ธุรกิจโดนม้วนเก็บความน่ากลัวยุคเปลี่ยนสู่ดิจิทัล

ธุรกิจโดนม้วนเก็บความน่ากลัวยุคเปลี่ยนสู่ดิจิทัล

ในความเปลี่ยนแปลง มีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ เป็นเรื่องที่พิสูจน์แล้วมาในหลายๆ ธุรกิจ

แม้ภาพกว้างที่หลายๆ คนมองอาจคิดในมุมลบ แต่หากพิจารณาให้ถี่ถ้วนในสถานการณ์โอกาสที่ซ่อนอยู่ ก็อาจกลายเป็นขุมทอง “แสงสว่าง”ของความมืดมนได้เหมือนกัน

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐบาลและเอกชน ต่างพูดถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ สร้างมูลค่าในการทำธุรกิจหรือต่อยอดธุรกิจ เพื่อปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงของบริบทสังคม คำว่า Digital Transformation ยุคการคุกคามจากสื่อดิจิทัลและเทคโนโลยีดิจิทัล ที่รุนแรงและรวดเร็ว เป็นปกติของโลกก็จะมีคนที่ถูกคุกคามจนต้องยอมแพ้ และคนที่สามารถวิ่งหนีการคุกคามและปรับตัวเพื่อเอาชนะศึกนี้ได้

ยิ่งไปกว่านั้นการคุกคามจากหุ่นยนต์ กำลังเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ ไม่ช้าก็เร็วงานของมนุษย์บางส่วนจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์อย่างสมบูรณ์ นิตยสาร Wired สัมภาษณ์ บารัค โอบามา ด้วยคำถาม “เครื่องจักรกล AI เข้ามาแทนที่แย่งงานคนไปหรือไม่” มุมมองของผู้นำบอก ข้อดีของเทคโนโลยีใหม่ งานเก่าๆ จะหายไปและงานใหม่ๆ จะเพิ่มขึ้น แน่นอนว่า AI จะแย่งงานคน แรงงานทักษะต่ำจะอยู่ยาก ส่วนแรงงานทักษะชั้นสูงจะอยู่ได้อย่างสบาย

Robots และ Digital ยังเข้ามาคุกคามและเปลี่ยนแปลงมากกว่าเรื่องของแรงงาน หรือผลกระทบของธุรกิจยุคเก่า กลุ่ม Old Schools ทั้งหลายต้องปิดตัวหรือปรับตัวอย่างหนัก เหมือนที่เราเห็น “นิตยสาร”ชั้นนำในไทยปิดตัวอย่างต่อเนื่อง กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ขายกิจการ 

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ การถูกคืบคลานแต่กลับไม่รู้สึกตัว เมื่อถึงจุดหนึ่ง ก็ไม่มีโอกาสให้ปรับตัวได้แล้ว 

ผลกระทบดิจิทัลไม่ว่าจะเทคโนโลยีหรือหุ่นยนต์ มากกว่าการแทนที่ คือ การกลืนแรงงานด้อยคุณภาพ และกลืนแม้กระทั่งเทคโนโลยีเดิมด้วยกันเอง ด้วยความรวดเร็วแบบที่คาดไม่ถึง

ผมกับเพื่อน ทำงานในสายเทคโนโลยีมาตลอด ก่อนผมจะมาสายการตลาดดิจิทัล สิ่งที่พบบ่อยครั้งในช่วงหลังคือ “กลืน” เราจะเรียกมันว่าการถูกม้วน นึกภาพเรานั่งกับอยู่บนเสื่อยาวๆ มีคนนั่งจำนวนมากและเสื่อก็เริ่มถูกพับเก็บ ค่อยม้วนจากฝั่งหนึ่ง คนที่อยู่ริมเสื่อฝั่งที่ถูกม้วนจะต้องลุกขึ้นไปไม่มีที่นั่ง นั่นเป็นเสมือนตัวแทนของเทคโนโลยี หรือแรงงานที่ไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป แม้แต่ในบริษัทซอฟต์แวร์เอง ที่คิดว่าปรับตัวได้ ยังเจอสภาวะแบบนี้

ครั้งหนึ่ง บริษัทหนึ่งกำลังพัฒนาตัวซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในธุรกิจ ระดมพล จำนวนมากกว่า 100 คนมาอยู่ในโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อนำมาใช้ในเชิงพาณิชและคาดว่าจะทำรายได้มหาศาล แต่กลับถูก “สตาร์ทอัพ” ไม่กี่คนสร้างบริการที่มีความแข็งแรง ผลักดันด้วยความเชื่อ ออกสินค้าออกสู่ตลาดด้วยระยะเวลาอันสั้นกว่า เพราะสามารถดึงโปรแกรมเมอร์จากทั่วโลกที่มีความเชี่ยวชาญและความเชื่อเหมือนกันมาร่วมทำงาน หรือแม้แต่กระทั่งการเปิดเทคโนโลยีออกสู่สาธารณสู่นักพัฒนาทั่วโลก ให้นักพัฒนาได้ใช้เทคโนโลยีกันฟรีเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอด 

นั่นทำให้บริษัทขนาดเล็กสามารถลดเวลาในการพัฒนาและกำลังนักพัฒนาไปได้มากเลยทีเดียว เมื่องาน F8 งาน Conference ประชุมนักพัฒนาทั่วโลกที่จัดขึ้นทุกปีของ Facebook เมื่อสิ้นงานเฟซบุ๊ค เปิดโค้ดเทคโนโลยีบางอย่างให้นักพัฒนาฟรี เปรียบเสมือนทางลัดจาก 100 กิโลเมตรในการเดินทางเหลือเพียงแค่ 100 เมตรเท่านั้น

สิ่งสำคัญที่เหล่าบรรดาธุรกิจต้องปรับตัวที่สุดคือ การรู้ตัวเอง ต้องรู้สึกไวต่อความเปลี่ยนแปลงและเตรียมการให้พร้อมต่อความเปลี่ยนแปลง ให้ความสำคัญและ Take Action อย่างรวดเร็ว กลับไปยัง core competency ของธุรกิจและเปลี่ยนไปในทิศทางที่ควรจะเป็น ตัดสิ่งที่น่าจะเป็นปัญหาทิ้งและมองไปข้างหน้า ตั้งทิศทางใหม่ให้ชัดเจน 

แล้วเราจะผ่านพ้นภัยคุกคามทางเทคโนโลยีได้