“TPP” กับ 10 เรื่องต้องรู้

“TPP” กับ 10 เรื่องต้องรู้

เชื่อแน่ว่าวินาทีนี้คงไม่มีกรอบการเจรจาความตกลงทางการค้าใดที่คนพูดถึงมากที่สุดไปกว่า TPP (Trans-Pacific Strategic Economic

Partnership Agreement: TPP) ซึ่งเป็นความตกลงทางการค้าเสรีกรอบพหุภาคี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดตลาดการค้าในสินค้า บริการ การลงทุน และการทำให้กฎระเบียบที่มีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีมาตรฐานเดียวกัน เช่น นโยบายการแข่งขันของตลาด และทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

TPP พัฒนามาจาก P4 (The Pacific 4) โดยในปัจจุบัน ประกอบด้วยประเทศสมาชิก (ที่สนใจ) ทั้งสิ้น 12 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก ญี่ปุ่น ชิลี เปรู ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน ประเทศที่สำคัญก็คือ เมื่อเดือนตุลาคม 2558 นั้น ประเทศสมาชิกได้บรรลุข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยกลายเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก มี GDP รวมกันกว่า 40% ซึ่งขั้นตอนต่อไปคือ แต่ละประเทศจะต้องลงนามและรับรองข้อตกลงเสียก่อน และยังมีอีกหลายประเทศที่ให้ความสนใจ และทำการศึกษาเรื่องของ TPP อย่างจริงจัง เช่น ไทย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และโคลัมเบีย เป็นต้น

10 เรื่องต้องรู้ มีดังนี้

1) ประเทศใน ASEAN หลายประเทศเข้าเป็นสมาชิก TPP ในรอบแรก ประกอบด้วย สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม และมาเลเซีย ขณะที่อีก 6 ประเทศ ไม่ได้เข้า อย่างไรก็ตาม กลุ่ม ASEAN กำลังอยู่ช่วงของการเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงอีกฉบับ ซึ่งก็คือ ความตกลง RCEP (ASEAN+6 ประกอบด้วย ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ รวมกับ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย) ซึ่งเราจะเห็นว่า ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ต่างก็เป็นสมาชิกรอบแรกของ TPP จึงเกิดคำถามว่า หาก TPP เกิดขึ้นมาเพื่อเขียนกฎระเบียบการค้าโลกใหม่ โดยพยายามคานอำนาจกับจีนนั้น ประเทศที่อยู่ทั้ง TPP และ RCEP จะใช้ประโยชน์จากความตกลงใดมากกว่ากัน หรืออาเซียนจะเป็นสนามรบทางการค้าของสองขั้วอำนาจหรือไม่

2) การที่ไทยไม่เข้าร่วม TPP ทำให้เสียโอกาสในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ทัดเทียมนานาประเทศ เช่น นโยบายการแข่งขัน การละเมิดลิขสิทธิ์ คำถามก็คือ เราพร้อมที่จะเป็นประเทศที่ Active หรือยัง?

3) นอกจากนั้น ปัญหา Trade diversion เป็นปัญหาที่ดูจะหลีกหนีไม่พ้น ยกตัวอย่างง่ายๆ ในกรณี ญี่ปุ่นกับเวียดนาม TPP แน่นอนว่าจะต้องส่งเสริมการใช้ทรัพยากรของประเทศสมาชิกด้วยกันเอง เรื่องของแหล่งกำเนิดสินค้าและการตั้งฐานการผลิต ญี่ปุ่นอาจหันไปเลือกเวียดนาม บรูไน และมาเลเซีย แทนที่จะเลือกไทย เพราะไทยไม่ได้อยู่ใน TPP และปัจจัยด้านบวกก็ดูเหมือนจะลดน้อยถอยลงไปทุกวัน แรงงานไม่ได้ถูกอีกต่อไป

