ประชากรกับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย (2)

ประชากรกับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย (2)

ครั้งก่อนผมเขียนถึงแนวโน้มประชากรไทยซึ่งจำนวนโดยรวมเกือบจะไม่เปลี่ยนแปลงใน 25 ปีข้างหน้า กล่าวคือวันนี้มี 65 ล้านคน

ในอีก 25 ปีข้างหน้า ก็จะมีน้อยกว่า 64 ล้านคนเล็กน้อย ตามการประเมินของสภาพัฒน์ฯ แต่จะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะที่จำนวนคนในวัยทำงานและเยาวชนลดลงอย่างมาก โดยสรุปคนที่อยู่ในวัยทำงานจะลดลงจาก 43 ล้านคนเหลือเพียง 35 ล้านคนในไม่ถึง 25 ปีข้างหน้า แต่จะมีภาระต้องผลิตสินค้าและบริการเพียงพอที่จะเลี้ยงดูตัวเอง และรับภาระเลี่ยงดูผู้สูงอายุและลุกหลานของตัวเองที่จำนวนจะเพิ่มขึ้นจาก 22.3 ล้านคนเป็น 28.7 ล้านคน

หากมองปัญหานี้ในส่วนของบุคคลก็จะต้องพยายามพัฒนาตัวเองให้มีศักยภาพสูงขึ้นในการทำงานหาเงินและจะต้องทำงานหนักงานขึ้น ตลอดจนจะต้องมีสินทรัพย์และมีเงินเก็บมากขึ้นเพียงพอที่จะเหลือเอาไว้ใช้ตอนแก่ตัว โดยก่อนหน้านั้นจะต้องให้การศึกษาที่ดีกับลูกหลาน และหากทำได้ก็จะเหลือทรัพย์สมบัติให้ลูกหลานได้บ้าง นอกจากนั้นก็จะต้องพยายามดูแลเรื่องของการรักษาสุขภาพและการรักษาพยาบาลตนเองที่รายจ่ายจะต้องเพิ่มขึ้นตามลำดับโดยไม่ให้เป็นภาระของลูกหลานและญาติพี่น้อง

แต่แนวทางในการบริหารจัดการในระดับบุคคลนั้นแตกต่างจากการแก้ปัญหาในระดับประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เพราะในส่วนของประชาชนนั้น สิ่งแรกที่นึกถึงคือการเก็บเงินให้มีเงินมากขึ้นเพราะเงินนั้นคือ “กำลังซื้อ” ที่เก็บเอาไว้ใช้ได้ในอนาคต แต่สำหรับประเทศนั้นการเก็บ “กระดาษ” หรือบัญชีอิเล็กทรอนิคในธนาคารนั้นไม่มีความหมาย และไม่ตอบโจทย์หลักคือจะทำอย่างไรให้คนในวัยทำงานที่ลดลงจาก 43 ล้านคนมาเหลือ 35 ล้านคนใน 25 ปีข้างหน้าจะยังสามารถผลิตสินค้าเพียงพอที่จะเลี้ยงดูตัวเองและมีสินค้าและบริการเหลือให้นำไปเลี้ยงดูลูก+หลานและพ่อแม่ของตนและยังมีทรัพยากรเหลือเพื่อเอาไปให้กับคนอื่นๆ ที่ไม่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ โดยกลุ่มหนึ่งจะมีเงินเก็บ แต่ก็ต้องมีผู้ผลิตสินค้าและบริการส่วนเกินมาให้ซื้อใช้และอีกกลุ่มจะต้องรอให้รัฐเก็บภาษีจากผู้อื่นมามอบเงินให้นำไปใช้ (transfer payments) ทั้งนี้ในกรอบที่รัฐบาลตั้งเป้าเอาไว้ด้วยว่าประเทศไทยจะต้องพัฒนาไปจนหลุดออกจากการเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง (middle income) ไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายใน 25 ปีข้างหน้า กล่าวคือในขณะที่มีคนวัยทำงาน 43 ล้านคนยังทำไม่ได้แล้วทำไมจึงจะทำได้เมื่อเหลือคนในวัยทำงานเพียง 35 ล้านคนใน25 ปีข้างหน้า

คำตอบนั้นมีอยู่ 2 ประการในความเห็นของผมคือ

  1. ต้องแสวงหาปัจจัยการผลิตอื่นๆ มาเสริม ทำให้ผลผลิตต่อประชากรในวัยทำงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและอย่างเร่งรีบ เช่น การพัฒนาการศึกษา การสร้างโรงงานผลิตสินค้า (ที่มีอุปสงค์รองรับ) การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (ที่ให้ผลตอบแทนสูงไม่ใช่สร้างมากเกินไปจนขาดทุนในเชิงเศรษฐกิจ) ตลอดจนการจัดคลื่น 4G และ5G ให้เพียงพอในโลกที่กำลังเข้าสู่ยุค internet of things เป็นต้น (ตามที่ผมเคยเขียนเมื่อเดือนที่แล้วว่ารัฐบาลประมูลคลื่นให้เอกชนเพียง 150 MhZ ในราคาแพง ในขณะที่ประเทศเช่นสิงคโปร์ที่มีประชากร 1/10 ของไทยจัดสรรคลื่น 480 MhZ)
  2. เพิ่มจำนวนประชากรที่อยู่ในวัยทำงานคือแทนที่จะให้เกษียณอายุ 60 ก็ต้องเกษียณอายุ 65 ปีทันทีและปรับขึ้นไปเกษียณอายุ 70 ปี ตั้งแต่ปี 2035 เป็นต้น แต่ในอีกด้านหนึ่งในยุค Digital Economy นั้นไม่ควรให้เด็กอายุ 15-19 ปี เข้าสู่ตลาดแรงงาน เพราะยังมีการศึกษาไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงควรปรับสัดส่วนผู้ที่อยู่ในวัยทำงานจาก 15-59 ปี มาเป็น 20-65 ปี และ20-70 ปี ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ขนาดของแรงงานของประเทศไทยก็จะทรงตัวอยู่ประมาณ 42 ล้านคนดังปรากฏในตาราง

จะเห็นได้ว่าหากยืดอายุการทำงานจากที่เคยให้เกษียณอายุ 60 ปีมาเป็น 65 ปีและปรับเพิ่มขึ้นอีกเป็น 70 ปี ตั้งแต่ปี 2035 ผลที่ตามมาคือจำนวนแรงงานจะทรงตัวอยู่ที่ 42-43 ล้านคน ทำให้ภาระทางเศรษฐกิจโดยรวมลดลงอย่างมาก แต่ทั้งนี้หมายความว่าจะต้องมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมในการให้การศึกษาและอบรมให้กับแรงงานในวัย 15-19 ปีและวัย 60-70 ปี ทำให้มีศักยภาพจริงในยุค Digital Economy และต้องมีระบบสาธารณะสุขที่ส่งเสริมให้คนอายุ 60-70 ปี ยัมีสุขภาพแข็งแรงและสามารถทำงานได้เต็มเวลาเท่ากับคนอายุ 20-60 ปีครับ