สร้างความยั่งยืนธุรกิจ ต้องพัฒนาแบบคลัสเตอร์

สร้างความยั่งยืนธุรกิจ ต้องพัฒนาแบบคลัสเตอร์

กรณีศึกษาถึงการรวมตัวกัน ของผู้ประกอบการค้าปลีก สินค้าประเภทเดียวกัน

ในย่านค้าปลีกดั้งเดิม ดึงดูดผู้บริโภคได้ดีสร้างการเติบโตแบบธรรมชาติ (Organic Growth) นำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนมีตัวอย่างชัดเจน ตามผลวิจัยของ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ประเทศไทยมีตัวอย่างของความสำเร็จดังกล่าว อาทิ ย่านการค้าประตูน้ำเพื่อขายเครื่องแต่งกาย ย่านวรจักรเพื่อขายอะไหล่ ย่านบ้านหม้อเพื่อขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ย่านการค้าดั้งเดิมเหล่านี้ส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยมากกว่า 70 ปีขึ้นไป และผู้ประกอบการในย่านดังกล่าวทำการค้าขายมานานกว่า 30 ปี สะท้อนถึงการตอบโจทย์การทำธุรกิจค้าปลีกแบบยั่งยืนอย่างแท้จริง

คนไทยมีความผูกพันกับการทำธุรกิจค้าปลีกรูปแบบดั้งเดิม อันเป็นยุคแรกของกิจการค้าปลีกจนทำให้เกิดเป็น ย่านการค้าปลีก ต่างๆ มากมาย ต่อมารูปแบบการค้าปลีกมีการเปลี่ยนแปลงไป ตามยุคสมัยและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตตามสภาพเศรษฐกิจ จนทำให้เกิดรูปแบบการค้าปลีกสมัยใหม่ อาทิ ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ และไฮเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมสินค้าหลากหลายชนิด ทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค อำนวยความสะดวกในลักษณะครบวงจร

ท่ามกลางพัฒนาการของย่านการค้าปลีกสมัยใหม่ ทำให้เกิดข้อสงสัยถึงปัจจัยของความสำเร็จอย่างยั่งยืน ของย่านการค้าปลีกดั้งเดิม เป็นที่มาของโจทย์วิจัย การก่อตั้งและความยั่งยืนของย่านค้าปลีกสินค้าชนิดเดียวกันในเมืองใหญ่  โดยได้ทำการสำรวจธุรกิจค้าปลีกในกรุงเทพฯ ที่มีร้านค้าปลีกสินค้าประเภทเดียวกันภายในบริเวณ 5 เมตร จำนวน 14,468 ร้าน ใน 299 ย่านธุรกิจค้าปลีกทั่วกรุงเทพฯ พบว่า การประกอบธุรกิจค้าขายในย่านการค้าดั้งเดิมมีโอกาสที่ยั่งยืนมากกว่าการค้าขายในห้างสรรพสินค้า เห็นได้จากย่านการค้าดั้งเดิมต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯที่มีอายุเฉลี่ยมากกว่า 70 ปีขึ้นไป อาทิ บางลำพู สำเพ็ง โบ๊เบ๊ วรจักร ฯลฯ และมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ประกอบการค้าปลีกในย่านดังกล่าวทำการค้าขายมานานกว่า 30 ปี ซึ่งผู้ประกอบการค้าปลีกเป็นผู้เช่าพื้นที่และอาจโดนบังคับให้ย้ายออกได้ทุกเมื่อ

การรวมตัวกันของผู้ประกอบการค้าปลีก สินค้าประเภทเดียวกันหรือเรียกว่า คลัสเตอร์ (Cluster) เป็นการอยู่ร่วมกันแบบส่งเสริมกัน เพิ่มแรงในการดึงดูดผู้บริโภคให้เข้ามาเลือกชมสินค้า สามารถเปรียบเทียบกันระหว่างร้านค้า และให้เกิดการแข่งขันกันภายในย่านการค้าเดียวกัน ทำให้เกิดการเจริญเติบโตแบบธรรมชาติกลายเป็นการเติบโตอย่างยั่งยืน

โดยหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ทำให้ย่านธุรกิจค้าปลีก สินค้าประเภทเดียวกันประสบความสำเร็จในประเทศไทย คือ พฤติกรรมผู้บริโภคของคนไทย ซึ่งเมื่อต้องการซื้อสินค้าประเภทใดประเภทหนึ่ง จะคำนึงถึงย่านการค้าที่มีชื่อเสียงในสินค้าประเภทนั้นๆ ก่อนเป็นอันดับแรก เช่น ต้องการซื้อเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจะนึกถึงย่านประตูน้ำ ต้องการซื้ออะไหล่จะนึกถึงย่านวรจักร ต้องการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าจะนึกถึงย่านบ้านหม้อ ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในย่านการค้าเหล่านี้เป็นอย่างมาก ทางกลับกันจำนวนผู้บริโภคที่ไปห้างสรรพสินค้า เพื่อเดินเล่น เลือกชมสินค้าต่างๆ และรับประทานอาหารที่ร้านอาหารมีมากกว่า

ไม่ว่ายุคไหน การ รวมพลัง ย่อมสร้างความแข็งแรงให้ธุรกิจดีกว่าอยู่ลำพังคนเดียว