ชาวแคะกับแต้จิ๋ว

ชาวแคะกับแต้จิ๋ว

เมื่อสมัยเด็ก ๆ คุณแม่เคยเล่าให้ฟังว่า ลึกเข้าไปในแผ่นดินทางเหนือของแต้จิ๋ว มีถิ่นที่อยู่ของชาวแคะ (ไม่ใช่ “แคระ”

แต่มาจากภาษาจีนที่ว่า “客” อันเป็นชนกลุ่มหนึ่งในจีน หรือที่เรียกกันว่า ชาวฮากกา “客家人”) อยู่กึ่ง ๆ ภูเขา เรียกว่า “ปั๊วซัวแชะ” (半山客) หมายถึง ชาวแคะที่อยู่กึ่งภูเขาบริเวณอำเภอฮงสูง และมีชาวแคะที่อยู่ลึกเข้าไปในภูเขาอีกจำนวนมาก

มณฑลกวางตุ้นนั้น มีลักษณะทางภูมิศาสตร์วางตัวตามแนวตะวันออก-ตกเป็นหลัก เฉพาะปลายด้านตะวันออกสุดของกวางตุ้งมีอำเภออันเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวแต้จิ๋วไล่ตั้งแต่อำเภอเหยี่ยวเพ้ง เตี่ยอัน เถ่งไฮ่ ซัวเถา เตี่ยเอี๊ย กิ๊กเอี๊ย โผวเล้ง หุ่ยไล้ รวมแปดอำเภอ กล่าวกันว่า ชาวแต้จิ๋วแต่ละอำเภอต่างก็มีสำเนียงแต้จิ๋วของตัวเอง ยกเว้นเตี่ยเอี้ย ทั้งนี้ก็เพราะว่าสำเนียงของเตี่ยเอี๊ยเพี้ยนจนชาวแต้จิ๋วอำเภออื่นฟังไม่รู้เรื่อง

ในอดีต อำเภอเตี่ยอันถือว่าเป็นศูนย์กลางการปกครองของบริเวณอำเภอต่างๆ ทางภาคตะวันออกถึงประมาณ 1 ใน 3 ของกวางตุ้ง ภาษาแต้จิ๋วสำเนียงเตี่ยอันจึงถือว่าเป็นมาตรฐานในย่านนี้ แต่ว่า ที่จริงแล้ว อำเภออื่นๆ นอกจาก 8 อำเภอของแต้จิ๋วมีชาวแคะอาศัยอยู่และมีอิทธิพลของวัฒนธรรมอยู่เป็นส่วนใหญ่ กล่าวกันว่า ผู้คนในอำเภอฮงสุง อาจจะมีการเล่นงิ่้วแต้จิ๋วเวลาไหว้บรรพบุรุษ แต่อำเภอที่เลยจากนั้นไม่ได้ถือว่าแต้จิ๋วเป็นบรรพบุรุษและไม่ได้มีความผูกพันอะไรกับวัฒนธรรมแต้จิ่๋วเลย

เท่าที่มีสถิติปรากฏอยู่ในขณะนี้ ชาวแคะภายในและนอกประเทศจีน รวม ๆ กัน มีมากถึงประมาณกว่า 60 ล้านคน แต่ชาวแต้จิ๋วมีเพียงประมาณ 30 ล้านคนเท่านั้น แล้วชาวแคะมีการกระ จายกันที่อยู่อย่างไรบ้าง? เมื่อดูจากตัวเลขประชากรแล้ว จะพบว่ามีการกระจุกตัวอยู่ใน 3 มณฑล คือ ฮกเกี้ยน กวางตุ้ง และ เจียงซี หรือที่ภาษาจีนใช้เป็นคำย่อว่า 闽粤赣 (อ่านว่า หมิ่น เย่ กั้น 闽หมายถึงฮกเกี้ยน 粤หมายถึง กวางตุ้ง และ 赣หมายถึงกั้นโจว อันเป็นบริเวณใต้สุดของเจียงซี) ในสมัยโบราณบริเวณทั้งสามเรียก 汀洲 (ทิงโจว) 嘉应州 (เจียอิ๊งโจว) 赣州 (กั้นโจว) ตามลำดับ

นั่นคือสิ่งที่พูดกันต่อ ๆ มา แต่ในเชิงของตัวเลขจริง ๆ แล้ว อำเภอโหงวฮั้ว, เหล่งเฮง กับกวางโจว (五华宁兴广州) ในปัจจุบัน จะเป็นอำเภอในมณฑลกวางตุ้งที่มีประชากรชาวแคะมากที่สุดประมาณ 1.5 ล้านคน อำเภอหวีตู (于都) ในมณฑลเจียงซี มีประมาณ 1 ล้านคน อำเภอป๋อไป๋ (博白) ในมณฑลกวางสี มีประมาณ 8 แสนคน และอำเภอฉางทิง (长汀) ในมณฑลฮกเกี้ยนประมาณ 6 แสนคน