4) TPP คือ WTO Plus ซึ่งก็คือ ความตกลงการค้าที่ครอบคลุมเรื่องราวใหม่ๆ ที่ยังไม่มีในความตกลง WTO หาก FTA คือการหมั้น WTO+ คือแต่งงาน เช่น การลดภาษีที่มากกว่าอัตราภาษีที่ผูกพันไว้กับ WTO การลดมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี หรืออาจมีเรื่องของการเปิดเสรีการลงทุนในภาคการผลิต การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมถึงความร่วมมือต่างๆ ที่ไม่อยู่ในเนื้อหาของ WTO ซึ่งหากไทยไม่เข้า อาจทำให้เราหลุดกระแสหรือวงโคจรของการพัฒนาของโลก

5)การเข้า TPP สร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการว่าจะไม่สามารถแข่งขันได้ แต่ชวนคิดก็คือ หากเราไม่ได้เปรียบในการผลิต ต้องรู้สาเหตุให้แน่ชัด หากเป็นเพราะต้นทุนสูงกว่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะต้องหันไปผลิตอย่างอื่นแทน แต่ไม่ใช่ว่าผู้ที่แข่งขันไม่ได้จะเดินอยู่ท่ามกลางหิมะอันหนาวเหน็บแต่เพียงผู้เดียว รัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามาช่วย ในปัจจุบัน มีสำนักงานเศรษฐกิจการการเกษตรและกรมการค้าต่างประเทศที่ได้จัดตั้ง กองทุน FTA เพื่อเยียวยาผลกระทบจากผู้ได้รับผลกระทบทางลบจากการที่ไทยไปทำข้อตกลงการค้าต่างๆ กับประเทศอื่น นอกจากนั้น ต้องมีทั้งการฝึกอบรมให้ทำงานให้เก่งขึ้นอย่างจริงๆ จังๆ ต้องลงทุน

6) ในแง่วิชาการ มีการศึกษามากมายว่าเข้า TPP แล้วไทยจะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่าไหร่ ผลก็คือ GDP ไทยมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นประมาณ 0.7 – 1.2% คำถามต่อมาก็คือ เชื่อได้หรือ? การศึกษาเหล่านั้นใช้แบบจำลองยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ใช่ของจริง ทุกวันนี้เนื้อหาของ TPP ยังไม่ออกมา ว่าลดภาษีในสินค้าใดบ้าง อะไรที่สงวนไว้บ้าง ภาคบริการเป็นอย่างไร การลงทุนเป็นอย่างไร นักวิจัยก็ได้แต่คาดเดา

7) คำถามจากข้อ 6 ก็ยังมีที่น่าสนใจอยู่เช่นกัน เช่น การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้อย่างไรจาก TPP คำตอบก็คือ TPP จะทำให้ประเทศสมาชิกสามารถขยายประตูที่จะเข้าสู่ตลาดของคู่ค้ามากขึ้น ดังนั้น หากเราไปเจรจากับประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักของเราอยู่แล้ว มีดีมานด์ในสินค้าเราเยอะๆ และอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันมันยังคงมีเยอะอยู่ แน่นอนว่า การบรรลุข้อตกลงก็จะช่วยให้เราขยายการส่งออกได้ดีขึ้น แต่สถานการณ์จะกลับกัน หากเราไปเจรจากับประเทศที่ตลาดใหญ่ก็จริง แต่คนส่วนมากมีรสนิยมไม่ match กับสินค้าของเรา หรือภาษีที่เก็บมันน้อยอยู่แล้ว แน่นอนว่าประโยชน์ทางการค้ามันก็น้อย

