต่างไปตามแต่ละรูปแบบ ผู้ประกอบการรายใหญ่อาจมีมาตรฐานส่งออกมาเป็นตัวกำหนดการผลิตสินค้า แต่พ่อค้าในท้องถิ่นที่รวบรวมผลผลิตไปขายต่อก็อาจมีวิธีของตัวเองอีกแบบหนึ่ง บนความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน จึงทำให้หลายฝ่ายต้องการให้มี “หลักการ” เพื่อให้ทั้งผู้ประกอบการและเกษตรกรนำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติ นอกเหนือไปจากสัญญาใจ...เพราะทุกสังคมมีทั้งคนดีและคนไม่ดีปะปนกันอยู่ การมี พ.ร.บ.ดังกล่าว จึงน่าจะช่วยให้การเกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น...ลดการละเมิดต่อกันลงได้

ในความเห็นของผม... พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญาจะเป็นประโยชน์กับภาคเกษตรอย่างมาก ถ้าสามารถสร้างหน่วยงานที่เข้ามากำกับดูแลระบบคอนแทร็คฟาร์มมิ่งในเชิงบวก หรือเรียกง่ายๆว่า ใช้วิธีส่งเสริม สนับสนุน ให้ทั้งผู้ประกอบการและเกษตรกรเติบโตไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน มิใช่มุ่งแต่จะดำเนินการในเชิงลบ หรือวางมาตรการลงโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

เหมือนกับที่มีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คอยช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้บริษัทต่างๆในตลาดฯ ตระหนักถึงความสำคัญด้านความยั่งยืนโดยกำหนดเป็น KPI (Key Performance Indicators) ให้แต่ละบริษัท ทำรายงานความยั่งยืน (SD -Report) อย่างโปร่งใสตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด บริษัทใดที่ปฏิบัติได้ตามเกณฑ์ก็จะได้รับการประกาศรายชื่อและรับมอบรางวัลทุกปี เช่นเดียวกับดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices :DJSI) ที่แวดวงธุรกิจชั้นนำระดับสากลต่างรู้จักดี เพราะแนวทางเหล่านี้คือการส่งเสริม สนับสนุน และมีการตรวจสอบบริษัทใดทำดีก็ควรได้รับการชมเชย ยกย่องและประชาสัมพันธ์ให้สังคมรับรู้บริษัทใดไม่ปฏิบัติภายในระยะเวลาหรือมีคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ก็ควรมีการตักเตือนและแจ้งให้สังคมทราบ

ถ้าทำได้แบบนี้ ภาคเกษตรของประเทศไทยย่อมเติบโตไปได้ไกล และก้าวไกลไปได้อย่างยั่งยืนด้วยครับ

----------------------

ณรงค์ เจียมใจบรรจง 

รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร