การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ (1)

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ (1)

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐนั้น เสี่ยงส่วนใหญ่เชื่อว่านางฮิลลารี คลินตัน แห่งพรรคเดโมแครทจะเป็นผู้รับชัยชนะ

 ตลาดเงินตลาดทุนจึงมิได้ตั้งรับกรณีที่นายดอลแนล ทรัมได้รับชัยชนะและเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป ดังนั้นหากเกิดการพลิกล็อกขึ้นมา ตลาดก็จะผันผวนและปรับตัวลดลงได้อย่างมาก เพราะจะเป็น Fat Tail Risk กล่าวคือเป็นเหตุการณ์ที่ผิดคาดและหากเกิดขึ้น ตลาดคาดว่าจะนำมาซึ่งความเสียหายอย่างมาก

ในการประเมินแนวโน้มผลการเลือกตั้งสหรัฐนั้น ผมให้ความสำคัญกับ 4 ประเด็นเรียงลำดับความสำคัญดังนี้คือ

  1. ความเชื่อมั่นไว้ใจและเลื่อมใสของประชาชนต่อผู้ที่เสนอตัวจะเป็นประธานาธิบดี เรื่องนี้สำคัญมากที่สุด เพราะประธานาธิบดีมีอำนาจมาก (ตั้งครม.และข้าราชการถึงระดับรองอธิบดีได้เองทั้งหมด) และจะได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยนั้นผู้นำจะต้องเป็นคนที่ประชาชนชอบพอและไว้วางใจเสมือนกับเป็นญาติผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นที่เคารพชอบพอ (เช่นประธานาธิบดีเรแกนและบิล คลินตัน) แตกต่างจากระบอบเผด็จการที่ผู้นำจะต้องถูกโฆษณาชวนเชื่อว่าเก่งเป็นเลิศกว่าประชาชนคนธรรมดาไปทุกๆ เรื่อง แม้ประชาชนบางครั้งก็จะต้องการผู้นำที่มีความชัดเจนและเด็ดขาด ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดแข็งของนายทรัม โดยอีกจุดขายหนึ่งของทรัมคือการที่เป็นคนอยู่นอกวงการทางการเมือง (outsider) เพราะประชาชนสหรัฐรู้สึกว่ากลุ่มนักการเมืองไม่เคยดูแลและตอบสนองความต้องการของประชาชนมาหลายสิบปีแล้ว ซึ่งตรงนี้เป็นจุดอ่อนของนางคลินตันเพราะอยู่ในแวดวงการเมืองมา 40 ปี(more of the same) นอกจากนั้นนางคลินตันก็ยังมิได้รับความนิยมชมชอบเป็นการส่วนตัวมากนัก (แตกต่างจากสามีและประธานาธิบดีโอบามาที่มีกลุ่ม Fan club ที่เหนียวแน่น) อย่างไรก็ดีนางคลินตันกำลังตีตื้นในการขอเสียงสนับสนุนจากกลุ่มผู้หญิง เพราะนายทรัมนั้นกำลังมีปัญหาภาพพจน์การไม่เคารพผู้หญิง ประเด็นนี้และอื่นๆ จะกล่าวถึงเพิ่มเติมในข้อ 3 ครับ
  2. มลรัฐที่พลิกผัน (swing states)ในการคิดตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐนั้น การดูผลสำรวจความนิยมของผู้สมัครฯ ในระดับประเทศมีความสำคัญน้อยกว่าการดูผลสำรวจความนิยมใน 10-15 มลรัฐที่อาจพลิกผันไปสนับสนุนผู้แข่งขันคนใดคนหนึ่งได้ เพราะระบบการเลือกตั้งของสหรัฐที่เรียกว่า Electoral college นั้นเป็นระบบ Winner take all เช่นหากนางคลินตันได้คะแนนมากกว่านายทรัมเพียง 1 เสียงในมลรับฟลอริดา (ซึ่งมีผู้ลงคะแนนเสียงเป็นสิบล้านคน) คะแนน