รับมือการค้าโลกลดลง

รับมือการค้าโลกลดลง

แม้ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี ปรับเพิ่มคาดการณ์

การเติบโตในปีนี้ของไทยเป็น 3.2% จากเดิม 3% เนื่องจากเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีแรกเติบโตดีกว่าที่เคยประเมินไว้ และคาดว่าในปี 2560 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.5% จากอานิสงส์ของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ และแนวโน้มการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน ภายใต้สมมุติฐานสถานการณ์การเมืองมีความสงบเรียบร้อย มีการเลือกตั้ง เศรษฐกิจโลกไม่ผันผวนรุนแรง ส่วนการส่งออกปีหน้าคาดว่าจะไม่ติดลบอีก โดยจะขยายตัว 0-1%

ในส่วนของภาพรวมประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียนั้น เอดีบีคงคาดการณ์การเติบโตปีนี้และปีหน้าที่ 5.7% ด้วยเหตุผลว่าเศรษฐกิจจีนและอินเดียขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวที่ล่าช้าในสหรัฐ ยูโรโซน และญี่ปุ่น จะถ่วงรั้งเอเชีย ทั้งยังมีประเด็นเกี่ยวกับนโยบายการเงินในประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะความเสี่ยงของการที่ธนาคารกลางสหรัฐ จะปรับขึ้นดอกเบี้ย อันจะทำให้เงินทุนไหลออก และอาจกระทบต่อการบริหารเศรษฐกิจมหภาคในเอเชีย นอกจากนั้น หนี้สินภาคเอกชนในหลายประเทศของเอเชียกำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นประเด็นขึ้นมาได้ หากประเทศต่างๆ เผชิญปัญหา หรือมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระดับสูง

ในท่ามกลางกระแสการคาดหมายแง่ดีทางเศรษฐกิจ ปรากฏว่าองค์การการค้าโลกได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของการค้าโลกปีนี้ลงกว่า 1% เหลือ 1.7% จากคาดการณ์เดือนเมษายนที่ 2.8% อันทำให้ปีนี้เป็นปีที่การค้าโลกขยายตัวในระดับช้าที่สุดตั้งแต่วิกฤติการเงินโลกปี 2552 พร้อมกันนี้ได้มีการปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของการค้าโลกปีหน้าลงเหลือ 1.8-3.1% จาก 3.6% หลังจากปริมาณการค้าลดลงมากกว่าที่คาดไว้ช่วงไตรมาสแรก และดีดตัวขึ้นไม่มากนักช่วงไตรมาส 2 เพราะเศรษฐกิจและการค้าของประเทศกำลังพัฒนาชะลอตัว

กรรมการผู้อำนวยการองค์การการค้าโลกชี้ว่ากระแสการค้าโลกที่ชะลอตัวลงมาก ถือเป็นเรื่องร้ายแรงและควรเป็นสัญญาณเตือน พร้อมแสดงความวิตกที่การชะลอตัวของการค้าโลกมีขึ้นในช่วงที่กระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์เพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงต้องคอยดูแลไม่ให้กระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ ได้รับแรงหนุนถึงขนาดนำไปจัดทำเป็นนโยบาย นอกจากนั้นสิ่งที่บดบังแนวโน้มยังรวมถึงความผันผวนทางการค้า สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินในประเทศพัฒนาแล้ว

แม้ตัวเลขการส่งออกของไทยจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.5% เมื่อเดือนสิงหาคมจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 เดือน และเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 6 เดือน โดยมีปัจจัยหลักจากการส่งออกรถยนต์ที่เติบโตสูง ทั้งยังมีการประเมินการส่งออกในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ว่าจะปรับตัวดีขึ้น และมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง แต่ก็คงวางใจทั้งหมดไม่ได้ เพราะความผันผวนยังมีอยู่ ดังล่าสุดที่องค์การการค้าโลกได้ปรับลดการณ์การขยายตัวของการค้าโลกลงทั้งปีนี้และปีหน้า สืบเนื่องจากปัจจัยหลายประการ ดังนั้นจึงยังอาจฝากความหวังไว้ที่การส่งออก ไม่ได้ทั้งหมด เพราะมีหลายปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของไทย ประกอบกับแนวโน้มต่างๆ ในโลก ก็ยังไม่สดใสทีเดียวนัก