“มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ” ต้นแบบการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน

“มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ” ต้นแบบการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน

ครั้งหนึ่งในชีวิตของการเป็นอาจารย์และนักวิจัย ดิฉันมีโอกาสเข้าไปเป็นหนึ่งในทีมงานลงพื้นที่ที่จังหวัดน่านเพื่อทำงานวิจัยด้าน“เศรษฐกิจพอเพียง"

ในมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2552

มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ได้น้อมนำหลักการทรงงาน และแบบอย่างในโครงการตามพระราชดำริ ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นหลักยึดและปฏิบัติในการทำงาน โดยนำความรู้ตามแนวทางพระราชดำริ ไปปรับใช้กับพื้นที่ต่างๆ ที่มูลนิธิฯ ได้เลือกเป็นพื้นที่ต้นแบบ โดยมุ่งไปที่การสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ สนับสนุนส่งเสริม  ให้ความรู้ และให้ความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหา และพัฒนา เพื่อให้เกิดการบูรณาการ การทำงานของภาคส่วนต่างๆ โดยได้น้อมนำแนวพระราชดำริไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์และเป็นแนวทางหลักในการพัฒนาประเทศในทุกระดับ

ดิฉันอยากจะขอเล่าถึงประสบการณ์จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ หลังได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารโครงการ ผู้จัดการโครงการ น้องๆ เจ้าหน้าที่ ผู้นำชุมชน ตลอดจนชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการ  ซึ่งในภาระกิจนี้ได้พบบทเรียนและโมเดลในการบริหารงานที่น่าสนใจ นั่นคือ การพัฒนาที่ยั่งยืนมุ่งเน้น Area-based ไม่ใช่ Activity- based 

การพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ควรเริ่มจากระบบ Top down management แต่ควรเริ่มจากการให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตของคนในพื้นที่ บริบทและความต้องการของชุมชน ร่วมถึงสิ่งแวดล้อมของพื้นที่นั้นๆ เป็นสำคัญ

การพัฒนาที่ยั่งยืนเน้นการมีส่วนร่วม เนื่องจากมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ เน้นการพัฒนาชุมชนตามหลักการองค์ความรู้ โดยปรับน้ำหนักแต่ละเรื่องตามสภาพภูมิสังคมและ สภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ ดังนั้นการเริ่มโครงการในแต่ละพื้นที่ มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ จะเริ่มโครงการเมื่อคนในพื้นที่ คนในชุมชน พร้อมที่จะร่วมใจกันแก้ไขปัญหาของชุมชน ซึ่งการแก้ปัญหาที่เหมาะสมนั้น ผลของปัญหาอาจเหมือนกัน แต่สาเหตุและวิธีในการแก้ไขอาจแตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่

ดังนั้นบทบาทของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ จึงเป็นเหมือนโค้ชในการให้องค์ความรู้ สนับสนุนด้านอุปกรณ์เครื่องมือ ตัวอย่างเช่น ในการทำฝาย แทนที่จะใช้งบประมาณของภาครัฐ จ้างผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการ แต่ที่น่านนั้น มูลนิธิฯ ได้ให้องค์ความรู้ในการทำฝาย การบริหารจัดการน้ำ ในขณะที่คนในชุมชนซึ่งมีความรู้เรื่องทิศทางน้ำในพื้นที่ ก็ได้ร่วมใจกันทำฝาย แบ่งหน้าที่กันดูแล  ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ได้อย่างดี  ซึ่งการบริหารจัดการนี้เป็นการบูรณาการทั้งองค์ความรู้ของคนในชุมชนกับองค์ความรู้ของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ เข้าด้วยกัน และเมื่อคนในชุมชนร่วมมือกันทำ จะก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Sense of ownership) ได้ไม่ยาก ทำให้หลังจากนั้นเมื่อผ่านการใช้งาน หากฝายพัง ต้องซ่อมบำรุง คนในพื้นที่ก็สามารถที่จะดูแล ซ่อมบำรุงกันเองได้

อีกตัวอย่างที่ดิฉันประทับใจและมองว่า เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมได้อย่างยั่งยืน ก็คือ มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ให้ความรู้กับคนในชุมชนเรื่องการเลี้ยงหมู โดยได้นำหมูพันธุ์เหม๋ยซาน เข้ามาให้คนในชุมชนที่สนใจเลี้ยง โดยการให้หมูกับผู้เข้าร่วมโครงการไม่ได้เป็นการให้เปล่า แต่เหมือนการให้ยืม เมื่อเลี้ยงหมูได้จนมีลูกแล้ว ก็ให้นำมาคืนเพื่อที่จะเปิดโอกาสให้คนอื่นๆ ได้มานำไปเลี้ยงบ้าง

มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ เน้นการบริหารจัดการที่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลจริง โดยก่อนจะเริ่มโครงการใดๆ มูลนิธิฯ จะให้ความสำคัญและใช้เวลาในการเก็บข้อมูลของพื้นที่จริงเสียก่อน โดยการเก็บข้อมูลนั้น เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ที่จะเข้าพื้นที่จะได้รับการอบรมเรื่องการเก็บข้อมูล โดยข้อมูลในการสำรวจ มีตั้งแต่ลักษณะทางภูมิศาสตร์ การใช้พื้นที่ สภาพบ้าน สภาพสังคมชุมชน สภาพเศรษฐกิจครัวเรือน หนี้สินของแต่ละครัวเรือน เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาใช้ในการวางแผนการทำงานให้เหมาะสมกับแต่ละชุมชน นอกจากนั้นการมีข้อมูลที่ถูกต้อง ยังช่วยทำให้การประเมินถึงปัญหาการดำเนินการของแต่ละโครงการตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงอีกด้วย

ประสบการณ์ที่ได้จากมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ นั้นทำให้ได้เรียนรู้ว่า แนวทางพระราชดำริ และแนวทางในการทรงงานตลอดจน องค์ความรู้มากมายที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มอบให้กับปวงชนชาวไทยนั้น ยิ่งใหญ่มหาศาล และไม่สามารถประเมินออกมาเป็นมูลค่าได้เลย