ปัญหาจากการยุบสภาฯในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ

ปัญหาจากการยุบสภาฯในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ

ตั้งแต่มีสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย เรามีการยุบสภาฯทั้งสิ้น 13 ครั้ง และสาเหตุหลักในการยุบสภาคือ

1) ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสภา 2 ครั้ง (การยุบสภาฯ พ.ศ.2481 และ พ.ศ. 2529)

2) ความขัดแย้งภายในรัฐบาล 4 ครั้ง (การยุบสภาฯ พ.ศ.2519, พ.ศ.2531, พ.ศ.2538, และ พ.ศ.2539)

3) ครบวาระ 3 ครั้ง (พ.ศ.2488, พ.ศ.2543, พ.ศ.2548)

4) สภาผู้แทนราษฎรขัดแย้งกับวุฒิสภา 2 ครั้ง (การยุบสภาฯ พ.ศ.2526 และ พ.ศ. 2556)

5) มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 1 ครั้ง (การยุบสภาฯ พ.ศ.2554)

6) เป็นรัฐบาลเฉพาะกาลหลังจากเกิดวิกฤตทางการเมือง 1 ครั้ง (การยุบสภาฯ พ.ศ. 2535)

ขณะเดียวกัน ในการยุบสภาบางครั้ง อาจมีสาเหตุมากกว่า 1 ข้อ เช่น การยุบสภาฯ พ.ศ. 2554 ในสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 มีสาเหตุมาจาก 1. รัฐสภาได้พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 2. ความขัดแย้งภายในรัฐบาล และการเลือกจังหวะเวลาในการยุบที่คาดหวังว่าจะได้เปรียบในทางการเมือง โดยพรรคประชาธิปัตย์คาดหวังว่าจะได้รับคะแนนเสียงมากขึ้นในการเลือกตั้งทั่วไปหลังการยุบสภาผู้แทนราษฎร

และในการยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556ในสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2556 ที่มีสาเหตุจาก 1. ความขัดแย้งระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภาและ 2. ความขัดแย้งภายในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในวิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิตสาขากฎหมายมหาชน พ.ศ.2553 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของหนึ่งฤทัย อายุปานเทวัญ ที่ศึกษาการยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทยจนถึง พ.ศ.2553 ก็เห็นด้วยและได้กล่าวไว้ว่า “จากเหตุการณ์การยุบสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 11 ครั้ง (เนื่องจากการศึกษาวิจัยนี้สิ้นสุดลงที่การยุบสภา พ.ศ.2549 จึงยังไม่รวมการยุบสภาฯ พ.ศ.2554 ในสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี และการยุบสภาฯ พ.ศ.2556 ในสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี) 

แสดงให้เห็นถึงสาเหตุของการยุบสภาผู้แทนราษฎรที่หลากหลายซึ่งการยุบสภาในแต่ละครั้งอาจะไม่ได้เกิดจากสาเหตุประการใดประการหนึ่งเพียงประการเดียวเท่านั้น อาจมีสาเหตุหลายปัจจัยประกอบกันจนมีการยุบสภาเกิดขึ้น 

ขณะเดียวกัน เมื่อสืบค้นงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับการยุบสภาผู้แทนราษฎรและปัญหาการยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย จะพบว่ามีงานวิจัย 3 ชิ้น โดยเริ่มจาก กาญจนา เกิดโพธิ์ทอง เรื่อง การยุบสภาในประเทศไทย (2530), หนึ่งฤทัย อายุปานเทวัญ เรื่อง ปัญหาการยุบสภาผู้แทนราษฎร (2553) และ ตวงรัตน์ เลาหัตถพงษ์ภูริ เรื่อง การยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย (2554) จะพบความเห็นของทั้งสามพ้องต้องกันกับผู้เขียนเกี่ยวกับสาเหตุในการยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทยในช่วงระหว่าง พ.ศ.2475-2529 และความเห็นต่อสาเหตุของการยุบสภาหลัง พ.ศ.2529 จนถึงการยุบสภา พ.ศ.2543 หนึ่งฤทัยและตวงรัตน์ก็มีความเห็นสอดคล้องกับผู้เขียน

ขณะเดียวกัน จากการศึกษาการยุบสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ พ.ศ.2481-2529 แม้ว่าจะเป็นการยุบสภาผู้แทนราษฎรที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและตามหลักการของระบอบรัฐสภา แต่กระนั้น กาญจนาได้ตั้งข้อสังเกตว่า จากประสบการณ์และความเป็นจริงของไทย จะเห็นได้ว่านายกรัฐมนตรีมีอำนาจยุบสภาได้อย่างกว้างขวางโดยไม่เกรงการตอบโต้จากสภา เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรของไทยอ่อนแอเป็นเหตุให้สภาเสียเปรียบฝ่ายบริหาร ซึ่งมีผลเสียต่อศรัทธาของประชาชนในการปกครองระบอบประชาธิปไตย” แต่สำหรับการยุบสภา พ.ศ.2549 ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี ในงานวิจัยของตวงรัตน์มิได้มีข้อสังเกตเห็นถึงความผิดปรกติแต่อย่างใด แต่ในงานของหนึ่งฤทัยได้เขียนสรุปให้ความเห็นถึงสาเหตุการยุบสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 11 ครั้ง 

