นโยบายสาธารณะว่าด้วยการท่องเที่ยวและการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นโยบายสาธารณะว่าด้วยการท่องเที่ยวและการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นโยบายสาธารณะว่าด้วยการท่องเที่ยวนั้นที่จริงมีหลากหลายมาก ในด้านดีมานด์ก็คือ นโยบายการตลาด เช่น การประชาสัมพันธ์

การพยายามดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยให้มากๆ การสร้างแบรนด์ หรือที่เป็นนโยบายใหม่ คือการเพิ่มวันหยุดให้ข้าราชการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ส่วนด้านซัพพลายก็ได้แก่ การดูแลแหล่งท่องเที่ยวและสาธารณูปโภค ที่มักไม่เคยคิดถึงกันก็คือ นโยบายด้านภาษีและค่าธรรมเนียม ซึ่งที่จริงเป็นด่านหรือขั้นตอนแรกที่ประเทศของเราได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว และเป็นประโยชน์ที่คนไทยทุกคนได้รับร่วมกันจากการที่เราใช้สมบัติส่วนรวมคือทรัพยากรท่องเที่ยวและวัฒนธรรมไปแลกมา

ยกตัวอย่างชัดๆ ก็คือเพิ่มวันหยุดราชการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเพิ่มวันหยุดทำให้คนอยากท่องเที่ยวก็จริง และทำให้ GDP ที่เกิดจากการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นก็จริง แต่การหยุดราชการทำให้ GDP ที่ผลิตโดยภาคราชการหายไป (ถ้าเราเชื่อว่าภาคราชการสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม!) รวมทั้ง GDP ของภาคเอกชนที่หยุดตามราชการก็หายไปด้วย GDP ของภาคเอกชนที่ต้องอาศัยการติดต่อกับหน่วยทำงานของรัฐ (เช่น ออกใบอนุญาตต่างๆ แก้ไขปัญหาข้อร้องเรียน ฯลฯ) ลดลง และยังเพิ่มต้นทุนภาคเอกชน เพราะหากการหยุดเพื่อเศรษฐกิจเป็นวันหยุดแห่งชาติ ภาคเอกชนจะมีภาระการจ่ายค่าจ้างแรงงานมากขึ้นเพราะถือว่าเป็นโอที ที่ไม่ยุติธรรมกับประชาชนก็คือ ข้าราชการมีวันหยุดที่ไม่ต้องบริการประชาชนเพิ่มขึ้นโดยไม่มีการทดแทน วิธีการที่ควรทำคือ อนุญาตให้ข้าราชการที่ต้องการวันหยุดต่อเนื่องเพื่อให้ได้วันหยุดยาว หยุดได้โดยการทำงานแลกกับวันเสาร์อาทิตย์ถัดๆ มา ถ้าเป็นหน่วยงานราชการที่ให้บริการประชาชนโดยตรงทุกวัน ก็ให้ประกาศเลยว่าจะมีการมาเพิ่มบริการให้ประชาชนในวันเสาร์ถัดมา ถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะแฮปปี้กันถ้วนหน้า

ถ้ารัฐบาลไม่แน่ใจว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจได้ผลอย่างไร ก็สามารถสั่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒน์ฯ นิด้า หรือขอร้องให้หน่วยวิจัยของธนาคารยักษ์ใหญ่ทำการประเมินแบบ Simulation โดยใช้โมเดลดุลยภาพทั่วไปมาดูว่า GDP ที่ได้ในสถานการณ์หยุดฟรีให้ราชการเทียบกับไม่หยุด และกับการปล่อยให้ข้าราชการเลื่อนวันหยุดว่า GDP จะต่างกันอย่างไร เมื่อทราบแล้วการวางนโยบายก็จะถูกต้องมากขึ้น หากยังไม่ทำผู้เขียนก็ขอสนับสนุนคุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไว้ก่อน ที่ไม่เสนอ ครม. ให้เพิ่มวันหยุดในเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพราะเห็นว่ายังมีกิจกรรมอื่นที่สามารถนำมาใช้สนับสนุนการท่องเที่ยวได้

