Data Scientist ศาสตร์ที่นำไปสู่ความสำเร็จ(2)

Data Scientist ศาสตร์ที่นำไปสู่ความสำเร็จ(2)

บทความที่แล้วได้นำเสนอแนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับ หลักการทางวิทยาศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ทางข้อมูล (Data Scientist)

ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในทางธุรกิจหลากหลายวงการเพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด 

แต่การนำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ไม่ได้นิยมแพร่หลายในทางธุรกิจเท่านั้น ในทางการเมืองก็นำหลักการดังกล่าวมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดความได้เปรียบในการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในการแข่งขันชิงประธานาธิบดีของสหรัฐ เมื่อปี 2012  เพราะนอกจากนโยบายต่างๆของประธานาธิบดี บารัก โอบามา ที่ได้นำเสนอจนสามารถครองใจคนอเมริกาส่วนใหญ่มาแล้ว วิทยาศาสตร์ทางข้อมูลมีบทบาทสำคัญที่ทำให้ชนะการเลือกตั้งครั้งนั้นเช่นกัน 

จากการเปิดเผยของทีมงานที่วิเคราะห์ข้อมูลของประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า หลังจากชนะเลือกตั้งว่า ได้นำการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติที่เรียกว่า การสร้างตัวแบบจำลองแบบอัพลิฟท์ (Uplift Modelling) โดยใช้ปัจจัยพื้นฐานทางการวิจัยจำพวก เพศ รายได้ วุฒิการศึกษา และพื้นฐานครอบครัว มาหาความสัมพันธ์ว่าแคมเปญหรือนโยบายใดที่จะโดนใจคนอเมริกันในแต่ละกลุ่มเพื่อให้ได้มาซึ่งผลโหวต (Vote) อันเป็นเป้าหมายสำคัญในการหาเสียง

สำหรับหลักการของ วิทยาศาสตร์ทางข้อมูล ที่นำมาประยุกต์ใช้นั้นทีมงานหาเสียงได้อาศัยตัวแบบทางสถิติมาทำการวิเคราะห์และสามารถแบ่งกลุ่มตามปัจจัยดังกล่าวได้ 4 กลุ่มใหญ่ แล้วนำมากำหนดทิศทางและวางแผนการหาเสียงให้กับ โอบาม่า ได้ดังนี้

กลุ่มที่1 คือ กลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกเพราะจะเลือกลงคะแนนให้ บารัก โอบามา เมื่อเข้าไปหาเสียงหรือเข้าถึง แต่ถ้าละเลยการหาเสียงจากกลุ่มนี้พวกเขาก็จะไม่เลือกโหวตให้กับ โอบามา

กลุ่มที่2 คือ กลุ่มที่ไม่ว่าจะหาเสียงหรือไม่ก็ตาม ก็ยังเลือก บารัก โอบามา เป็นประธานาธิบดีแน่นอน คนกลุ่มนี้พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ฐานเสียงของ โอบาม่า นั่นเอง

กลุ่มที่3 คือ กลุ่มที่ไม่ว่าจะหาเสียงหรือไม่ก็ตาม ก็จะไม่เลือก บารัก โอบามา เป็นประธานาธิบดีแน่นอน

และ กลุ่มสุดท้าย เป็นกลุ่มที่แตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ คือจะโหวตให้ก็ต่อเมื่อไม่ไปหาเสียงกับพวกเขา และจะไม่โหวตให้เมื่อเข้าหาพวกเขา กลุ่มนี้จะมีชื่อที่นิยมเรียกกันทางเทคนิคว่า “sleeping dog” ในความหมายที่ว่า “ถ้าสุนัขจะนอนก็ปล่อยมันนอนอย่าไปยุ่งกับมัน” เพราะถ้าไปกวนตอนมันหลับมันอาจจะกัดเราได้นั่นเอง แทนที่จะได้เล่นกับสุนัขอาจจะเจ็บตัวกลับไปแทน

ดังนั้น บารัก โอบามา จึงเลือกที่จะหาเสียงและให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับกลุ่มที่1 ด้วยการโฆษณาทางทีวี การใช้สื่อออนไลน์ เช่น การส่งข้อความผ่านทาง เฟซบุ๊ค การส่งจดหมาย รวมถึงการลงพื้นที่เพื่อหาเสียงตามบ้านส่วนกลุ่มที่ 2 ใช้เพียงแต่การสื่อสารธรรมดาเพื่อรักษาฐานเสียงเท่านั้น ขณะที่กลุ่มที่ 3 และ 4 โอบามา เลือกที่จะไม่เสียเวลาและลงทุนในการหาเสียงเพราะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในผลโหวตของการเลือกตั้งครั้งนั้นและในท้ายที่สุด บารัก โอบามา ก็เป็นผู้ชนะได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐในที่สุด จนกำลังจะหมดวาระลงในปลายปีนี้

เชื่อได้ว่า การแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของทั้ง2 พรรคการเมืองใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ก็คงจะเป็นอีกครั้งที่มีการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ทางข้อมูลมาเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญในการหาเสียง รวมถึงการวางแผนเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกทั้งสร้างความคุ้มค่าในเรื่องของค่าใช้จ่ายและเวลาที่จำกัด