ศาลปราบโกงยุค 4 G

ศาลปราบโกงยุค 4 G

ช่วงสองปีที่ผ่านมา รัฐบาล หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการปราบปรามป้องกันการทุจริต องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

ได้ร่วมกันรณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันมาอย่างต่อเนื่อง มีผลทำให้การทุจริตคอร์รัปชันในไทยลดลงในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีการทุจริตคอร์รัปชั่นในวงการราชการอยู่อีกมาก ส่วนหนึ่งน่าจะมาจาก การที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสร้างแบบอย่างการทุจริตไว้มาก อันทำให้เกิดทัศนคติที่ว่าโกงไม่เป็นนไร ขอให้แบ่งกันบ้าง รวมทั้งขั้นตอนการดำเนินคดีเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดที่ล่าช้า จึงทำให้ผู้กระทำความผิดไม่เกรงกลัวกฎหมายและโทษที่จะได้รับ

ล่าสุดได้จัดตั้งศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เรียบร้อยแล้ว โดยตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 ออกใช้บังคับ เพื่อพิจารณาและพิพากษาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นการเฉพาะ มีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่17 ส.ค. 2559 มีสาระสำคัญคือ

ให้จัดตั้ง โดยยกฐานะแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในศาลอาญาขึ้นเป็น ศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีพระราชกฤษฎีกาให้เปิดทำการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2559 มีเขตครอบคลุม กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี และปทุมธานี สำหรับคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่เกิดขึ้นนอกเขตของศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จะยื่นฟ้องต่อศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ก็ได้โดยเป็นดุลพินิจของศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ที่จะไม่รับพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งที่ยื่นฟ้องเช่นนั้นได้ และหากต่อไปจะจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตภาคขึ้นในภูมิภาคเมื่อใด มีเขตอำนาจครอบคลุมที่ใดบ้างก็ทำได้โดยประกาศในพระราชกฤษฎีกา

ศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และคดีที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจของศาลอาญา คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

สำหรับคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ อาจสรุปได้คือ คดีฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่น รวมทั้งความผิดอันเนื่องจากประพฤติมิชอบด้วย คดีฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลความผิดฐานฟอกเงินอันเกี่ยวเนื่องกับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ที่เรียกว่ากฎหมายฮั้ว กฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ คดีเกี่ยวกับการให้และรับสินบน การข่มขืนใจเจ้าหน้าที่ให้กระทำหรืองดเว้นกระทำการหรือประวิงการกระทำการใด คดีความผิดตามกฎหมายปปช. คดีไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือเป็นเท็จ คดียึดทรัพย์ฐานร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งรวมถึงคดีที่เอกชนทำผิดฐานเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน หรือผู้สมคบ ในคดีเจ้าหน้าที่รัฐทุจริตด้วย โดยมีอำนาจพิจาณาพิพากษาคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศที่ทำผิดตามกฎหมาย ปปช ด้วย

สำหรับร่างพระราชบัญญํติวิธิพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. .... ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญํติแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการดำเนินการประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป มีสาระสำคัญคือ

การพิจารณาคดีใช้ระบบไต่สวน และเป็นไปโดยรวดเร็ว

การดำเนินคดีทุจริตเละประพฤติมิชอบถ้าผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหนีไประหว่างถูกดำเนินคดี หรือการพิจารณาของศาล หรือเมื่อศาลพิพากษาลงโทษแล้ว ช่วงเวลาที่หลบหนี ไม่นับเป็นอายุความ กล่าวอีกนัยหนึ่ง การหลบหนีไม่ทำให้คดีและการลงโทษขาดอายุความ

นอกจากนี้ การหลบหนีไปในระหว่างที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นความผิดอีกฐานหนึ่ง มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดไม่ระงับแม้ต่อมามีการสั่งไม่ฟ้อง ยกฟ้อง จำหน่ายคดี หรือถอนฟ้องคดีทุจริตนั้นก็ตาม

การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตต้องพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยเร็ว ถ้าจำเลยเป็นผู้ยื่นอุทธรณ์ จะยื่นอุทธรณ์ได้ต่อเมื่อแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลด้วย สรุปก็คือจำเลยที่หลบหนีจะยื่นอุทธรณ์มิได้

การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบต้องแสดงเหตุที่ศาลฎีกาควรรับฎีกาไว้พิจารณา จำเลยที่หลบหนีไม่สามารถยื่นฎีกาได้ ศาลฎีกาจะรับฎีกาไว้พิจารณาวินิจฉัยเฉพาะปัญหาสำคัญ ตามที่บัญญัติในมาตรา 40 ซึ่งมีอยู่ 7 ประการ หากไม่เข้าข่าย ศาลฎีกาจะไม่รับไว้พิจารณา แต่ถ้าหากอัยการสูงสุดลงชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัย ให้ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญและให้ศาลฎีการับไว้พิจารณา

ในกรณีที่ศาลฎีกาไม่รับฎีกาไว้พิจารณา คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบถือเป็นที่สุด

จากการจัดตั้งศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และเมื่อร่างพระราชบัญญัติธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย จะทำให้กลไกการปราบทุจริตคอร์รัปชั่นในวงราชการมีประสิทธิภาพดีขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะหลักการใหม่คือผู้กระทำความผิดที่หลบหนีไม่มีผลที่จะทำให้คดีหรือการลงโทษขาดอายุความ และไม่สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ หรือฎีกาได้