อันเนื่องมาจากเรื่องจรรยาบรรณของสถาบันการเงิน

อันเนื่องมาจากเรื่องจรรยาบรรณของสถาบันการเงิน

วันลงคะแนนเสียงเลือกประธานาธิบดียิ่งใกล้เข้ามา รายงานเกี่ยวกับการเลือกตั้งในอเมริกายิ่งเข้มข้นจนมักกลบเรื่องอื่น เรื่องหนึ่งซึ่งไม่ถูกกลบ

แต่กลับได้รับความสนใจได้แก่พฤติกรรมของธนาคารยักษ์ใหญ่เวลลซ์ ฟาร์โกซึ่งถูกปรับ 185 ล้านดอลลาร์และถูกกรรมาธิการของรัฐสภาเชิญไปให้ปากคำพร้อมกับฟังคำประณามด้วย เวลลซ์ ฟาร์โกกดดันพนักงานให้ขายบริการแก่ลูกค้าโดการตั้งเป้าไว้สูง ๆ ใครขายไม่ได้ตามเป้าอาจถูกปลด ในช่วงเวลาไม่นานนักพนักงานของธนาคารถูกปลดกว่า 5 คนส่งผลให้หลายคนพยายามทำยอดขายโดยวิธีเปิดบัญชีลูกค้าทั้งที่ไม่มีคำอนุญาต บัญชีเหล่านั้นได้ค่าบริการเป็นเงินนับล้านดอลลาร์โดยลูกค้ามักมิรู้ตัว เมื่อความชั่วถูกเปิดเผยออกมา ธนาคารจึงถูกปรับ

ในยุคปัจจุบัน การกดดันพนักงานให้ขายบริการเพิ่ม หรือพ่วงให้แก่ลูกค้าน่าจะมีทั่วโลก พฤติกรรมจำพวกละเมิดจรรยาบรรณจนถึงขั้นทำผิดกฎหมายก็ดูจะกระจายไปทั่วโลกเช่นกัน แม้แต่ธนาคารของประเทศที่มักเชื่อกันว่าสะอาดมากก็ทำมานาน อาทิเช่น ธนาคารยูเนียนแห่งสวิตเซอร์แลนด์ถูกปรับ 545 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้วและ 780 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2552 คงจำกันได้ว่า ย้อนไปเมื่อตอนก่อนกรีซเดินเข้าสู่ภาวะล้มละลาย กรีซซุกซ่อนการขาดดุลจำนวนมหาศาลตามคำแนะนำของสถาบันการเงินข้ามชาติ การกระทำเช่นนั้นละเมิดทุกอย่างรวมทั้งกฎของสหภาพยุโรปและจรรยาบรรณของสถาบันการเงิน

คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า วิกฤติในกรีซเป็นส่วนหนึ่งของความถดถอยทางเศรษฐกิจร้ายแรงเป็นอันดับสองรองจากความถดถอยครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์หลังตลาดหลักทรัพย์อเมริกันเล่มเมื่อปี 2472 ความถดถอยครั้งหลังนี้เกิดขึ้นเมื่อฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์อเมริกันปะทุ หัวจักรใหญ่ในการเป่าฟองสบู่ได้แก่สถาบันการเงินซึ่งละเมิดจรรยาบรรณกันอย่างขว้างขวางด้วยการเล่นแร่แปรธาตุทางการเงิน การเล่นแร่แปรธาตุนั้นทำให้สถาบันการเงินมีรายได้มหาศาลส่งผลให้ผู้บริหารร่ำรวยกันถ้วนหน้า เมื่อเกิดวิกฤติ สถาบันต่าง ๆ ประสบปัญหากันอย่างทั่วถึง แต่สถาบันขนาดใหญ่กลับได้รับการอุ้มจากรัฐบาลซึ่งอ้างว่าถ้าปล่อยให้สถาบันเหล่านั้นล้มละลายความเสียหายใหญ่หลวงจะตามมา การอุ้มสถาบันขนาดใหญ่มีค่าเท่ากับการส่งเสริมให้กระทำความผิด ด้วยเหตุนี้ จึงต้องย้อนไปดูว่าสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่เกิดขึ้นได้อย่างไร คำตอบอยู่ที่นโยบายในสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน

นายเรแกนยึดหลักตลาดเสรีแบบค่อนข้างไปทางตกขอบ ฉะนั้น เขาต้องการให้รัฐบาลลดการควบคุมการทำงานของภาคเอกชนลงซึ่งเขาเชื่อว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจเฟื่องฟู ในสมัยนั้น รัฐบาลจึงยกเลิกมาตรการห้ามการควบรวมสถาบันการเงินข้ามสายพร้อมกับยอมให้ธนาคารขยายกิจการข้ามรัฐ การลดการควบคุมนั้นมีผลแบบทันตาเห็นเนื่องจากเกิดฟองสบู่และวิกฤติในภาคการเงินที่ทำให้ราวหนึ่งในสามของสมาคมออมทรัพย์เดินเข้าสู่ภาวะล้มละลายเริ่มจากปี 2529 อันเป็นที่ 6 ของวาระ 8 ปีที่นายเรแกนรั้งตำแหน่งประธานาธิบดี

วิกฤติครั้งนั้นมีนักการเงินชั้นแนวหน้าทำผิดและติดคุก แต่แนวนโยบายของนายเรแกนยังคงเดิม ผลสุดท้ายได้แก่การเล่นแร่แปรธาตุทางการเงินในอเมริกาที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ บทบาทของภาคการเงินซึ่งเคยอยู่ที่ราวร้อยละ 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือจีดีพีจึงเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ราวร้อยละ 8 พฤติกรรมจำพวกละเมิดจรรยาบรรณของสถาบันการเงินถูกนำมาตีแผ่อยู่ไม่ขาด ล่าสุดเป็นหนังสือของ Rana Foroohar เรื่อง Makers and Takers: The Rise of Finance and the Fall of American Business ซึ่งเพิ่งพิมพ์ออกมาเมื่อเดือนพฤษภาคม

คำถามสำคัญอันเกิดจากเรื่องราวในแวดวงสถาบันการเงินได้แก่การละเมิดจรรยาบรรณอย่างกว้างขวางนี้มีเฉพาะในภาคการเงินหรือเกิดขึ้นในสังคมโดยทั่วไป หนังสือ 2 เล่มซึ่งคอลัมน์นี้เคยอ้างถึงบ่งบอกว่าปัญหาเกิดขึ้นทั่วไปได้แก่เรื่อง Are We Rome?: The Fall of an Empire and the Fate of America ของ Cullen Murphy และเรื่อง Freefall: America, Free Markets, and the Sinking of the World Economy ของ Joseph Stiglitz กระแสโลกาภิวัตน์ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นในอเมริกากระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว หากประเทศก้าวหน้ายังมีปัญหาทางจรรยาบรรณ น่าถามว่าประเทศกำลังพัฒนาจะมีมากกว่าหรือไม่ และจะทำอย่างไร