แต่ถ้าพิจารณาจากลักษณะการกระจายตัวของชาวแคะเป็นภาพรวมจากแผนที่ของประเทศจีนตามภาพประกอบแล้ว จะพบว่า การตั้งถ่ินฐานน่าจะเข้ามาที่กั้นโจวก่อนแล้วจึงเข้ามาที่ภาคตะวันออกของกวางตุ้งและทางใต้ของฮกเกี้ยน แล้วจึงกระจายออกไปที่กวางสี

ตามประวัติศาสตร์จีนแล้ว การอพยพของชาวจีนจากที่ราบภาคกลางของจีน เริ่มต้นที่มณฑลซานซีและส่านซี เกิดขึ้นในราว 5 ระลอกใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ ปลายสมัยราชวงศ์ฉิน จิ้น ถัง ซ่ง หมิง และอาจรวมถึง สมัยพระจักรพรรดิถงจื้อของราชวงศ์ชิง ที่มีกบฎไท่ผิงเทียนกั๋ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวแคะ ระลอกของการอพยพยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดในทางประวัติศาสตร์ การอพยพนั้น เริ่มจากซานซีผ่านเหอหนาน หูเป่ย มาถึงหูหนาน เข้าสู่บริเวณกั้นโจว ซึ่งอยู่ทางใต้ของเจียงซี และกระจายตัวเข้าสู่ทางใต้ของฮกเกี้ยน และทางเหนือของกวางตุ้งตะวันออก หรือทางเหนือของแต้จิ๋ว ส่วนข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุของการอพยพยังไม่เป็นที่สรุป แต่อาจมาจากเหตุผลของสงครามในปลายราชวงศ์ต่าง ๆ แต่ละสมัย และอาจจะมาจากความต้องการหาที่ดินทำกินใหม่ ๆ ก็ได้

โปรดสังเกตว่า บริเวณที่ชาวแคะเข้ามาตั้งถ่ินฐานในบริเวณที่เป็นป่าเขาสูงในบริเวณรอยต่อ 3 มณฑล มีการสันนิษฐานกันว่า เพื่อไม่ให้กระทบกระทั่งกับคนที่อยู่ในท้องถ่ินมาแต่เดิม ซึ่งครอบครองที่ราบที่เพาะปลูกได้ง่าย ตามประวัติศาสตร์แล้ว ชาวฮั่นที่อพยพจากที่ราบภาคกลางมีอีกสายหนึ่งที่เข้ามาที่ฮกเกี้ยนจากเจียงซี ชาวฮั่นพวกนี้ผสมกับชาวผู่เถียนที่เป็นคนท้องถ่ินจนเกิดเป็นวัฒนธรรมหมิ่นหนาน และ มีอีกส่วนหนึ่งที่อพยพต่อไปตั้งรกรากบริเวณปลายด้านตะวันออกของกวางตุ้ง จนเกิดวัฒนธรรมแต้จิ๋วที่เห็นในปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว วัฒนธรรมแต้จิ๋วจะคล้ายกับหมิ่นหนานมากกว่ากับชาวแคะ หรือฮากกา

นักประวัติศาสตร์บางคนสันนิษฐานว่า ชาวแคะอาจผสมกับคนท้องถ่ินที่เป็นอาณาจักรหนานเย่เดิม ที่ถูกปราบโดยพระเจ้าฉินซีฮ่องเต้ แต่ข้อสันนิษฐานนี้ไม่น่าจะเป็นจริง เพราะว่าถ้าหากพิจารณาแผนที่ของอาณาจักรหนานเย่ที่มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่กวางโจวแล้ว จะพบว่า พื้นที่ที่ชาวแคะตั้งถ่ินฐานนั้นมีส่วนทับซ้อนกับอาณาจักรหนานเย่น้อยมาก โดยจะมีเฉพาะบริเวณชายขอบเท่านั้น

แม้ว่าอาณาจักรหนานเย่จะล่มสลายก่อนที่ชาวแคะจะอพยพเข้ามา แต่การที่จะเข้าไปในบริเวณที่ชาวหนานเย่ทำกินอยู่แล้ว คงจะเป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งกัน

กล่าวกันว่า เนื่องจากชาวแคะอยู่อาศัยแต่ในป่าเขาและไม่ค่อยเห็นความเจริญในตัวเมือง เมื่อเข้าเมืองแล้วจึงมักเที่ยวเตร่ ผู้ชายชาวแคะจึงมักเป็นคนเสเพล ส่วนชาวแต้จิ๋วมีอาชีพประมงต้องออกเรือนาน ผู้ชายแต่จิ๋วจึงมักเล่นการพนันเนื่องจากมีเวลาว่างในเรือ ส่วนในเชิงของอาชีพการเพาะปลูกอาจจะเป็นอาชีพหลักของชาวแคะ แต่เนื่องจากอยู่ในป่าเขาจึงมักใช้เวลาว่างเรียนหนังสือและสอบเข้ารับราชการเป็นหลัก ดังนั้นร้อยละ 80 ของข้าราชการจึงเป็นชาวแคะ ส่วนร้อยละ 80 ของชาวแต้จิ๋วมักเป็นผู้ที่ทำมาค้าขาย นี่คือสิ่งที่สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยทำให้แตกต่างกัน