8) ประเด็นน่าสนใจถัดมาก็คือ ความเสียหายทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นอย่างไรได้บ้าง ซึ่งก็คือ การสูญเสียดุลการค้า เนื่องจากประเทศอื่นได้ preferential access หรือประตูบานใหญ่กว่าเรา เข้าไปในตลาดที่เป็นคู่ค้าหลักของเรา ส่วนแบ่งตลาด (Market share) ของเราในตลาดประเทศสมาชิก TPP จะลดลง หากเราไม่เข้า เช่น สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น คือคู่ค้าหลักด้านการส่งออกสินค้าของไทย หากไทยไม่เข้าร่วม TPP แน่นอนว่า สินค้าไทยก็จะต้องเสียภาษีใน WTO rate ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องสูงกว่า TPP rate ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ ผลไม้ไทยส่งไปญี่ปุ่นเสียภาษี 15% แต่เวียดนามส่งไปไม่เสียภาษี ราคาผลไม้ไทยในตลาดญี่ปุ่นจะสูงกว่าไทย และทำให้ดีมานด์สินค้าไทยลดลง

9) นอกจากนั้น ยังมีประเด็นเรื่องต้นทุนที่เกิดขึ้นจาก TPP บางประการ เช่น การจ่ายชดเชยให้เกษตรกรผู้เสียประโยชน์ แข่งขันไม่ได้ (กรณีกองทุน FTA ที่เข้าใจว่างบให้มาน้อยเหลือเกิน) และราคาสินค้าลิขสิทธิ์ที่อาจแพงขึ้น เช่น ราคายา ทั้งนี้ ขอถามกลับผู้ที่กล่าวว่าราคายาจะแพงขึ้นหากเข้า TPP ว่า หากไม่เข้า TPP แล้วราคายาจะลดไหม? หากบริษัทยาในสหรัฐอเมริกาต้องเริ่มกระบวนการทดลองยาใหม่เพื่อทดแทนยาที่หมดสิทธิบัตร (ไปให้สิทธิยาที่ขึ้นทะเบียนรายแรก) มีการลงทุนทดลองใหม่ แน่นอนว่ามันคือ cost ของผู้ผลิต และหากสหรัฐส่งยามาขายที่ไทย ราคาที่ขวดจะถูกกว่าก่อนหน้าที่ TPP ไม่มีผลบังคับใช้หรือไม่ กล่าวคือ หากเรายังคงนำเข้ายาที่มาจากประเทศ TPP ถึงแม้ไทยไม่เข้า ก็ต้องเสียค่ายาแพงขึ้นอยู่ดี!

10) ดังที่ทราบกันว่า TPP คือสมบัติของ Obama ที่จะส่งต่อให้กับ Clinton และโอบามาเองก็พยายามที่จะนำเรื่อง TPP ผ่านสภาให้ได้ในช่วงการประชุมเป็ดง่อย (Lame-duck session) หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งดูเหมือนกว่าทั้ง Clinton และ Trump จะมีท่าทีที่ชัดเจนว่าจะไม่เห็นด้วยกับ TPP แต่อย่าลืมว่า ครั้งหนึ่งเมื่อคลินตันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา คนที่ 67 ในสมัยประธานาธิบดีโอบามานั้น เธอสนับสนุน TPP อย่างเต็มหัวใจว่า “TPP sets the gold standard in trade agreements” หรือข้อตกลง TPP นี้ได้สร้างมาตรฐานสูงค่ายิ่งราวกับทองคำให้กับการเจรจาการค้า 

นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลว่าเธอเคยพูดสนับสนุนสามีเรื่อง NAFTA แต่มาคัดค้านในการเลือกตั้งประธานาธิบดีแข่งกับโอบามาเมื่อปี ค.ศ. 2008 ดังนั้น ผู้เขียนมองว่านี่คือเกมส์การเมืองล้วนๆ เพื่อชิงชัยหรือดึงคะแนนเสียง

เมื่อมองในภาพกว้างแล้ว TPP ยังคงมีอีกหลายประเด็นที่ให้ถกเถียง จนกว่าที่ข้อตกลงนี้จะถูกลงนามโดยทั้ง 12 ประเทศ แน่นอนว่ามันไม่ใช่ท้าทายรัฐบาล นักนโยบาย นักวิชาการเท่านั้น หากแต่ข้อตกลงนี้มันท้าทายประชากรทั้งโลกว่าจะมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงอย่างไร จากประเทศที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา