วาระประเทศไทย 2030 : มองสั้น บ้านเมืองไม่รอด

วาระประเทศไทย 2030 : มองสั้น บ้านเมืองไม่รอด

ประเทศไทยปี 2030 หรืออีก 14 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

 เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าที่เราหมกมุ่นอยู่กับ “กระแสดราม่าประจำวัน” ที่แชร์กันในโซเชียลมีเดียมากมายนัก

แต่คนไทยดูเหมือนจะคิดแต่เรื่องระยะสั้น โดยเห็นว่าเรื่องระยะยาวเป็นของคนอื่น หรือเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาล

เราจึงต้องเผชิญวิกฤตครั้งแล้วครั้งเล่า

ผมฟัง ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยพูดเรื่อง Thailand Agenda 2030 วันก่อน สะท้อนถึงวิธีคิดที่ควรจะให้คนไทยทุกภาคส่วนได้รับรู้ นำไปใคร่ครวญและทำเป็น วาระแห่งชาติของทุกคน

ท่านใช้คำว่า กับดักเชิงโครงสร้าง ที่ไทยเราเผชิญ และหากแก้ไขด้วยวิธีเก่าก็จะล้มเหลว

เพราะแม้จะทำมากขึ้น แต่ถ้าทำในกรอบความคิดเก่า ก็ไม่พอ ไม่ทันกาล ต้องใช้กรอบความคิดใหม่

วิธีทำงานแบบเดิมไม่สามารถตอบโจทย์ได้อย่างเท่าทัน

ทางออกจึงต้องเปิดพื้นที่การทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ไม่พึ่งพาแต่รัฐ

ให้ความสำคัญกับการสร้าง ภูมิคุ้มกัน

การตัดสินใจต้องไม่ถูกจำกัดด้วยกฎเกณฑ์ที่ล้าสมัย หรือรักษาผลประโยชน์ของคนกลุ่มเดิม ๆ

คุณวิรไท บอกว่า “กับดักเชิงโครงสร้าง” 4 ด้านคือ

1. ระดับความสามารถทางเทคโนโลยี ทั้งในภาคอุตสาหกรรม เกษตรและบริการ

2. กฎเกณฑ์กติกาที่อาจจะไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจยุคใหม่

3. การขาดประสิทธิภาพของระบบราชการ

4. โครงสร้างประชากรไทยที่ทำให้เกิดข้อจำกัดด้านแรงงาน

โครงสร้างที่เปลี่ยนไปนี้จะมีผลต่อระบบการเมือง เพราะต่อไปรัฐบาลและพรรคการเมือง จะให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุ มากกว่าการขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจไปข้างหน้า เพราะผู้สูงอายุเป็นฐานเสียงที่สำคัญ

 นักการเมืองมองระยะสั้น ถ้าประชาชนมองสั้นตามไปด้วย ก็คือการ “คิดสั้น สำหรับประเทศชาติ

สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย ในฐานะผู้นำทางความคิดต้องมองระยะยาว

องค์กรธุรกิจเอกชนต้องปรับตัวเองให้ทัน กับความเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เพื่อยกระดับความสามารถในการบริหาร

ประเด็นเรื่อง มองสั้น มองยาว เป็นหัวใจของการวางแผนสำหรับอนาคตจริง ๆ

ผู้ว่าฯ ธปท. พูดไว้น่าสนใจว่าไม่ควรให้ความสำคัญกับการบริโภค ตามกระแสนิยมของสังคมมากกว่าการออมเพื่ออนาคต

ไม่ควรให้เวลาในการรับและเชื่อข่าวสารแบบสั้น ๆ ตามโซเชียลมีเดียมากกว่าการใช้เวลาในการคิดวิเคราะห์เรื่องราวต่าง ๆ

การทำนโยบายเศรษฐกิจไม่ควรหวัง GDP ในช่วงสั้น ๆ มากกว่าการเพิ่มศักยภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว

ผมคิดว่าทุกวันนี้เรายังขาดการประสานของสถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษากับธุรกิจเอกชนในทุก ๆ ด้านเพื่อให้เกิดการวิเคราะห์วิจัย และแลกเปลี่ยนความคิดกันอย่างเป็นระบบโดยมีเป้าหมายรวมกันว่า

ประเทศไทยเราจะต้องยืนอยู่ตรงไหนของเวทีโลกในอีก 15 ปี 20 ปีและ 30 ปีข้างหน้า

ตำราในมหาวิทยาลัย วิธีการเรียนการสอน กระบวนการทำวิจัย การสังเคราะห์ข้อมูล และการสร้างความโปร่งใสทุกขั้นตอนของการทำงาน ทั้งในภาครัฐ เอกชนและนักวิชาการล้วนต้องการการ ยกเครื่องครั้งใหญ่ทั้งสิ้น