ตลาดซื้อขายทองคำในจีน

ตลาดซื้อขายทองคำในจีน

ตลาดซื้อขายทองคำในจีน

ทองคำนับเป็นสินทรัพย์ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในหลายด้าน ไม่ว่าในฐานะวัตถุดิบสำคัญของหลายอุตสากรรม เช่น อิเล็กทรอนิกส์และทันตกรรม เป็นต้น ทองยังมีบทบาททางการเงินในฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศ (Central Bank Reserve) และทองยังเป็นสินทรัพย์ที่ประชาชนนิยมใช้สะสมความมั่งคั่ง โดยเฉพาะในเอเชียนั้น มีความนิยมในการเก็บออมด้วยทองคำ จากบทบาทของทองคำในระบบเศรษฐกิจ ทำให้ผู้กำหนดนโยบายในหลายประเทศต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาตลาดซื้อขายทองคำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในกลุ่มเอเชียที่เป็นภูมิภาคที่มีความต้องการทองคำเป็นสัดส่วนสูงถึง 76% ของปริมาณความต้องการทองคำโลกในครึ่งแรกของปี 2016 นำโดยประเทศจีนที่มีความต้องการทองคำคิดเป็นประมาณหนึ่งในสามของตลาดโลก ทั้งนี้ การพัฒนาตลาดซื้อขายทองคำของประเทศจีน นับเป็นกรณีศึกษาที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีขนาดใหญ่และมีการเติบโตที่รวดเร็ว

การซื้อขายทองคำในประเทศจีนในอดีตนับแต่ปี 1950 เป็นต้นมา อยู่ภายใต้การควบคุมของภาครัฐ ก่อนที่ ธนาคารกลางจีน (PBoC) จะเริ่มเปิดเสรีการซื้อขายทองคำในช่วงปี 1990–2000 เพื่อพัฒนาการซื้อขายทองคำในประเทศ และเป็นหนึ่งในกลไกรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจจีน ซึ่งต่อมาภาครัฐของจีนได้ดำเนินนโยบายอย่างต่อเนื่องผ่านการจัดตั้งศูนย์ซื้อขายทองคำ โดยปัจจุบัน จีนมีทั้งตลาดซื้อขายทองคำแบบส่งมอบทันที (Spot) และตลาดซื้อขายทองคำล่วงหน้า (Gold futures)

Shanghai Gold Exchange หรือ SGE นับเป็นตลาดซื้อขายทองคำแบบ Spot ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก SGE เริ่มเปิดซื้อขายอย่างเป็นทางการในปี 2002 โดยจำกัดให้เฉพาะภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการเงินสามารถซื้อขายได้ ก่อนจะเปิดเสรีให้แก่ประชาชนทั่วไปซื้อขายทองคำแท่งเพื่อการลงทุนได้ในปี 2007 ปัจจุบัน SGE มีการซื้อขายโลหะมีค่าหลายประเภท เช่น ทองคำ เงิน แพลตตินั่ม เป็นต้น โดยทองคำเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างมากและมีการซื้อขายในหลากหลายรูปแบบ เช่น รูปแบบของ Gold Spot T+0 ที่ผู้ลงทุนต้องมีทองคำหรือมีเงินเต็มจำนวนก่อนการซื้อขาย รูปแบบที่เป็น T+2 ซึ่งผู้ซื้อผู้ขายสามารถใช้เงินวางประกันเพียงร้อยละ 20 แต่ฐานะที่เหลืออยู่ ณ สิ้นวันจะต้องมีการรับมอบทองคำและส่งมอบเงินค่าซื้อทองคำกันภายในวันที่ T+2 นอกจากนี้ ยังมีการซื้อขายทองคำในรูปแบบที่เรียกว่า T+D ซึ่งก็คือ Deferred Gold Contract นั่นเอง โดยเป็นการซื้อขายทองคำที่ไม่ต้องวางเงินเต็มทั้งจำนวนก่อนซื้อขาย และยังให้โอกาสผู้ลงทุนในการเลื่อนการส่งมอบรับมอบทองคำ (Physical Delivery) ออกไปตามที่ผู้ลงทุนต้องการได้โดยจะต้องมีการจ่ายค่าธรรมเนียม Deferred Fee ซึ่งเปรียบเสมือนดอกเบี้ยที่ฝ่ายที่ขอเลื่อนการส่งมอบจ่ายให้กับอีกฝ่ายที่ถูกเลื่อนการส่งมอบนั่นเอง นอกจากนี้ SGE ยังมีการซื้อขายสินค้าที่เป็น Forward, Swap และ Options เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับภาคธนาคารและสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในการซื้อขายรวมถึงธุรกรรมการให้ยืมทองคำอีกด้วย

