เมื่อ'หุ่นยนต์' รุกคืบงานบริการ

เมื่อ'หุ่นยนต์' รุกคืบงานบริการ

หุ่นยนต์ (Robotics) ที่ไร้ชีวิตจิตใจ สิ่งประดิษฐ์โดยมันสมองมนุษย์ กำลังจะถูกพัฒนา

ในแง่มุมของ “อารมณ์” (Emotional) โปรแกรมใส่ลงไปในตัวหุ่นยนต์ กลายเป็น “หุ่นยนต์พูดได้" 

ส่งผลให้การใช้งานหุ่นยนต์ขยับจาก “อุตสาหกรรมหนัก” (Heavy Industries) ที่ไม่ต้องการการปฏิสัมพันธ์ อาทิ การประกอบรถยนต์ และประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มาสู่ งานบริการ” (Service Industries) ที่ต้องปฎิสัมพันธ์กับผู้คนมากมาย 

ในไทย ล่าสุด บริษัทไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) บริษัทผู้จัดจำหน่ายสินค้ากว่า 200 แบรนด์จากในประเทศและต่างประเทศ ในเครือสหพัฒน์ รุดนำ “หุ่นยนต์ดินสอ” หุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นโดยฝีมือคนไทย โดยบริษัทซีที เอเชีย โรโบติกส์ มาเป็น หุ่นยนต์บริการการขาย (Point of Sales Service Robot) สื่อสารได้หลายภาษา 

โดยไอ.ซี.ซี. ระบุว่า เป็นหุ่นยนต์บริการการขายตัวแรกของโลก ! 

กลายเป็นการสร้าง “มิติใหม่” ของเทคโนโลยีการขาย ที่แน่นอนว่า จากนี้ไปจะมีเหล่าหุ่นยนต์ ตบเท้าเข้าสู่งานบริการในไทยเพิ่มขึ้น 

ขณะที่ในต่างประเทศ มีการนำหุ่นยนต์มาใช้งานด้านบริการ มาระยะหนึ่งแล้ว เช่น ในพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง นำหุ่นยนต์มาต้อนรับผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ เรียกความสนใจเด็กๆ ได้ไม่น้อย ขณะที่ในพิพิธภัณฑ์โตโยต้าในญี่ปุ่น ยังมีแสดงหุ่นยนต์สีไวโอลิน สะท้อนถึงความก้าวล้ำของเทคโนโลยียานยนต์อนาคต เป็นต้น  

สิ่งที่เกิดขึ้นกำลังจะบอกอะไรกับเรา ? เมื่อหุ่นยนต์กำลังจะเข้ามาแทนที่ “แรงงานมนุษย์” หนักข้อขึ้น

การฉีกหนีความฉลาดของ “สมองกล” ด้วย “สมองคน” จึงต้องทำด้วยสปีดที่เร่งรีบในยุค ดิจิทัล อีโคโนมี

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือ “คำหรู” ที่ต้องแปลงมาเป็น “รูปธรรม”ในการดำเนินการให้ได้ ก่อนมนุษย์จะถูกหุ่นยนต์แย่งอาชีพ จนอาจต้องจำกัดประชากรหุ่นยนต์

ภาพยนตร์ เรื่อง สมศรี 422 R ” ที่นำแสดงโดย “จินตหรา สุขพัฒน์” ภาคแรก ฉายในปี 2535 กำกับการแสดงโดย “ณรงค์ จารุจินดา”

สมศรี คือหุ่นยนต์แม่บ้านสุดสวย ตัวป่วนของเรื่อง 

ใครจะรู้ว่า “24ปี” ผ่านไป หุ่นยนต์แม่บ้านในจินตนาการตัวนี้ กำลังออกมา “โลดแล่น” ในโลกแห่งความเป็นจริง

สร้างความอลเวงให้ผู้คนบนโลก 

ต้องปรับตัวพัลวัน