ศุกร์ เว้น ศุกร์: ทำมาพิบาน

 ศุกร์ เว้น ศุกร์: ทำมาพิบาน

ผู้บริหารมักพูดว่าองค์กรของเขามีธรรมาภิบาล แต่จริงๆแล้วเขาอาจสะกดว่า ทำมาพิบาน ก็ได้... คือมันไม่มีความหมายอะไรเลย

     

      ไม่น่าเชื่อว่า ความวุ่นวายของการบริหารมหาวิทยาลัย จะเกิดขึ้นรุนแรงจนหัวหน้า คสช. ต้องใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 12 กรกฏาคม 2559 เพื่อแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลที่มหาวิทยาลัย 

      คำสั่งครั้งนั้น ระบุว่าให้มีผลใช้บังคับทันทีกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ และถ้าสถาบันอื่นมีปัญหาความขัดแย้งที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยมาตรการปกติ ก็จะมีประกาศ คสช. ออกมาอีกในภายหลัง

      วันที่ 3 ตุลาคม คสช. ประกาศให้มหาวิทยาลัยบูรพา และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก อยู่ภายใต้ข้อบังคับของ คำสั่ง คสช. ด้วย ทั้งสองสถาบันมีปัญหาธรรมาภิบาลเรื้อรัง จนต้องแก้ไขเร่งด่วนด้วยวิธีนี้

      หลังมีคำสั่ง คสช. เมื่อเดือนกรกฏาคม ก็มีกระแสข่าวระบุชื่อมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งที่อยู่ในคิวว่าน่าจะถูก “เชือด” บางแห่งเป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ สรรหาอธิการบดียืดเยื้อมานาน บางแห่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ สั่งให้ตกอยู่ในการควบคุมของ สกอ. บางแห่งเปิดรับนักศึกษามากกว่าที่ สกอ. กำหนดไว้ ถึง 3-4 เท่า ฯลฯ

      มหาวิทยาลัยบูรพาก็มีชื่ออยู่ใน​ “โผ” ที่สื่อมวลชนได้นำมาเผยแพร่ในช่วงเวลานั้นด้วย ซึ่งครั้งนี้ ก็ประกาศชื่อออกมาชัดเจนแล้ว 

      สถาบันอุดมศึกษา เป็นองค์กรที่เพรียบพร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ  ผมคิดว่าเราพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็น “สังคมอุดมปัญญา” เพราะคณาจารย์สำเร็จปริญญาเอก ปริญญาโท จำนวนมากมาย มีตำแหน่งทางวิชาการสูง และคนที่เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภา​ฯ รวมทั้งอธิการบดีและคณะผู้บริหาร ก็ได้รับความเคารพจากคนในสังคมตลอดมา

      แต่บางแห่งกลับมีปัญหาวุ่นวาย ทั้งๆที่มีสติปัญญากันทุกคน แก้ปัญหากันเองไม่ได้ ยืดเยื้อเรื้อรัง จนบางครั้งมีการทำลายทรัพย์สิน ซึ่งไม่น่าเกิดขึ้นได้ในสังคมอุดมปัญญาเช่นนี้

      ผมติดตามธรรมาภิบาลมา 20 ปี มีความเห็นว่า “บริษัทเอกชน” เป็นแห่งแรกที่ปัญหาธรรมาภิบาลได้ปรากฏชัดขึ้น ในช่วงที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง และนักลงทุนสถาบันจากต่างประเทศ กดดันให้แก้ไข ถ้าไม่ทำอะไร เขาก็จะไม่เข้ามาลงทุน

      จากนั้น “รัฐวิสาหกิจ” ก็เป็นรายต่อไป เพราะมีเรื่องราวของความไม่มีธรรมาภิบาลเกิดขึ้นที่นั่นบ้าง ที่นี่บ้าง ให้สังคมได้เห็นตลอดเวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน กระทรวงการคลังจึงกำหนดมาตรการออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้รัฐวิสาหกิจพัฒนาธรรมาภิบาลให้ดีขึ้น ล่าสุดก็กำลังออกกฏหมายที่จะจัดตั้ง “บรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ” ซึ่งน่าจะมีผลใช้บังคับต้นปี 2560 นี้

