คนมหาวิทยาลัย’ใต้บงการเสรีนิยมใหม่

คนมหาวิทยาลัย’ใต้บงการเสรีนิยมใหม่

ความที่จะกล่าวต่อไปนี้ ต้องการจะบอกแก่ผู้คนในสังคมไทยว่า มหาวิทยาลัยที่เราเคยภาคภูมิใจนั้น กำลัง “ทำลาย”

ตัวเองไปเรื่อยๆ ภายใต้กรอบคิดแบบเสรีนิยมใหม่ มหาวิทยาลัยที่ควรจะเป็นพื้นที่สาธารณะในการสร้างสรร “ปัญญา” ให้แก่สังคมกำลังจะหมดสิ้นไปแล้ว

ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการผลักดันให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการมาจนถึงวันนี้แม้ว่ามหาวิทยาลัยยังไม่ออกนอกระบบทั้งหมดทุกมหาวิทยาลัยก็ตาม แต่ระบบบริหารมหาวิทยาลัยได้แปรเปลี่ยนไปสู่การควบคุมแบบ “เสรีนิยมใหม่” มากขึ้น เรื่อยๆ มหาวิทยาลัยไทยได้เดินตามก้นเสรี นิยมใหม่แบบเซื่องๆ โดยได้ทำในสิ่งเดียวกับที่มหาวิทยาลัยในโลกเสรีนิยมใหม่ทำกัน

ประการแรกได้แก่ การขึ้นค่าเล่าเรียนโดยผลักภาระให้แก่นักศึกษามากขึ้น และใช้ เล่ห์กลในการขึ้นค่าเล่าเรียนเฉพาะกับนักศึกษาใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้นักศึกษาเก่า ที่กำลังเรียนอยู่ลุกขึ้นโวยวาย

ประการที่สอง ได้แก่ ความพยายามที่จะแสวงหาเงินทุนวิจัยจากบริษัทยักษ์ใหญ่ โดยละทิ้งพันธกิจในการแสวงหาสัจจะไปสู่การแสวงหากำไรเท่านั้น (turning the pursuit of truth into the pursuit of profits)

ประการที่สาม การทำให้คนมหาวิทยาลัยรู้สึกถึง “ความไม่แน่นอน” และ “ความเสี่ยง” ซึ่งการทำเช่นนี้ถือว่าเป็นหัวใจหลัก ของระบบเสรีนิยมใหม่ที่จะทำให้คนทำงาน ในมหาวิทยาลัยกลายเป็นฟันเฟืองหมุนตามความต้องการของ “ผู้ปกครอง/ผู้บริหาร มหาวิทยาลัย” ที่สำคัญกระบวนการนี้ได้ “ทำร้าย “คนมหาวิทยาลัยและ “ทำลาย  “ปัญญา”ของมหาวิทยาลัยที่ควรจะมีให้แก่สังคม

กระบวนการนี้ได้แก่การทำให้การทำงานของคนมหาวิทยาลัยทุกคนเป็นสภาวะของความไม่แน่นอนพร้อมกับการใช้กลวิธีที่ทำให้คนทำงานรู้สึกถึงความเสี่ยงมากขึ้นซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปสู่การทำให้เกิดการสูญเสียเสรีภาพและพลังทางปัญญาที่จะทำประโยชน์เพื่อสังคมในที่สุด

กล่าวได้ว่ากระบวนการทำให้เกิดความไม่แน่นอนและความเสี่ยงในชีวิตเป็นแกนกลางอันทรงพลังที่ทำให้ระบอบเสรีนิยมใหม่สามารถขยายอำนาจเพิ่มมากขึ้นครอบคลุมโลกเพราะการทำให้ผู้คนรู้สึกถึงความไม่แน่นอนและพะวง/กังวลกับความเสี่ยงจะส่งผลให้คนเริ่มสำนึกเกรงกลัวต่ออำนาจของ “ตลาด” ซึ่งเข้ามากำหนดชีวิตตนเองมากขึ้นและในที่สุดผู้คนก็ต้องยอมสยบอยู่ภายใต้อำนาจของ “ตลาด” อย่างเต็มตัว

กลวิธีที่บรรดาผู้คุมอำนาจในมหาวิทยาลัยได้สถาปนาขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายเสรีนิยมใหม่ได้แก่การทำให้คนทำงานในมหาวิทยาลัยรู้สึกถึงความไม่แน่นอนในการทำงานของตนขณะเดียวกันก็ทำให้ทุกคนรู้สึกว่ามีความเสี่ยงกับการสูญเสียงานที่กำลังอยู่ไป