ในปัจจุบัน SGE เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมตลาดจากต่างประเทศสามารถเข้ามาซื้อขายได้ในกระดานที่เรียกว่า International Board (ผู้ลงทุนบุคคลในประเทศไม่สามารถซื้อขายใน International Board) เพื่อรองรับนโยบายด้าน International ของจีนและเป็นการสนับสนุนให้ธุรกรรมทองคำของจีนให้มีบทบาทมากขึ้นในตลาดโลก โดยล่าสุด SGE ได้มีการจัดทำราคา Fixing เพื่อให้เป็นราคาอ้างอิงสำหรับการทำธุรกรรมทองคำในลักษณะเดียวกับการทำ Fixing ของ LBMA (London Bullion Market Association) โดย SGE ได้ส่งเสริมให้ประเทศต่างๆ นำ Benchmark ดังกล่าวไปใช้เพื่อเป็นราคาอ้างอิงสำหรับออกผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ Benchmark ดังกล่าวเป็นที่ได้แพร่หลายต่อไป

นอกจาก SGE แล้ว จีนยังมีการซื้อขายทองคำล่วงหน้า (Gold Futures) ในตลาด Shanghai Futures Exchange (SHFE) โดยอ้างอิงกับทองคำหนัก 1 กิโลกรัม และมีสัญญาที่หมดอายุไกลที่สุด 1 ปี และเป็นสัญญาประเภทที่กำหนดให้มีการส่งมอบรับมอบทองคำ (Physical Delivery) เมื่อสัญญาสิ้นสุดอายุ ทั้งนี้ SHFE เริ่มเปิดซื้อขาย Gold Futures ในปี 2008 และในปี 2013 ก็เริ่มเปิดซื้อขายในช่วง Night Trading Session ซึ่งเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับการซื้อขายทองคำในตลาด London และ COMEX ส่งผลให้ราคาทองคำในจีนมีความสัมพันธ์กับราคาทองคำในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น จากการซื้อขาย Gold Futures ใน SHFE นับเป็นการสร้างเครื่องมือในการลงทุนและบริหารความเสี่ยงให้แก่ผู้ลงทุนและทำให้จีนมีสินค้าที่เกี่ยวกับทองคำครบวงจร

จะเห็นได้ว่า จีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาตลาดทองคำอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งศูนย์การซื้อขายทองคำแบบ Physical (Gold Spot, Gold Spot-deferred) และการจัดให้มีเครื่องมือบริหารความเสี่ยง (Gold Futures) ที่ครบถ้วน รวมถึงการจัดทำ Benchmark ด้านราคาทองคำ ทั้งนี้ เพื่อให้มีเครื่องมือในการลงทุนและการบริหารความเสี่ยงรวมถึงราคาอ้างอิงอย่างครบถ้วน นอกจากนี้ การซื้อขายทองคำในศูนย์ซื้อขายที่มีมาตรฐานและมีการกำกับดูแลจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยพัฒนาตลาดทองคำของจีนไปสู่ระดับภูมิภาคและสากล โดยจะเห็นได้ว่าปริมาณการซื้อขายทองคำใน SGE ซึ่งอยู่ต่ำกว่า 2,000 ตันต่อปี ในช่วงก่อนปี 2007 มีการปรับตัวขึ้นมากกว่า 2 เท่าในปี 2008 ที่ SHFE เริ่มเปิดซื้อขาย Gold Futures และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดในปี 2015 ปริมาณการซื้อขายทองคำใน SGE อยู่ที่ระดับสูงถึง 14,546 ตัน (ข้อมูลจาก Reuter)

สำหรับประเทศไทย ผู้ลงทุนสามารถซื้อขายทองคำได้ในหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อทองคำแท่งโดยตรงจากร้านค้าทองคำ การลงทุนใน Gold ETF ผ่านตลาดหลักทรัพย์ รวมถึง Gold Futures ในตลาด TFEX แต่ไทยยังขาดศูนย์ซื้อขายทองคำแบบ Physical อันเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาตลาดซื้อขายทองคำของประเทศ ดังเช่นตลาด SGE ของประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆ นี้ TFEX จะมีการซื้อขาย TFEX Gold-D ซึ่งเป็นสัญญาที่ผู้ลงทุนสามารถซื้อขายในลักษณะเดียวกับ Gold Futures แต่สามารถขอรับมอบส่งมอบทองคำแบบ Physical Delivery ได้ทุกวัน อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ลงทุนที่ยังไม่ต้องการรับมอบส่งมอบทองคำ ก็สามารถขอเลื่อนการรับมอบส่งมอบได้ (Deferred) จนกว่าสัญญา Gold-D จะหมดอายุ ซึ่ง Gold-D นี้จะตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนในแง่ของการสร้างโอกาสทำกำไรตามการคาดการณ์ราคาทองคำ รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้สามารถลงทุนในระยะยาวได้ และ Gold-D ยังทำให้มีสินค้าเกี่ยวกับทองคำที่ครบถ้วนและสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นศูนย์กลางการซื้อทองคำในอนาคต