นวมินทราชาธิราช

นวมินทราชาธิราช

เป็นที่รับทราบกันทั่วโลกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงพระอัจฉริยภาพในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านวิทยาศาสตร์

วิศวกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ ภูมิศาสตร์และแผนที่ อุทกศาสตร์และการชลประทาน เกษตรศาสตร์ ดนตรี และกีฬา และที่ชาวไทยและชาวโลกต่างพากันแซ่ซ้องสรรเสริญ คือ พระอัจฉริยภาพในด้านเศรษฐศาสตร์

พระบรมราโชวาทที่พระราชทานในสมัยแรกๆ เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ คือเรื่องของการประหยัดและการออมเพื่อความมั่นคงของชีวิต ซึ่งอยู่ในพระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2502 ความว่า

“การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเองและครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้ จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ที่ประหยัดเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย”

พระองค์เองได้ทรงดำรงพระองค์เป็นแบบอย่าง ด้วยการประหยัดและมัธยัสถ์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ดังปรากฏในหนังสือหลายเล่ม และคำบอกกล่าวจากผู้ถวายงานหลายท่าน รวมถึง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และมีภาพหลอดยาสีพระทนต์ที่พระองค์ทรงรีดใช้จนหมดเกลี้ยงเป็นหลักฐานยืนยัน

นอกจากนี้ ยังทรงพระราชทานแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียงให้กับพสกนิกรเป็นระยะๆ ทั้งแนวคิดในเรื่องการลงทุน การสะสมทุนเพื่อความมั่นคง การก่อหนี้ การไม่ทำอะไรเกินตัว และการสร้างความยั่งยืน ดังพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2518

“ถ้าเราสะสมเงินให้มาก เราก็สามารถที่จะใช้ดอกเบี้ย ใช้เงินที่เป็นดอกเบี้ยโดยไม่แตะต้องทุน แต่ถ้าเราใช้มากเกินไปหรือเราไม่ระมัดระวัง เราจะกินเข้าไปเป็นทุน ทุนมันก็น้อยลงๆ จนหมด”

ในช่วงเวลาก่อน Oil Crisis ครั้งที่สอง ในปีพ.ศ. 2522-23 ที่น้ำมันมีราคาสูงและขาดแคลน เนื่องจากการปฏิวัติในอิหร่านส่งผลให้ผลผลิตน้ำมันโลกลดลง พระองค์ทรงห่วงใยเกรงพสกนิกร ได้รับความเดือดร้อน ได้พระราชทานพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2521 ความตอนหนึ่งว่า

“...การประหยัด เป็นสิ่งพึงประสงค์อย่างยิ่ง ในทุกแห่งและในกาลทุกเมื่อ...ขอให้คำนึงถึงผลที่เกิดจากการประหยัดนี้ให้มาก...การประหยัดนี้ ควบคู่ไปกับหลักการพออยู่ พอกิน พอใช้ จึงใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย และเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติตนตามเศรษฐกิจพอเพียงโดยแท้...”

ในพระราชพิธีกาญจนาภิเษกทรงครองราชย์ครบ 50 ปี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539 ทรงเตือนใจพสกนิกรซึ่งในเวลานั้นกำลังหลงใหลในความเจริญทางวัตถุว่า

“ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึง ความสุขความเจริญที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรม ทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญหรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น”

เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ทรงวิเคราะห์ถึงสาเหตุได้อย่างแม่นยำ และทรงแนะนำทางออกจากวิกฤติ ดังปรากฏในบางส่วนของพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540

“การกู้เงินที่นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ดี อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ”

“อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องสอนว่า กู้เงิน เงินนั้นจะต้องให้เกิดประโยชน์ มิใช่กู้สำหรับไปเล่นไปทำอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์....เรื่องอย่างนี้ต้องเล่าให้ฟัง เพราะว่ามันเป็นต้นเหตุของวิกฤตการณ์ปัจจุบัน”

“...จะเห็นว่า ทำโครงการอะไร ก็ต้องนึกถึงขนาดที่เหมาะสมกับที่เรียกว่าอัตภาพ หรือกับสิ่งแวดล้อม....ฉะนั้นการที่จะทำโครงการอะไร จะต้องเลือกทำด้วยความรอบคอบ และอย่าตาโตเกินไป..”

“ถ้าเราทำโครงการที่เหมาะสม ขนาดที่เหมาะสมอาจจะดูไม่หรูหรา แต่จะไม่ล้ม หรือถ้ามีอันเป็นไป ก็ไม่เสียมาก...”

“ฉะนั้น เราต้องพยายามอุ้มชูประชาชนให้ได้มีงานทำ มีรายได้ ก็จะสามารถผ่านวิกฤตการณ์ แต่ถ้าทำแบบที่เคยมีนโยบายมา คือผลิตสิ่งของทางอุตสาหกรรมมากเกินไป ก็จะไม่สำเร็จ โดยที่เมืองไทยตลาดมีน้อยลง เพราะคนมีเงินน้อยลง...”

“มีความจำเป็นที่จะถอยหลังเพื่อที่จะก้าวหน้าต่อไป ถ้าไม่ทำอย่างที่ว่านี้ ก็จะแก้วิกฤตการณ์นี้ยาก..”

เมื่อผู้ปฏิบัติยังไม่เข้าใจ พระองค์จึงทรงเน้นย้ำเรื่องความพอเพียงอีกครั้งหนึ่งในปีถัดมา คือในพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ความบางส่วนว่า

“คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด “อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ” มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง”

ขอนำชื่อหนังสือ “นวมินทราชาธิราช”หรือ “The Great King of Thailand” ซึ่งเป็นหนังสือประมวลภาพพระราชกรณียกิจ ที่ดิฉันมีโอกาสมีส่วนร่วมในการจัดทำพร้อมกับเพื่อนร่วมงานและกัลยาณมิตร เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงครองราชย์สมบัติครบ 50 ปีในปี พ.ศ.2539 มาเป็นชื่อของบทความนี้

พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย

พสกนิกรน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นตราบนิจนิรันดร์

ข้าพระพุทธเจ้า นางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