      คราวนี้ถึงเวลาของ “มหาวิทยาลัย” ซึ่งมีเรื่องความขัดแย้งในการบริหาร ที่โน่นบ้าง ที่นี่บ้าง เกิดขีึ้นเป็นระยะๆอยู่แล้ว เป็นข่าวบ้าง ไม่เป็นข่าวบ้าง ล่าสุดต้นปีนี้ มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง เป็นข่าวใหญ่ต่อเนื่องหลายสัปดาห์ เมื่อมีความขัดแย้งในระดับกรรมการสภาฯ และการตีความว่าใครคืออธิการบดีกันแน่ ซึ่งก็มีผลกระทบต่อจิตใจของนักศึกษาที่กำลังจะรับปริญญาในช่วงนั้นพอดี

      สรุปได้ว่าโครงสร้างการกำกับดูแลมหาวิทยาลัย ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีปัญหาที่จะต้องได้รับการแก้ไข เท่าที่ผมอ่านคำสั่ง คสช. ฉบับวันที่ 12 กรกฏาคม 2559 นั้น นอกจากจะกำหนดวิธีการที่จะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นแต่ละแห่งให้จบลงโดยเร็วแล้ว ยังมีความพยายามที่จะจัดโครงสร้างธรรมาภิบาลในอนาคต ให้ดีขึ้นอีกระดับหนึ่งด้วย

      เช่นระบุไว้ว่า นายกสภามหาวิทยาลัย จะต้องรับตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย ไม่เกิน 3 แห่ง กรรมการสภาฯ ได้ไม่เกิน 4 แห่ง และนายกสภาฯ รวมทั้งกรรมการสภาฯ ไม่มีสิทธิได้รับค่าเบี้ยประชุมและสิทธิประโยชน์อื่นใดจากมหาวิทยาลัย นอกจากตำแหน่งดังกล่าวเท่านั้น ยกเว้นได้รับความเห็นชอบจาก รมว. ศึกษาธิการ ฯลฯ

      เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ผมไปช่วยตลาดหลักทรัพย์ฯ และต่อมาก็ไปช่วยกระทรวงการคลัง ในการกำหนดกติกาเกี่ยวกับธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนและของรัฐวิสาหกิจ ตามลำดับ ในยุคแรกนั้น ประเด็นที่เราทำกันก็เป็นเรื่อง โครงสร้างของคณะกรรมการ ว่าควรมีจำนวนเท่าใด องค์ประกอบและคุณสมบัติของกรรมการควรเป็นเช่นใด ควรเป็นได้กี่แห่ง ต่อมาก็พูดถึงค่าตอบแทนที่เหมาะสมฯลฯ ซึ่งวันนี้ ก็เริ่มแก้ไขประเด็นเหล่านี้ที่มหาวิทยาลัยกันแล้ว

      ถึงแม้การใช้ ม.44 ครั้งนี้ จะทำให้การแก้ปัญหาธรรมาภิบาลมหาวิทยาลัยได้ผลเร็วขึ้น แต่ผมคิดว่าไม่เพียงพออย่างแน่นอน ที่จะต้องเร่งทำในเวลาเดียวกันก็คือ การ “ปฏิรูปโครงสร้างและกลไกธรรมาภิบาลของมหาวิทยาลัย” อย่างครบวงจร โดยนำองค์ความรู้เกี่ยวกับธรรมาภิบาลที่เราได้เรียนรู้กันใน 20 ปีที่ผ่านมา สังเคราะห์และประยุกต์ใช้กับมหาวิทยาลัย เพื่อให้ได้กติกาธรรมาภิบาลที่แข็งแรงและยั่งยืน

      เราแก้ไขธรรมาภิบาล จากบริษัทมหาชน จนถึงรัฐวิสาหกิจ และนาทีนี้ ก็ถึงมหาวิทยาลัยแล้ว ผมอดคิดไม่ได้ว่าเมื่อไรจะถึง “วัด” เสียที เพราะวัดวาอารามของเราก็มีอาการธรรมาภิบาลชำรุด จนชาวพุทธสุดจะทน เวียนวนอยู่หลายแห่ง เช่นกัน

      “ทำมาพิบาน” ของสถานแห่งธรรม ซึ่งอาจจะแปลว่า “ทำไปทำมา ปัญหาเบ่งบาน” จะได้เป็น “ธรรมาภิบาล” จริงๆเสียที....

      แต่ว่าใครจะเป็นคนทำล่ะ