แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในเอเชีย (Emerging Trends in Asia)

แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในเอเชีย (Emerging Trends in Asia)

ศตวรรษที่ 21 เป็นศตวรรษที่จุดศูนย์กลางของโลกจะเคลื่อนย้ายจากตะวันตกสู่ตะวันออกอย่างทวีปเอเชีย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้

จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และซับซ้อนกว่าศตวรรษที่ผ่านมา ทำให้การพัฒนาประเทศในศตวรรษที่ 21 จำเป็นต้องมีความเข้าใจแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อจะทำให้สามารถกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาได้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง

ในบทความนี้ ผมจะกล่าวถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในเอเชีย (Emerging Trends in Asia) ทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ พลังงาน สิ่งแวดล้อม และภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งสะท้อนภาพอนาคตในมิติที่สำคัญๆ ของเอเชีย และอาจเป็นประโยชน์ในการกำหนดทิศทางของประเทศไทยต่อไปได้

1.แนวโน้มทางด้านเศรษฐกิจ ผมจะกล่าวถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่สำคัญในเอเชียใน 3 ระดับ

(1) การเปลี่ยนแปลงในระดับโลก คือ ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกย้ายมายังเอเชีย โดยคาดว่าเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียจะมีส่วนแบ่งในจีดีพีโลกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15 ในปี 2010 เป็นร้อยละ 38 ในปี 2030

(2) การเปลี่ยนแปลงระดับภูมิภาค คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจของเอเชีย อันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการไหลของการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ นักลงทุนจะแสวงหาแหล่งลงทุนที่มีต้นทุนต่ำกว่าจีน การลงทุนจากจีนและทั่วโลกจะเข้าไปยังเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียทำให้เกิดเครือข่ายการผลิตในภูมิภาคเอเชีย

(3) การเปลี่ยนแปลงระดับพื้นที่ คือ การเกิดขึ้นของพื้นที่หรือเขตเศรษฐกิจใหม่ๆ ในภูมิภาคเอเชียการขยายตัวของพื้นที่เมือง (Urbanization) และจำนวนประชากรในเขตเมืองจะเพิ่มขึ้น และขนาดเศรษฐกิจของเมืองในประเทศกำลังพัฒนาจะมีขนาดใหญ่ขึ้น

2.แนวโน้มทางด้านพลังงาน

(1) ความต้องการบริโภคพลังงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่า จะเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 ในอีก 20 ปีข้างหน้า สัดส่วนความต้องการพลังงานในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากการพัฒนาประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาจะมีส่วนแบ่งการบริโภคพลังงานสูงถึงร้อยละ 79 ของความต้องการพลังงานของโลกในปี 2030

(2) พลังงานสะอาดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ แก๊สธรรมชาติ นิวเคลียร์ พลังงานทดแทน และพลังงานน้ำ แม้ว่าโครงสร้างการใช้พลังงานของโลกในอนาคตยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานหลัก เนื่องจากหลายประเทศยังคงมีการอุดหนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการค้นพบวิธีการขุดเจาะแบบใหม่จากชั้นหินดินดานน้ำมัน (Oil Shale) ทำให้ผลผลิตน้ำมันดิบยังขยายตัวต่อไปได้ อย่างไรก็ตามสัดส่วนความต้องการน้ำมันและถ่านหิน มีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 66 ในปี 2007 เหลือร้อยละ 59 ในปี 2035

(3) การผลิตพลังงานจากคนจำนวนมาก (Crowdsourcing Energy) เป็นผลจากความพยายามทำให้เมืองที่แออัดกลายเป็นเมืองสีเขียว (Green City)โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการใช้โซลาร์เซลเพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับครัวเรือน ทำให้มีไฟฟ้าที่เหลือใช้จำหน่ายเข้าสู่ระบบมากขึ้น

3.แนวโน้มทางด้านสิ่งแวดล้อม ผมจะกล่าวถึงทิศทางด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ 3 ด้าน คือ