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่การจ้างงานระยะสั้นจึงขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในทุกมหาวิทยาลัยเพราะการจ้างงานระยะสั้นจะทำให้คนทำงานต่างๆ ต้องพะวงอยู่กับการรักษางานของตนจนทำให้ไม่มีเวลาและไม่สามารถที่จะต่อรองหรือเสนอข้อคิดเห็นอะไรที่เหมาะสมได้ นอกไปจากการรับใช้“ผู้บริหาร” และ “เสรีนิยมใหม่” เห็นได้ชัดเจนว่าปัจจุบันนี้การจ้างลูกจ้างชั่วคราวเพิ่มมากขึ้นมากในทุกมหาวิทยาลัย ซึ่งลูกจ้างเหล่านี้จะไม่ได้รับสวัสดิการอย่างเหมาะสมเพราะระบบเสรีนิยมใหม่ต้องการให้พวกเขารู้สึกถึงความไม่แน่นอน และความเสี่ยงต่อชีวิตของตนเองให้มากที่สุด

คนมหาวิทยาลัยที่ถูกทำให้ตกอยู่ในความไม่แน่นอน และความเสี่ยงมากที่สุด ได้แก่ ลูกจ้างชั่วคราว หรือเรียกกันในชื่อใหม่ว่าพนักงานมหาวิทยาลัย (ส่วนงาน) ซึ่งต้องต่อสัญญาการทำงานกันทุกปีและ ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนการ ศึกษาคนกลุ่มนี้ถูกทำให้มองไม่เห็น “อนาคต” ใดๆ จึงถูก “ขูดรีด” แรงงานอย่างถึงที่สุดความเจ็บปวดของคนมหาวิทยาลัยกลุ่มนี้จึงทวีเพิ่มขึ้น

พร้อมไปกับการจ้างงานระยะสั้น การควบคุมคนด้วยการสร้างหน่วยมาตรวัดต่างๆ (Metrics : Unit of measurement) ที่ละเอียดอย่างไร้เหตุผลก็เพิ่มมากขึ้นไปด้วย ที่สำคัญหน่วยการวัดต่างๆ จะถูกบังคับใช้  ลึกลงไปสู่แต่ละบุคคลในมหาวิทยาลัย โดยตรงหน่วยมาตรวัดต่างๆ จะถูกคิดค้นขึ้นตลอดเวลาไม่จบไม่สิ้นเพราะมันเป็นเครื่องมือที่จะทำให้คนมหาวิทยาลัยรู้สึกและสำนึกถึงความไม่แน่นอนและความเสี่ยงตลอดเวลา (เป็นเรื่องตลกระดับโลกเลย ที่มหาวิทยาลัยได้สร้างหน่วยมาตรวัด “ความเสี่ยง” โดยเลียนแบบมาจากสำนักบริหารธุรกิจโดยไม่สำเหนียกเลยว่ามันคนละเรื่องกัน)

จนท้ายที่สุดแล้วเราทำงานเพื่อให้ได้ผลไปตามมาตรวัด โดยที่ไม่สามารถคิดค้นอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ เพราะมาตรวัด ได้ “ฝัง” เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา (Metric are part of our lives)

การทำให้ “คนมหาวิทยาลัย” ทุกกลุ่มตกอยู่ในสภาวะความไม่แน่นอนความเสี่ยงเช่นนี้ ย่อมทำให้การคิดค้น/ค้นหา “ปัญญา” ให้แก่สังคมเกิดได้ยากลำบากขึ้น แต่ละคนล้วนแล้วแต่พยายามหลบเลี่ยงความไม่แน่นอน และความเสี่ยงด้วยการทำตาม และทำเพื่อมาตรวัดเท่านั้น ภายใต้การบงการของเสรีนิยมใหม่ การทำงานมหาวิทยาลัยในอดีตเป็นความ ภาคภูมิใจที่ได้สร้างสรร “ปัญญา” ให้แก่สังคมบัดนี้ได้กลายเป็นการทำงานเพื่อ “มาตรวัด” อันเหลวไหลของเสรีนิยมใหม่ไปเสียแล้ว

คนมหาวิทยาลัยทั้งหมดคงต้องช่วยกันคิดกันว่าเราจะต่อสู้กับการบงการของเสรีนิยมใหม่นี้อย่างไรเพื่อคืน ชีวิตของคน”  ให้แก่เราและดึงเอา มหาวิทยาลัยให้รับใช้ สังคมมากขึ้น