นั่นคือ ตั้งแต่หลัง พ.ศ.2475-2549 ที่มีการยุบสภาครั้งล่าสุดในปี พ.ศ.2549 ในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ว่า จากการศึกษาเหตุการณ์ยุบสภายังทำให้ทราบอีกว่า เหตุผลการยุบสภารวมทั้งคำชี้แจงทั้งหลายเกี่ยวกับการยุบสภาที่ปรากฏอยู่ในพระราชกฤษฎีกาการยุบสภาผู้แทนราษฎรและในคำแถลงการณ์นั้นอาจเป็นจริงดังเนื้อความที่ปรากฏอยู่หรืออาจเป็นการเขียนเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจยุบสภาของนายกรัฐมนตรีก็ได้ 

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสาเหตุหรือเหตุผลในการยุบสภาจะเกิดจากสิ่งใดหรือจะเขียนไปในแนวทางใด สามารถกระทำได้ทั้งสิ้นเนื่องจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเรื่องการยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้นมิได้กำหนดสาเหตุของการยุบสภาไว้ 

ดังนั้น สาเหตุของการยุบสภาจึงเปิดกว้างมาก การยุบสภาจึงชอบด้วยกฎหมาย แต่จะชอบธรรมหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง” ผู้เขียนขอย้ำความเห็นของหนึ่งฤทัยที่ยืนยันว่า การยุบสภาสามารถกระทำได้ทั้งสิ้นไม่ว่าจะด้วยเหตุผลตามที่ประกาศไว้อย่างไรในพระราชกฤษฎีกา รวมทั้งเหตุผลที่แท้จริงจะเป็นเช่นไรก็ตาม เพราะการยุบสภาสามารถกระทำได้ทั้งสิ้น เนื่องจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเรื่องการยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้นมิได้กำหนดสาเหตุของการยุบสภาไว้ ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย แต่จะชอบธรรมหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การยืนยันในเรื่องการยุบสภาของเธอนั้นยึดหลักการให้ความสำคัญกับกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้นเป็นสำคัญ ขณะเดียวกัน เธอก็ยอมรับว่า การกระทำได้ตามบทบัญญัติข้อกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรอาจจะชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมก็ได้ คำถามที่เกิดขึ้นคือ หากกฎหมายลายลักษณ์อักษรอาจไม่สามารถให้ความชอบธรรมต่อการยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ แล้วอะไรจะไปตัวกำกับให้การยุบสภาผู้แทนราษฎรตามกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่มิได้กำหนดสาเหตุของการยุบสภาไว้ อันทำให้สาเหตุของการยุบสภาเปิดกว้างมากอยู่กรอบของความชอบธรรมได้ ? หนึ่งฤทัยได้ให้ข้อเสนอแนะไว้เพื่อแก้ปัญหาการขาดความชอบธรรม โดยเธอได้เสนอว่า “เกี่ยวกับการยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทยว่าควรมีการไขเปลี่ยนแปลงดังนี้

1) ควรมีบทบัญญัติว่า นายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจถวายคำแนะนำแก่พระมหากษัตริย์ โดยต้องมีการปรึกษากับคณะรัฐมนตรีก่อน แต่คำปรึกษาไม่มีผลผูกพันให้ต้องปฏิบัติตาม เพราะการปฏิบัติที่ปฏิบัติกันอยู่ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถวายคำแนะนำอยู่แล้ว และที่ให้มีการปรึกษาคณะรัฐมนตรีก่อน เพื่อจะได้รับฟังความคิดเห็นจากคณะรัฐมนตรีเพื่อใช้ประกอบเป็นแนวทางการตัดสินใจอีกทางหนึ่ง และเป็นการทบทวนความคิดของนายกรัฐมนตรีด้วยว่า เหตุใดจึงต้องการยุบสภาผู้แทนราษฎร

2) ควรบัญญัติสาเหตุที่ห้ามยุบสภาผู้แทนราษฎรไว้ด้วย เพื่อป้องกันการใช้อำนาจเพื่อตนเองหรือพวกพ้อง เช่น เหตุภายนอกสภาผู้แทนราษฎรที่เกิดเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ซึ่งข้อเสนอแนะทั้งสองข้อนี้เป็นผลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการยุบสภาฯวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ส่วนในกรณีของอังกฤษที่ไม่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร พบว่า การยุบสภาฯทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นไปตามครรลองของประเพณีการปกครอง ยังไม่มีการยุบสภาฯครั้งใดที่ผิดหลักการจนทำให้พระมหากษัตริย์จำเป็นต้องใช้พระราชอำนาจวินิจฉัยปฏิเสธการยุบสภาฯที่ฝ่ายบริหารทูลเกล้าฯขึ้นมา และแม้ว่าพระมหากษัตริย์ของอังกฤษจะไม่เคยทรงใช้พระราชอำนาจปฏิเสธการยุบสภาฯ แต่นักวิชาการอังกฤษก็ยังยืนยันว่า พระองค์ยังทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจนี้อยู่