(1) ความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2030 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 จากระดับในปัจจุบัน ส่งผลทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น 0.5-1.5 องศาเซลเซียสภายใน 20 ปีข้างหน้า ผลที่อาจตามมา คือ สภาพอากาศจะมีความแปรปรวนมากขึ้น และเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางอาหาร และความเชื่อมั่นของนักลงทุน

(2) ความไม่เพียงพอของแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเพิ่มขึ้นของประชากรโลก การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มขึ้นของรายได้ของประชากรโลก จะทำให้ความต้องการใช้ทรัพยากรมากขึ้น ได้แก่ ความต้องการพลังงานจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ความต้องการน้ำของโลกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 และความต้องการอาหารของโลกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 ของระดับความต้องการในปัจจุบัน ความต้องการใช้ทรัพยากรจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างไม่สอดคล้องกับความมีอยู่ของทรัพยากรในภูมิภาคนี้ ทำให้เอเชียจะเกิดความขาดแคลนและจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าทรัพยากรจากต่างประเทศ

(3) ความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมเพิ่มสูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการขยายตัวของเมืองในภูมิภาคเอเชีย จะทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงขึ้น

4.แนวโน้มทางด้านภูมิรัฐศาสตร์

(1) ประเทศจีนจะกลายเป็นมหาอำนาจใหม่ ซึ่งการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ของจีนทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงการกระจายอำนาจภายในเอเชีย ซึ่งปฏิกิริยาของประเทศอื่นๆ ในเอเชียต่อการผงาดขึ้นมาของจีน เป็นไปได้อย่างน้อย 2 ทิศทาง

ทิศทางแรก คือ การยอมรับหรือเข้าร่วมใน Sino-centric regional order เพื่อแลกกับผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการค้าและการลงทุนจากจีน

อีกทิศทางหนึ่ง คือ มองว่าการขยายอิทธิพลของจีนเป็นภัยคุกคาม ซึ่งประเทศใหญ่อาจตอบสนองด้วยการแข่งขันกับจีนหรือกีดกันจีนจากความร่วมมือระหว่างประเทศ ส่วนประเทศเล็กอาจถ่วงดุลอำนาจของจีนโดยการเป็นพันธมิตรและสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงกับมหาอำนาจอื่น

(2) สหรัฐอเมริกาจะกลับมามีบทบาทในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อแสวงหาพันธมิตรด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและปิดล้อมการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน อย่างไรก็ดี การแทรกแซงของมหาอำนาจกลับทำให้กลไกด้านความมั่นคงในภูมิภาคขาดประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

(3) ประเทศอินเดียจะก้าวขึ้นเป็นขั้วอำนาจที่สามในภูมิภาค เนื่องด้วยเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่และได้รับการคาดการณ์ว่า จะกลายเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกในอนาคต และจะเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกแซงหน้าจีน อินเดียเป็นประเทศที่มีความสามารถทางเทคโนโลยีและมีแรงงานที่มีทักษะสูงเป็นจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้น อินเดียยังมีสมรรถนะทางการทหาร โดยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่มีระเบิดปรมาณู ทำให้อินเดียกลายเป็นอีกขั้วอำนาจหนึ่งที่มาถ่วงดุลสหรัฐฯและจีน

แนวโน้มทางการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในเอเชียทั้ง 4 ด้าน ทำให้เราเห็นภาพว่า เอเชียกำลังจะอยู่ในเส้นทางของการพัฒนาความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้พลังงานและทรัพยากรจำนวนมาก แต่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วจะทำให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะกลายเป็นข้อจำกัดของการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต

นอกจากนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจของเอเชียยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค อันเนื่องมาจากการแข่งขันและความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจเก่าและมหาอำนาจใหม่ในภูมิภาคเอเชีย

ภายใต้แนวโน้มต่างๆ เหล่านี้ นับเป็นความท้าทายสำหรับประเทศต่างๆ ว่าจะกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด และมีความสมดุลของเป้าหมายการพัฒนาทุกๆ ด้าน