ว่าด้วยปูเน่าในครกตำข้าว

ว่าด้วยปูเน่าในครกตำข้าว

สิ่งเดียวที่จะ “คุ้มค่า” กับความเสียหายจากนโยบายจำนำข้าว ปี 2554-2557 คือ บทเรียนจากนโยบายข้าวทีกลัดกระดุม

ผิดตั้งแต่เม็ดแรกเช่นนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก

โจทย์ใหญ่ที่สุด คือ จะสร้างธรรมาภิบาลในอาหารข้าวของเราทุกขั้นตอนทั้งระบบได้อย่างไร

เงินค่าเสียหายที่จะฟ้องได้เป็นเพียงฝนตกขี้หมูไหลเมื่อเทียบกับความเสียหายทั้งหมด ทั้งที่พอคำนวณได้เป็นเงินไม่ว่าจะคิดแบบไหน คือ แบบเต็มพิกัดทุกปีตั้งแต่เริ่มนโยบายจำนำข้าวปี 2554 หรือคิดคำนวณเฉพาะในปี 2557 อย่างที่กำลังทำอยู่

 ทว่าในความสูญเสียที่เกินกว่าจะคำนวณเป็นเงินได้ เช่น ความปลอดภัยและความมั่นคงในอาหารข้าว

มีข้าวเสียข้าวเน่า ข้าวป่นเป็นแป้งและข้าวรมยาประมูลขายให้กินเสียสุขภาพไปเท่าไรทั้งคนไทยและคนแอฟริกา ตลาดฮ่องกงที่เคยเป็นตลาดข้าวพรีเมี่ยมช่วงนั้นหยุดซื้อข้าวไทยเพราะคุณภาพหย่อน หันไปกินข้าวอื่นที่ย่อมเยาว์กว่า แล้วเริ่มชินกินข้าวถูก

การเล็งผลเลิศได้เงิน จำนำทุกเมล็ดทำให้ชาวนากลุ่มหนึ่ง พากันเลิกปลูกข้าวอินทรีย์ เลิกปลูกข้าวดีนาปี หันมาปลูกข้าวเปลือกนาปรังคุณภาพเลวๆ 5-6 ครั้งในสองปีโดยเร่งปุ๋ยเคมีสุดฤทธิ์ โดยเฉพาะที่ภาคกลางฐานการเมืองสองสามพรรคใหญ่ที่ตลอดมาคอยอุ้มนโยบายข้าวประกันราคาบ้าง จำนำบ้าง โดยไร้ยุทธศาสตร์ที่สมควร

ไหนจะชาวนาภาคเหนือตอนบน รื้อถอนยุ้งฉางตัวเองเพื่อ จำนำทุกเมล็ดเอาเม็ดเงินมาใช้ ก็เริ่มสร้างปัญหาความมั่นคงในอาหารระดับครอบครัวชุมชน

เคยมีไหมในประวัติศาสตร์ ที่ข้าวไทยส่งออกประสบปัญหาเพราะบริหารจัดการผิดพลาดเช่นที่เกิดในช่วงนโยบายจำนำข้าว การฉ้อฉลที่ตั้งแต่ระดับนายกฯ (หญิง) ข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำระดับสูง พากันออกมาปกป้องขายข้าว “จีทูจี” ซึ่งบัดนี้ก็จำนนด้วยหลักฐานว่าเป็นเพียง “จีทูเจี๊ยะ”

ประวัติศาสตร์ไม่เคยมี ชาวนาสิ้นหวังผูกคอตายนับสิบคนปลายปี 2556 เพราะรัฐบาลซื้อเอาข้าวเปลือกไปแล้ว แต่ติดหนี้ไม่จ่ายเงิน 6-8 เดือนรวมเป็นหนี้ชาวนาช่วงนั้น 130,000 ล้านบาท กว่าล้านครัวเรือน โดยมีปัญหาคุณภาพข้าวเปลือกในโกดังอีกร้อยแปดประการ เช่น คุณภาพข้าวและน้ำหนักไม่ตรงตามบัญชี การเวียนเทียนข้าว ข้าวขึ้นรา เน่าเสียหาย ข้าวค้างสต็อค

ถึงเวลาที่คนกินข้าว(สาร) ต้องรู้ว่าข้าวเปลือกเป็นอินทรีย์มีชีวิตเหมือนผลไม้ผักสดที่เมื่อเก็บมาจากต้นมีอายุขัย ไม่ใช่คิดจะซื้อเก็บกันนานๆเก็งกำไรอย่างที่เป็นหลักการและเหตุผลนโยบายจำนำข้าว

ทันทีที่เก็บเกี่ยว ข้าวเปลือกต้องดูแลความชื้นและรักษาระดับ 14%ไว้ตลอด จึงจะไม่เกิด ราขึ้น หรือ งอก ซึ่งกระบวนการทางเคมีนี้เมื่อเริ่มแล้วใครก็หยุดไม่ได้ นี่คือเหตุที่ชาวนาต้องรีบขายข้าวหลังเก็บเกี่ยว

งานเก็งกำไรอันประณีตนี้แต่ไหนแต่ไรมาจึงเป็นงานของพ่อค้าข้าวผู้มีทุนรอน มีโกดัง ซื้อข้าวเปลือกอย่างพิถีพิถัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงสีข้าว เพราะคุณภาพข้าวเปลือกคือกระดุมเม็ดแรกในการแปรรูปเป็นข้าวสารสำหรับกินและส่งขาย

แล้วนโยบายจำนำข้าวออกมาได้อย่างไร ผู้ทำหน้าที่ดูข้าวเปลือกมอบหมายให้บริษัทเซอร์เวเยอร์บ้าง ฝึกตำรวจสี่ห้าชั่วโมงดูข้าวเปลือกนัยว่าเพื่อกันโกง ตลอดจนให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการฝ่ายตำรวจ อัยการและศาล ผู้ไร้ทั้งทักษะและหน้าที่มาปฏิบัติงาน “จำนำข้าว”

สัญญาเช่าโกดังที่นโยบายจำนำข้าวทำโดยเจ้าของโกดังไม่ต้องรับผิดชอบด้านคุณภาพข้าวและปริมาณข้าว” นั้นเล่า คือ การราดน้ำเกลือลงบนแผลเหวอะหวะมาแต่ต้นด้วยวิธีซื้อข้าวเปลือกราคาสูงกว่าท้องตลาดและใช้บุคคลากรอย่างผิดฝาผิดตัว สิ้นเปลืองทรัพยากรของรัฐและเปิดช่องให้เกิดการฉ้อฉล

ต้นทางถึงปลายทาง หลุมบ่อต่างๆในนโยบายจำนำข้าวเป็นหลุมบ่อที่ตั้งใจสร้างเพื่อจะได้ตกลงไปโดยแท้ สมควรแล้วที่ได้ตรวจสอบติดตามหาผู้รับผิดชอบทั้งทางวินัย ทางอาญาทางแพ่ง ทั้งข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ เซอร์เวเยอร์ พ่อค้าข้าว เจ้าของโรงสี เจ้าของโกดัง ทุกฝ่ายทุกคนที่เกี่ยวข้อง จะต้องไม่มีการลอยนวลไม่ว่าในระดับใด