ชาตินิยมทางวัฒนธรรมสองแนวทาง

ชาตินิยมทางวัฒนธรรมสองแนวทาง

ความขัดแย้งกรณีการรื้อถอนชุมชนป้อมมหากาฬ และข้อโต้แย้งเรื่องทศกัณฐ์กับขนมครกเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง

ของระบบอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมไทยปัจจุบันที่เริ่มมีความหลากหลายและแตกต่างกันมากขึ้นกว่าเดิม

อะไรเป็นฐานของระบบอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ของผู้คนในสังคมไทย

น่าแปลกนะครับ เพราะฐานของอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์กลับมีความย้อนแย้งกันอย่างไม่น่าเชื่อ ในขณะที่เราทั้งหลายรู้สึกถึงพลังและแรงดึงดูดของ “โลกานุวัตร” (Globalisation) รวมถึงความพยายามจะปรับตัวให้สอดคล้องไปกับมัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง การหันเหกลับไปสู่ ความเป็นท้องถิ่น” (Locality ) กลับทวีสูงและเข้มข้นมากขึ้นตามไปด้วย

เพราะสภาวะของ “ โลกานุวัตร” ไม่ใช่เพียงแค่ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจธรรมดาหากแต่เป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างความสัมพันธ์ทั้งหมดของโลก เราจึงต้องเดินตามมันไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ขณะเดียวกัน เราก็ไม่สามารถที่จะเดินตามไปอย่างคนตัวเปล่าเล่าเปลือยได้

กระบวนการสร้าง อัตลักษณ์ใหม่ (Project identities) ของผู้คนในยุคโลกานุวัตรจึงเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคมเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และผู้คนไม่สามารถหันกลับไปพึ่ง “รัฐ” ได้อย่างเดิมอีกต่อไป เพราะ “รัฐ” ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายที่ประกอบกันขึ้นเป็นกระสวนของ “ โลกานุวัตร ”

การหวนกลับไปสู่ “ความเป็นท้องถิ่น” จึงได้เลือกความคิดเรื่อง “ ชาตินิยม” ขึ้นมาเป็นแกนกลางของการดำรงอยู่ แต่ “ ชาตินิยม” ก็มีหลายมิติซ้อนทับกันอยู่ การเลือก “ ชาตินิยมทางการเมือง” ก็เป็นไปไม่ได้ในเงื่อนไขที่แวดล้อมและบีบรัดอยู่ การใช้ ชาตินิยมทางวัฒนธรรม” ( Cultural Nationalism ) จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด

จำเป็นต้องกล่าวก่อนในที่นี้ว่า ชาตินิยมทางการเมือง เพียงประการเดียวไม่มีพลังเพียงพอต่อการขับเคลื่อนขบวนการชาตินิยม มิติของชาตินิยมทางวัฒนธรรม” เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่ทำให้ลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นของชาตินั้นๆปรากฏชัดในจิตสำนึกของผู้คน

แม้ว่า“ ชาตินิยมทางวัฒนธรรม” จะเป็นฐานหลักของการสร้างลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นของชาติ แต่ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้ดังเอาผู้คนจำนวนมากและหลากหลายกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมในความเป็นชาติ จึงทำให้ “ ชาตินิยมทางวัฒนธรรม” ได้มีความแตกต่างกันขึ้น

เราอาจจะแบ่ง “ ชาตินิยมทางวัฒนธรรม” ออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรก ได้แก่ ชาตินิยมทางวัฒนธรรมเดิม  ที่แม้จะปรับตัวได้แต่ก็ยังอยู่ในกรอบเดิม(resurgent cultural nationalism) อีกกลุ่มหนึ่งได้แก่ ชาตินิยมทางวัฒนธรรม” ที่เปลี่ยนแปลงสอดรับไปสู่อนาคต( prudent cultural nationalism )

“ความเป็นไทย” ซึ่งเป็น“ชาตินิยมทางวัฒนธรรม” ที่เน้นให้เห็นลักษณะที่โดดเด่นของชาติจึงมีสองความหมายที่ต่อสู้ช่วงชิงพื้นที่ทางสังคมกันอยู่ในขณะนี้

