ปัญหาการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการบริษัทมหาชนจำกัด

ปัญหาการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการบริษัทมหาชนจำกัด

บริษัทมหาชนจำกัดตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 ต้องมีกรรมการเพื่อดำเนิน

กิจการของบริษัท อย่างน้อยห้าคน โดยกรรมการไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดต้องมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักร

กรรมการต้องเป็นบุคคลธรรมดา มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม คือ บรรลุนิติภาวะ ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ ไม่เคยรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่ได้กระทำโดยทุจริต ไม่เคยถูกลงโทษไล่ออกหรือปลดออกจากราชการ หรือองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ฐานทุจริตต่อหน้าที่

ที่มาของกรรมการชุดแรก มาจากการเลือกตั้งของผู้ถือหุ้นในที่ประชุมจัดตั้งบริษัทเมื่อเริ่มจัดตั้งบริษัท กรรมการจะมีกี่คนมีวาระอย่างไรเป็นไปตามทีกำหนดในข้อบังคับของบริษัท ในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท รายการที่ต้องจดทะเบียนรายการหนึ่งคือ ชื่อและจำนวนกรรมการ ซึ่งมีอำนาจลงลายมือชื่อแทนบริษัท และข้อจำกัดอำนาจถ้ามีตามที่ระบุในข้อบังคับ

เมื่อกรรมการพ้นตำแหน่งตามวาระ จะมีการเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ ในการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี พร้อมกันไปเลย ตามวิธีที่บัญญัติในมาตรา 71 เว้นแต่บริษัทมีข้อกำหนดในการเลือกตั้งกรรมการต่างไปจากที่กำหนดในมาตรา71 ก็ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการ บริษัทต้องไปจดทะเบียนด้วยภายในสิบสี่วัน นับแต่วันเปลี่ยนแปลง

นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ ตาย ลาออก ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 68 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติให้ออกตามมาตรา 76 ศาลมีคำสั่งให้ออก

ในการรับจดทะเบียนไม่ว่าเป็นการรับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทหรือการเปลี่ยนแปลงรายการที่จดทะเบียนไว้ นายทะเบียนต้องประกาศรายการย่อแสดงข้อความที่รับจดทะเบียนไว้ในราชกิจจานุเบกษา และให้ถือว่าบุคคลทั่วไปได้รับทราบข้อความที่ประกาศถัดจากวันที่ประกาศเป็นต้นไป รายชื่ออกรรมการตามที่ได้จดทะเบียนไว้กับนายทะเบียน จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งขี้ว่าบริษัทมหาชนจำกัดนั้น มีผู้ใดเป็นกรรมการบ้าง

แต่ต่อมาในปี 2551 มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ และบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4 )พ.ศ.2551 ซึ่งมีการเพิ่มเติมบทบัญญัติเป็นหมวดที่3/1 การบริหารกิจการของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ที่สำคัญคือการเพิ่มเติมมาตรา93/3 กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด และมาตรา89/4 กำหนดเหตุพ้นจากตำแหน่งของกรรมการนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด คือ

มาตรา89/3 กรรมการต้องมีคุณสมบัติและไม่ มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด รวมทั้งต้องไม่มีลักษณะที่แสดงถึงการขาดความเหมาะสมที่จะได้รับความไว้วางใจ ให้บริหารจัดการกิจการที่มีมหาชนเป็นผู้ถือหุ้นตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

มาตรา 89/4 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งของ กรรมการด้วยเหตุตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดแล้ว กรรมการย่อมพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีลักษณะที่แสดงถึงการขาดความเหมาะสมที่จะได้ รับความไว้วางใจให้บริหารจัดการกิจการที่มีมหาชนเป็นผู้ถือหุ้นตามที่กำหนด ในมาตรา 89/3 และจะดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทต่อไปมิได้

จากการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายของนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดคือ ไม่อาจนำเหตุกรรมการต้องพ้นจากตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มาใช้กับการพ้นตำแหน่งของกรรมการตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดได้ เพราะเป็นกฎหมายคนละฉบับ

สำหรับลักษณะขาดความไว้วางใจของกรรมการ ตามประกาศ ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลัดทรัพย์.ที่กจ.8/2553 ที่น่าจะมีปัญหา คือข้อ 5(3) ส่วนที่กำหนดว่า “อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษโดยสำนักงาน หรืออยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอันเนื่องจากกรณีที่สำนักงานกล่าวโทษ” เพราะเป็นเพียงการถูกกล่าวโทษ ยังไม่มีข้อวินิจฉัยของศาลหรือหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายว่ากระทำผิดจริง นายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดย่อมไม่มีอำนาจและไม่อาจวินิจฉัยสั่งได้ว่ากรรมที่มีลักษณะดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งแล้ว ผู้ที่ต้องวินิจฉัยสั่งคือคือคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งก็เป็นเพียงคำสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่ ที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามที่บัญญัติในมาตรา 30 ของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 คือต้องให้คู่กรณีมีโอกาสทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงหลักฐานของตน มิฉะนั้นจะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้คู่กรณีมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา44

อย่างไรก็ตาม แม้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จะวินิจฉัยสั่งว่ากรรมการที่มีลักษณะดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งกรรมการแล้ว นายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดก็ไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายชื่อกรรมการตามที่จดทะเบียนไว้ตามลำพังได้เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดให้มีอำนาจเช่นนี้ไว้ เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทำได้เพียงออกประกาศให้บริษัทที่มีกรรมการที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้วินิจฉัยสั่งว่าพ้นจากตำแหน่งแล้ว ไปยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการภายในกำหนดสิบสี่วัน แต่ตราบใดที่ยังไม่มีกาจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการ กรรมการตามรายชื่อที่จดทะเบียนไว้ยังคงมีอำนาจตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดอยู่เช่นเดิม

ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาของการบริหารการออกกฎหมาย การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเฉพาะที่ล้ำเข้าไปยังกฎหมายบริษัทมหาชนจำกัดที่เป็นกฎหมายหลัก ที่สมควรได้รับการพิจารณาแก้ไข