Electoral vote ของมลรัฐฟลอริดาทั้ง 29 คะแนนก็จะถูกเทให้กับนางคลินตันทั้งหมด 29 คะแนน ทั้งนี้ผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีคือผู้ที่ได้รับ Electoral vote 270 คะแนนขึ้นไป (มีคะแนนรวมทั้งสิ้น 538 คะแนน) โดยปัจจุบันประเมินว่านางคลินตันน่าจะได้ Electoral vote แล้ว 200 คะแนนและทรัมได้ 170 คะแนน ดังนั้นจึงเหลือคะแนนที่จะต้อง “เก็บให้ได้” จาก 10-15 swingstates เกือบ 170 คะแนน โดยทรัมต้องได้เพิ่มอีก 100 คะแนนขึ้นไปและคลินตันต้องได้เพิ่มอีก 70 คะแนนขึ้นไปจึงจะชนะการเลือกตั้งผมเห็นว่ามลรัฐที่คะแนนนิยมสูสีและมีขนาดใหญ่ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด มีอยู่ 7 มลรัฐคือ 1.ฟลอริดา (29) 2.เพนซิลเวเนีย (20) 3.โอไฮโฮ (18) 4.มิชิแกน (16) 5.นอร์ท แคโรไลนา (15) 6.เวอร์จิเนีย (13) และ 7.โคโลราโด (9)
  3. ฐานเสียงกลุ่มประชาชน ที่เป็นฐานเสียงหลักของนางคลินตันคือ เยาวชน คนผิวสี คนเชื้อสายลาตินและเอเชีย ตลอดจนผู้หญิงที่มีการศึกษาและคนเมือง แต่ฐานเสียงกล่าวถึงข้างต้นของนางคลินตัน (เช่น เยาวชนและคนผิวสี/ลาติน/เอเชีย) นั้น มักจะมีสัดส่วนไปลงคะแนนเลือกตั้งต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนางคลินตันไม่ได้รับความนิยมชมชอบอย่างแนบแน่นเหมือนประธานาธิบดีโอบามา ในด้านของนายทรัมนั้น ฐานเสียงหลักคือผู้ชายอายุมาก (60 ปี+) ที่มีการศึกษาน้อยกว่าระดับปริญญาและอยู่ในชนบท ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนในการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่สูง ในการเลือกตั้งปี 2016 นี้ สัดส่วนของผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นคนผิวขาวเท่ากับ 69% คนผิวดำและคนเชื้อสายลาตินกลุ่มละ 12% และคนเชื้อสายเอเชียอีก 4% ดังนั้นคนผิวขาวทั้งชายและหญิงจึงจะยังเป็นฐานเสียงสำคัญ และการสำรวจในเดือนกันยายนพบว่าผู้หญิงส่วนใหญ่สนับสนุนนางคลินตัน แต่ผู้ชายส่วนมากสนับสนุนทรัม

ดังนั้นการที่มีการเปิดโปงเทปนายทรัมกล่าวคำพูดลวนลามผู้หญิงเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา จึงมีผลในทางลบกับนายทรัมอย่างใหญ่หลวง และทำให้เกิดการแตกแยกอย่างรุนแรงในพรรครีพับลิกัน

จะเห็นว่าผู้ชายผิวขาวนั้น แม้จะมีการศึกษาสูง เสียงส่วนใหญ่ก็ยังสนับสนุนนายทรัม แต่ผู้หญิงผิวขาวนั้นชัดเจนว่าสนับสนุนนางคลินตัน โดยนายทรัมได้รับการสนับสนุนจากผู้มีการศึกษาน้อยเป็นหลัก

ในครั้งหน้าผมจะเขียนถึงความแตกต่างของนโยบายของทั้งสองผู้สมัคร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญยิ่งหลังการเลือกตั้ง แต่เป็นเรื่องที่ผมเชื่อผู้ลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่ให้ความสำคัญน้อยกว่า 3 ข้อแรกที่กล่าวถึงในครั้งนี้ครับ