กลุ่มที่มองเห็นป้อมมหากาฬต้องเป็นพื้นที่สวยงามปราศจากผู้คนเพื่อแสดงความเป็นไทยที่งดงาม และกลุ่มที่ไม่สามารถทนดูทศกัณฐ์มาแคะขนมครก จึงเป็นกลุ่มเดียวกันที่สมาทาน“ชาตินิยมทางวัฒนธรรมแบบเดิม” และได้ปรับแต่งให้ความเป็นไทยนั้นมีความเฉพาะและมีสถานะเป็น“ของสูงส่ง” เกินกว่าปรกติเดิมมากขึ้นไปอีก

ในขณะที่ อีกกลุ่มหนึ่งมองเห็นความเปลี่ยนแปลงและพยายามปรับ ชาตินิยมทางวัฒนธรรมอย่างฉลาดเพื่อที่จะรองรับผู้คนหรือดึงดูดให้ผู้คนในสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมใน ความเป็นไทยให้กว้างขวางและหลากหลายขึ้น

“ชาตินิยมทางวัฒนธรรม” กลุ่มแรกจึงมีลักษณะของการกีดกันไม่ให้คนเข้ามาเป็นเจ้าของวัตถุธรรมความเป็นไทย อนุญาตให้แต่เพียงเป็นผู้ชมความเป็นไทยที่กลุ่มของตนเป็นผู้จรรโลงเอาไว้เท่านั้น

“ชาตินิยมทางวัฒนธรรม” กลุ่มที่สองมีลักษณะของการผนวกรวมกลืนคนจำนวนมากขึ้นให้มาร่วมประกอบสร้างความเป็นไทย ซึ่งย่อมทำให้ความหมายขยายออกไปถึงบทบาทของผู้คนจำนวนมากที่ได้ร่วมสร้างสรรสังคมไทยมาจากอดีต

ภายใต้เงื่อนไขของ โลกานุวัตรความคิดและปฏิบัติการของชาตินิยมทางวัฒนธรรมกลุ่มแรกจะดำรงอยู่ได้ยากลำบากขึ้นและคงต้องโหยหาอดีตที่งดงามแต่ไม่มีหวนคืนกลับมาเป็นจริงได้อีก ขณะที่การเคลื่อนไหวของกลุ่มที่สองกลับจะทำให้ผู้คนในสังคมไทยสามารถหยิบยืมและฉวยใช้วัตถุธรรมของ “ชาตินิยมทางวัฒนธรรม” มาเป็นเครื่องมือในการต่อรอง/ต่อสู้กับแรงกดดันจากรอบทิศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สภาวะของการเกิด “ชาตินิยมทางวัฒนธรรม” สองแนวทางเช่นนี้ปรากฏขึ้นในชาติต่างๆด้วยเช่นกัน เช่น ญี่ปุ่น ที่ก่อให้เกิดการสร้าง “ คาวาอี้  (สิ่งเล็กๆที่สวยงาม ) เป็นวัฒนธรรมแห่งชาติสอดแทรกเข้ามาชิงพื้นที่ความเป็นญี่ปุ่นหนึ่งเดียว ( Nihonjinron) หรือ การต่อสู้ระหว่างโดนัล ทรัมป์ กับ ฮิลารี่ คลินตัน ซึ่งทั้งสองต่างพยายามหยิบยืมลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมของสังคมอเมริกันมาใช้หาเสียงสนับสนุน เช่น โดนัล ทรัมป์เลือกใช้ “ชาตินิยมทางวัฒนธรรม” แบบผู้ชายผิวขาวเป็นใหญ่ในยุคก่อน 1960 ส่วนฮิลารี่ คลินตัน เลือกใช้ “ชาตินิยมทางวัฒนธรรม” แบบสังคมพหุลักษณ์ ในยุคหลัง 1970 เป็นต้น

ถึงเวลาที่เรา : คนในสังคมไทยต้องตระหนักให้มากขึ้นกับความเปลี่ยนแปลงที่สลับซับซ้อนและลึกซึ้ง และต้องอยู่กับความเป็นจริงให้มากที่สุด เพราะเราอาจจะหมุนนาฬิกาย้อนหลังได้ แต่ก็ไม่อาจทำให้เวลาย้อนกลับได้จริง

หยุดการรื้อป้อมมหากาฬและปลดปล่อยทศกัณฐ์ให้เสรี