การทำประกันภัยกรณีเรือสำหรับโดยสาร

การทำประกันภัยกรณีเรือสำหรับโดยสาร

เมื่อไม่นานมานี้อุบัติเหตุที่สร้างความสลดใจให้กับคนไทยทั้งประเทศ คือ กรณีเรือโดยสารขนาดสองชั้นซึ่งบรรทุก

ชาวไทยมุสลิมที่เดินทางไปร่วมงานบุญประเพณีทางศาสนา ล่มลงในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหน้าวัดสนามไชย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอที่บันทึกภาพเหตุการณ์ออกสู่สาธารณะจนทำให้คนในสังคมได้รับข่าวสารนี้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ คงไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์เศร้าสลดเช่นนี้เกิดขึ้น แต่เมื่อมันได้เกิดขึ้นแล้วและนำไปสู่ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน จึงเกิดคำถามตามมาว่าเราจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้างเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สิน หรือหากแม้นเกิดเหตุการณ์หรือภยันตรายใด ๆ ขึ้นแล้วจะสามารถบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง

ผู้เขียนเห็นว่าการทำ ประกันภัย” เป็นวิธีการหนึ่งที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อการลดหรือบรรเทาความไม่แน่นอน ความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สิน โดยทั่วไปแล้วการประกันภัยหมายถึงการกระจายความเสี่ยงภัยที่อาจจะมีขึ้นในอนาคตไปให้บุคคลอื่นรับภาระแทนโดยการทำสัญญาประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยตกลงจะชำระเบี้ยประกันภัยและผู้รับประกันภัยตกลงจะชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าทดแทนให้หากเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งขึ้นตามที่กำหนดไว้ในสัญญาและกรมธรรม์ประกันภัย ตัวอย่างเช่น การเสียชีวิต การบาดเจ็บหรือทุพพลภาพจากอุบัติเหตุหรือเหตุอื่น ๆ เป็นต้น หรือผู้รับประกันภัยตกลงจะจ่ายเงินเอาประกันชีวิตให้แก่ผู้รับประโยชน์ เมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิต รวมถึงการมีชีวิตอยู่ภายในกำหนดระยะเวลา เช่น 5 ปี 15 ปี หรือ 25 ปี เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าบุคคลธรรมดา นิติบุคคล ตลอดจนองค์กรอื่น ๆ ต่างก็มีความคุ้นเคยและนิยมใช้การประกันภัยเพื่อลดและแบ่งเบาความไม่แน่นอน ความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับชีวิต ทรัพย์สินและธุรกิจของตน ดังจะเห็นได้จากกรมธรรม์ประกันภัยรูปแบบต่าง ๆ เช่น ประกันภัยรถยนต์ ประกันภัยอัคคีภัย ประกันภัยน้ำท่วม ประกันภัยทางทะเล ประกันภัยการขนส่งสินค้า ประกันภัยความรับผิด ประกันภัยทรัพย์สิน ประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ ประกันชีวิต เป็นต้น ซึ่งการประกันภัยแต่ละชนิดต่างมีเงื่อนไขและจำนวนเบี้ยประกันภัยที่แตกต่างกันไป ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิเลือกทำประกันภัยตามเงื่อนไขกรมธรรม์ที่ตนเองเห็นว่าเหมาะสมและมีความพึงพอใจมากที่สุด กรณีหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นตามที่กำหนดในสัญญาและกรมธรรม์ประกันภัยและนำมาซึ่งความสูญเสียหรือความเสียหายแล้ว ผู้รับประกันภัยก็จะชดใช้ความเสียหายที่เกิดให้กับผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ โดยอาจจะเป็นการชดใช้ความเสียหายในรูปของตัวเงินหรือในรูปอื่น เช่น การซ่อมแซมทรัพย์สินให้กลับคงสภาพเดิม การติดต่อประสานงานให้ การอำนวยความสะดวกในกรณีต่าง ๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ หากย้อนกลับมาพิจารณากรณีเรือโดยสารแล้วจะพบว่า กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอและการออกใบอนุญาตใช้เรือและการประกันภัยเรือสำหรับโดยสาร พ.ศ. 2552ซึ่งออกตามความในมาตรา 142 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 กำหนดให้เจ้าของเรือโดยสารทุกลำต้องจัดให้มีการประกันภัยให้แก่ผู้โดยสาร เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินให้กับผู้โดยสารรวมถึงเจ้าของเรือ โดยเจ้าของเรือที่ประสงค์จะขอรับใบอนุญาตใช้เรือจะต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอกสารสำเนาสัญญาประกันภัยและกรมธรรม์ประกันภัยที่มีผลคุ้มครองชีวิตและร่างกายของผู้โดยสาร ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากการใช้เรือสำหรับโดยสาร

สัญญาประกันภัยและกรมธรรม์ประกันภัยที่นำมายื่นขอรับใบอนุญาตใช้เรือสำหรับโดยสารต้องระบุให้เจ้าของเรือหรือผู้ประกอบการเดินเรือสำหรับโดยสารเป็นผู้เอาประกันภัย โดยกำหนดให้ผู้โดยสารที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการใช้บริการเรือสำหรับโดยสารของตนหรือทายาทของผู้โดยสารนั้นเป็นผู้รับประโยชน์ ซึ่งผู้โดยสารที่ประสบอุบัติเหตุจะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยผู้โดยสารเรือสำหรับโดยสารดังนี้ คือ (1) หากสูญเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง คนละไม่น้อยกว่า 100,000 บาท (2) หากสูญเสียมือหรือเท้าหรือตาหรือสูญเสียสมรรถภาพในการใช้มือหรือเท้าหรือสายตารวมสองข้าง คนละไม่น้อยกว่า 100,000 บาท (3) หากสูญเสียมือหรือเท้าหรือตาหรือสูญเสียสมรรถภาพในการใช้มือหรือเท้าหรือสายตาข้างเดียว คนละไม่น้อยกว่า 60,000 บาท และ (4) สำหรับค่ารักษาพยาบาลต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง คนละไม่เกิน 15,000 บาท

ดังนั้น จากบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลทำให้ผู้โดยสารที่ประสบเหตุหรือทายาทของผู้โดยสารในอุบัติเหตุจะได้รับการชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสุขภาพ อนามัยและชีวิตจากผู้รับประกันภัยในความสูญเสียแต่ละกรณีข้างต้น นอกจากนี้ หากผู้ประสบเหตุหรือทายาทของผู้โดยสารเห็นว่าจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับชดใช้จากผู้รับประกันภัยมีจำนวนน้อยกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงแล้ว บุคคลดังกล่าวก็สามารถฟ้องร้องเจ้าของเรือหรือบุคคลผู้ก่อให้เกิดอุบัติเหตุเพื่อให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่ยังขาดอยู่ได้ตามกฎหมาย

ในที่สุดแล้ว แม้ว่าเราจะมีบทบัญญัติกฎหมายกำหนดให้เจ้าของเรือโดยสารทุกลำต้องจัดให้มีการประกันภัยให้แก่ผู้โดยสาร เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินให้กับผู้โดยสารรวมถึงเจ้าของเรือก็ตาม แต่ผู้เขียนเห็นว่า เจ้าของเรือและผู้โดยสารต้องทำหน้าที่ของตนด้วยความไม่ประมาทและต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเรื่องความปลอดภัยในการโดยสารเรืออย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ความสูญเสียดังกล่าวซ้ำขึ้นอีก

---------------------

ดร. กฤษรัตน์ ศรีสว่าง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์