ตอบคำถามเรื่องความเสื่อมของอเมริกา

ตอบคำถามเรื่องความเสื่อมของอเมริกา

เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ผมตั้งคำถามให้ช่วยกันคิดว่าอเมริกากำลังเสื่อมใช่หรือไม่ ทั้งนี้เพราะภาวการณ์ชี้ชัดว่าอเมริกาส่งคน

ที่มีปัญหาทางจรรยาบรรณเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี มีผู้ย้อนถามว่าผมเห็นอย่างไร นอกจากนั้น ผมยังตั้งปริศนาไว้ว่าถ้าอเมริกากำลังเสื่อมจริง อะไรจะเกิดขึ้นและเราควรเตรียมตัวไว้ให้พร้อมมิดีกว่ามุ่งหน้าประณามอเมริกากันหรือ

เรื่องอเมริกากำลังเสื่อมหรือไม่คงเถียงกันไม่รู้จบ คอลัมน์นี้เคยอ้างถึงหนังสือเขียนโดยชาวอเมริกันซึ่งมองว่าอเมริกาน่าจะกำลังเสื่อมคือเรื่อง Are We Rome?: The Fall of an Empire and the Fate of America เขียนโดย Cullen Murphy และเรื่อง Freefall: America, Free Markets, and the Sinking of the World Economy เขียนโดย Joseph Stiglitz หนังสือสองเล่มนี้มองว่าอเมริกากำลังเสื่อมทรามทางศีลธรรมจรรยาซึ่งจะพาสังคมไปสู่ความล่มจมหากไม่แก้ไข หนังสือพิมพ์ออกมาราวสิบปีแล้ว จากวันนั้นถึงวันนี้ ปัญหาทางศีลธรรมจรรยาในอเมริกาไม่น่าจะลดลงหากมองจากการเลือกตัวแทนของสองพรรคใหญ่เพื่อส่งลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและวิธีหาเสียงเลือกตั้งดังที่อ้างถึงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (ก่อนเขียนต่อไป ขอเรียนว่าหนังสือเหล่านี้และเล่มที่จะอ้างถึงต่อ ๆ ไปมีบทคัดย่อและวิพากษ์ภาษาไทยอยู่ในเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com ซึ่งผู้สนใจในเนื้อหาแต่ขาดเวลาและความแตกฉานในภาษาอังกฤษอาจดาวน์โหลดได้โดยไม่ต้องจ่ายเงิน)

อันที่จริงความเสื่อมของอเมริกาถ้าเป็นจริงตามมุมมองของผู้เขียนหนังสือดังกล่าวอาจคาดเดาได้ ทั้งนี้เพราะมหาอำนาจในประวัติศาสตร์ล้วนพบจุดจบตามสัจธรรมของความไม่จีรังการเดินเข้าสู่ความเสื่อมอาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่างรวมทั้งการทำลายสิ่งแวดล้อมและการแย่งชิงทรัพยากรกัน กระบวนการเสื่อมของมหาอำนาจโบราณในย่านตะวันออกกลาง ในยุโรปตอนใต้และในย่านอเมริกากลางอาจมองได้จากปัจจัยเหล่านี้ซึ่งมีผลการศึกษาพิมพ์ออกมามากมาย คอลัมน์นี้เคยเสนอให้อ่านหนังสือหลายเล่มรวมทั้งเรื่องCollapse: How Societies Choose to Fail or Succeedเขียนโดย Jared Diamondเรื่อง One With Nineveh: Politics, Consumption, and the Human Future เขียนโดย Paul EhrlichและAnne Ehrlichและเรื่อง A Forest Journey: The Story of Wood and Civilizationเขียนโดย John Perlin

สำหรับกระบวนความเสื่อมของมหาอำนาจยุคใหม่นักวิชาการชั้นนำ Paul Kennedy เสนอให้มองที่ฐานทางด้านเศรษฐกิจ เมื่อไรเศรษฐกิจไม่แข่งแกร่งพอที่จะสนับสนุนกำลังทหาร เมื่อนั้นมหาอำนาจจะเริ่มเสื่อม เขาเสนอเรื่องนี้ไว้ในหนังสือชื่อ The Rise and Fall of the Great Powersเศรษฐกิจของอเมริกามีปัญหามานานในขณะที่ต้องส่งทหารไปประจำ หรือทำสงครามอยู่ในหลายส่วนของโลก ฉะนั้น จากมุมมองนี้อเมริกาน่าจะเริ่มเสื่อม

สำหรับปริศนาที่ตั้งไว้ว่าถ้าอเมริกาเสื่อมจริงอะไรจะเกิดขึ้นนั้น ประวัติศาสตร์และสัจธรรมบ่งว่าจะมีผู้ท้าทายเกิดขึ้นในขณะนี้มีผู้ท้าทายในย่านตะวันออกกลาง ในทะเลจีนใต้และในยุโรปตะวันออก ภาวะเช่นนี้เป็นที่คาดเดาได้จากมุมมองของ Samuel Huntington ซึ่งเสนอไว้ในหนังสือชื่อThe Clash of Civilizations and the Remaking of World Orderตามธรรมดาความท้าทายจะนำไปสู่สงคราม แต่ในยุคนี้ สงครามแบบเก่าซึ่งใช้อาวุธร้ายแรงที่สุดที่ผลิตได้ทำลายล้างกันอาจไม่เกิดขึ้นเนื่องจากคู่กรณีต่างมีอาวุธนิวเคลียร์และรู้ว่าถ้านำมันออกมาใช้มนุษยชาติจะถูกทำลายหมด ฉะนั้น สงครามน่าจะเป็นในรูปแบบอื่นอย่างไรก็ดี เป้าหมายยังได้แก่การครอบครอง หรือไม่ก็เข้าถึง ทรัพยากรในส่วนต่าง ๆ ของโลกจากมุมมองนี้ ทั้งอเมริกาและผู้ท้าทายต่างต้องการทรัพยากรของไทยทั้งนั้น

ในสภาวการณ์เช่นนี้เราจะทำอย่างไร?

สำหรับในระดับประเทศ โจทย์ข้อนี้มีความมั่นคงเป็นเดิมพันซึ่งรัฐบาลต้องตอบให้ได้อย่างเหมาะสมทุกด้าน ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ผมมีข้อสังเกตว่าในช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมารัฐบาลเสนอให้ต่างชาติใช้แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอันประเสริฐยิ่ง แต่รัฐบาลดูจะมิได้นำมาใช้เป็นฐานของการดำเนินนโยบายอย่างครอบคลุมสำหรับในระดับบุคคลและครอบครัว มีสิ่งที่น่าพิจารณามากมาย แต่ในที่นี้ใคร่ขอให้พิจารณาเรื่องเทคโนโลยีซึ่งมักมีคำสาปแฝงมาด้วยเสมอ คำสาปหนึ่งคือมันมัดมือมัดเท้าจนเราทำอะไรไม่ค่อยถนัด ลองคิดดูว่าถ้าขาดไฟฟ้าเป็นเวลานาน เราจะหุงข้าวรับประทานได้ไหม?