ถอดรหัสนโยบายใหม่ของ BOJ

ถอดรหัสนโยบายใหม่ของ BOJ

หากถามว่า นักลงทุนทั่วไปมีความเชื่อมั่นต่อนโยบายการเงินใหม่ที่มีการขยายเพิ่มเติมล่าสุดของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)

เมื่อวันพุธที่ 21 กันยายน ในระดับที่เหนือกว่าอดีตที่ผ่านมาหรือไม่ เราก็คงจะไม่ได้คำตอบอะไรที่ชัดเจนไปในทิศทางหนึ่งทิศทางใดค่อนข้างแน่นอน

แม้จะมีนักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยที่เห็นว่า นโยบายใหม่นี้เป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นก็ตาม และ BOJ ยังไม่ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยที่ติดลบอยู่แล้ว (สำหรับเงินสำรองส่วนเกินที่สถาบันการเงินฝากไว้ที่ธนาคารกลาง) ให้ติดลบมากขึ้นตามการคาดการณ์ของตลาดก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ก็เพราะว่า BOJ ได้ประกาศที่จะปรับมาตรการรับซื้อพันธบัตรแบบเดิมที่มีวงเงินราวปีละ 780 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้มุ่งเน้นสู่การรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่มีระยะเวลาไถ่ถอน 10 ปี โดยมีเป้าหมายที่จะรักษาระดับอัตราผลตอบแทนในปัจจุบันของพันธบัตรเหล่านั้นให้เท่ากับร้อยละศูนย์ ซึ่งผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นคนปัจจุบันคือ นาย Haruhiko Kuroda ได้อธิบายว่า ตามแนวทางเดิมที่ผ่านมานั้น BOJ จะเน้นวิธีการเพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจด้วยการรับซื้อหลักทรัพย์และพันธบัตรจำนวนมากตามวงเงินที่ได้ตั้งไว้ แต่สำหรับมาตรการที่ได้มีการเพิ่มเติมเข้ามาใหม่ในครั้งนี้ ก็จะหันไปใช้วิธีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป้าหมายสำหรับพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุไถ่ถอนยาว 10 ปีแทน โดยคาดหวังว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการชี้นำการคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคโดยรวมให้เข้าสู่เป้าหมายเงินเฟ้อที่ร้อยละ 2 ได้ดีกว่าในระยะยาว ภายใต้กรอบมาตรการใหม่ที่เรียกว่า “yield-curve control”

แต่ก็ยังมีนักวิเคราะห์อีกจำนวนมากเช่นกัน ที่มีข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับรายละเอียดของวิธีการที่ทาง BOJ จะสามารถใช้ควบคุมผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลให้ได้ผลตามกรอบเป้าหมายที่ร้อยละศูนย์ได้หรือไม่ และแม้แต่ IMF เองที่มีทีท่าว่าจะสนับสนุนแนวทางใหม่ของ BOJ นี้ก็ตาม แต่ก็ยังไม่เชื่อว่ามาตรการนี้จะสามารถทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเข้าสู่เป้าหมายที่ร้อยละสองได้อยู่ดี

ถ้าเช่นนั้นแล้ว เหตุใด BOJ จึงดูค่อนข้างจะมั่นใจต่อมาตรการใหม่ที่เพิ่มเติมเข้ามานี้

หากเราย้อนกลับไปพิจารณาท่าทีของ BOJ อย่างต่อเนื่องติดต่อกันตั้งแต่สามปีก่อนจนถึงปัจจุบัน เราก็จะเห็นท่าทีที่ชัดเจนของ BOJ ภายใต้การนำของผู้ว่าการธนาคารกลางคนปัจจุบันคือ นาย Haruhiko Kuroda ต่อนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายที่ใช้มาตั้งแต่เมื่อแรกที่เข้ามารับตำแหน่งในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 2013 และแม้ว่าที่ผ่านมา นโยบายการเงินที่ได้ประกาศออกมามักจะล้มเหลวเพราะไม่สามารถทำให้ระดับเงินเฟ้อปรับตัวเข้าใกล้เป้าหมายที่ร้อยละสองก็ตาม แต่ทาง BOJ ก็ยังเชื่อว่า ความล้มเหลวที่ผ่านมานั้นเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของ BOJ มากกว่า

ยกตัวอย่างเช่น กรณีของผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราภาษีของรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีผลต่อการลดลงของระดับการบริโภคโดยรวมของภาคครัวเรือนจนไปมีผลลดทอนประสิทธิภาพของนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของ BOJ หรือ ในกรณีของการปรับตัวที่ลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่กดทับไม่ให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นได้ และกรณีล่าสุด คือผลกระทบจากเหตุการณ์ Brexit ที่ทำให้มีเงินทุนจากต่างประเทศจำนวนมากไหลเข้ามาในตลาดหุ้นของประเทศในแถบเอเชีย และ ทำให้ความต้องการถือเงินเยนมีเพิ่มมากขึ้นและค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นมากจนเป็นผลลบต่อภาคการส่งออกและระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในที่สุด

จากท่าทีที่ผ่านมาดังกล่าวของ BOJ เองที่มีความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมต่อนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายและอัตราดอกเบี้ยติดลบ ผนวกกับคำยืนยันของผู้ว่าการ BOJ ล่าสุดที่ว่าพร้อมจะใช้นโยบายการเงินเพิ่มเติมเท่าที่จำเป็นเพื่อกระตุ้นให้ระดับเงินเฟ้อปรับตัวเข้าสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ BOJ จะไม่ยอมเลิกล้มมาตรการดอกเบี้ยติดลบและมาตรการอื่น ๆ ในระยะเวลาอันใกล้นี้ โดยเฉพาะในยามที่ภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเสี่ยงจะถดถอยเช่นในเวลานี้

ดังนั้น การออกมาตรการใหม่เพิ่มเติมเรื่อง “yield- curve control” ในครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจะลดทอนผลกระทบด้านลบจากนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบที่มีต่อผลประกอบการของภาคสถาบันการเงิน และต่อรายได้ผลตอบแทนของกองทุนบำเหน็ดบำนาญ และกองทุนเพื่อวัยเกษียณนั่นเอง เพราะมาตรการ “yield-curve control” จะทำให้สถาบันการเงินและกองทุนเพื่อการออมระยะยาวต่างๆ ได้มีทางเลือกสำหรับการลงทุนในตลาดพันธบัตรระยะยาวที่ให้ผลตอบแทนที่น่าจูงใจและมีความเสี่ยงต่ำในเรื่องความผันผวนของผลตอบแทนด้วย จึงทำให้ BOJ สามารถต่อขยายเวลาของการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบต่อไปได้ ซึ่งตามความเชื่อของ BOJ เองแล้ว น่าจะช่วยให้บรรลุเป้าเงินเฟ้อร้อยละสองได้ในที่สุด หากไม่มีปัจจัยภายนอกอื่นที่อยู่นอกเหนือจาก

จึงคงต้องรอดูกันต่อไปว่า มูลค่าทั้งหมดที่ระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะต้องจ่ายให้กับความเชื่อในเรื่องนี้ของ BOJ นั้น จะมีราคาค่างวดรวมที่สูงมากน้อยเพียงไร