ในช่วง low season เช่นเดือนกันยายน ซึ่งเป็นเดือนที่นักท่องเที่ยวน้อย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวควรใช้เดือนนี้เป็นเดือน “พัก” ให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฟื้นตัว เป็นเดือนที่ใช้ซ่อมแซมอาคาร วัสดุปกรณ์ ซึ่งในอุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing industries) ไม่ว่าที่ใดก็ต้องมีช่วงที่เครื่องจักรต้องมีเวลาพัก (Machine downtime) เพื่อการบำรุงรักษาประจำปี ในยุโรปผู้ประกอบการจะใช้เวลานี้ปิดกิจการเพื่อไปพักผ่อนด้วยซ้ำ ในช่วงนี้ยังเป็นฤดูฝนที่รถติดมาก หากต้องการมีกิจกรรมส่งเสริม ก็ควรเป็นกิจกรรมที่เป็นอีเว้นท์ประเภทมหกรรมลดราคา ช้อปปิ้ง อาหาร ดนตรี ซึ่งก็ทำกันอยู่ประจำตามห้างที่มี BTS ซึ่งก็เป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว

นอกจากนี้ ในเดือนนี้แม้จะเป็น low season สำหรับการท่องเที่ยว แต่เป็น hi-season สำหรับการประชุม เพราะเป็นเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ ควรใช้ให้หมดภายในเดือนนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ควรยกข้ามปีไปจัดใน hi-season ซึ่งมีความต้องการอยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว

ถ้าจะถามว่ายังมีความจำเป็นอยู่ไหมที่จะโหมกระพือให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาประเทศไทยให้มากๆ กว่านี้ คำตอบก็คือ เราไม่ต้องการให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มเร็วกว่านี้แล้ว แต่เราต้องการเพิ่มรายได้ต่อหัว ลองมาดูรายได้ท่องเที่ยวไทยในตาราง

จะเห็นได้ว่าไทยแลนด์ไม่ใช่กระจอก เราเป็นผู้มีรายรับสูงที่ 5 ของโลกและรายได้สุทธิลำดับ 3 ของโลก เราเป็นหงส์เหิน เราควรทำตัวเป็นสาวทรงเสน่ห์ไม่ใช่โสเภณีราคาถูก หรือจะพูดให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศก็เป็นหนุ่มหล่อขั้นเทพไม่ใช่แมลงปีกทองไปหลอกลวงนักท่องเที่ยว

การดำเนินการจัดการทัวร์ศูนย์เหรียญเช่นครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณแรงว่า เราไม่ต้องการตลาดที่เราต้องเฉือนเลือดเฉือนเนื้อเรา (เช่น ให้เสิร์ฟอาหารทะเลในราคา 130 บาทต่อหัว นวดราคา 500 บาทให้ลดเหลือ 150 บาท!) ในขณะที่กำไรที่มาร์จินต่ำตกอยู่กับเรา เราจะปล่อยทรัพยากรท่องเที่ยวอันมีค่าของเราไปแลกกับลูกทัวร์ราคาถูกเหล่านี้ทำไม ผู้เขียนจึงเห็นด้วยกับนโยบายสาธารณะที่จับทัวร์ศูนย์เหรียญในภูเก็ตที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจังเสียที แต่อย่าลืมว่าทัวร์ศูนย์เหรียญที่ถูกกฎหมายก็ได้รับผลกระทบไปด้วย จึงต้องมีการประชาสัมพันธ์ที่ดี กำกับให้ทัวร์เหล่านี้ใช้ราคามาตรฐานมากขึ้น

ในเมื่อเราเป็นสาวเจ้าเสน่ห์ เราก็ควรมาหารายได้จากค่าธรรมเนียมและภาษีให้สมเหตุสมผลมากขึ้น ในปัจจุบันภาษีและค่าธรรมเนียมที่ได้รับจากการท่องเที่ยวต่ำกว่าความเป็นจริงมาก จังหวัดที่ได้รับรายได้จากภาษีสูงสุดคือ ภูเก็ต คือเก็บได้แค่ 118 ล้านบาท จากรายได้ท่องเที่ยวรวม 19,000 ล้านบาท แต่ก็เก็บค่าธรรมเนียมห้องพักเพียง 1% ไม่ถึง 3% ที่เป็นเพดาน เงินจำนวนนี้จะตกแก่ อบจ. ถ้า อบจ. เก็บค่าธรรมเนียมให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย จะมีเงินมากพอที่จะไปพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวสาธารณูปโภค การจัดอีเว้นท์ รวมทั้งการทะนุบำรุงรักษาทรัพยากรและสภาพแวดล้อมท่องเที่ยว

ลองหันมาดูนโยบายสาธารณะว่าด้วยการเก็บภาษีกันเถอะค่ะ