กินเจปี’59 : เม็ดเงินสะพัดทั่วกรุงฯ กว่า 4,500 ล้านบาท

กินเจปี’59 : เม็ดเงินสะพัดทั่วกรุงฯ กว่า 4,500 ล้านบาท

การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเจในช่วงเทศกาลกินเจของคนกรุงเทพฯ ในระยะที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับค่อนข้างดีจากผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม

จากเดิมที่จำกัดอยู่เพียงแค่คนไทยเชื้อสายจีนบางกลุ่มที่นับถือบูชาเทพเจ้า (ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยกลางคนขึ้นไป) ที่ต้องการงดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์/ ละกิเลสในช่วงเทศกาลถือศีลกินเจ ขยายความนิยมไปสู่กลุ่มผู้บริโภคทั่วไปมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ในช่วงวัยรุ่น-วัยทำงานตอนต้น[1] ที่มีวัตถุประสงค์หลักในการบริโภคเพื่อต้องการงดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ นอกจากนี้ บางส่วนต้องการทดลองทานอาหารเจ ซึ่งอาจจะมาจากคนใกล้ชิดเป็นผู้ชักชวน ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ในระยะหลังจำนวนผู้บริโภคอาหารและเครื่องดื่มเจเพิ่มขึ้น ซึ่งความต้องการบริโภคที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่ในช่วงเทศกาลกินเจเท่านั้น แต่กำลังจะเพิ่มไปสู่ช่วงเวลาอื่นๆ ด้วยเช่น วันพระ วันเกิด หรือช่วงเวลาที่สะดวกตลอดทั้งปี

อาหารเจร้านสะดวกซื้อ อาหารคลีน/เจออนไลน์ เดลิเวอรี่.... กระแสตอบรับดี

หากพิจารณาถึงช่องทางในการเลือกซื้อหรือจับจ่ายอาหารและเครื่องดื่มเจสำหรับผู้บริโภคในช่วงเทศกาลกินเจ จะพบว่า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังเลือกกินเจจากร้านอาหารมากที่สุด เนื่องจากมีอยู่ทั่วไป หาง่ายและสะดวก รองลงมาคือ ซื้อสำเร็จรูปจากร้านอาหารมาทาน และซื้อจากร้านอาหารข้างทางแบบตักขาย ตามลำดับ แต่เป็นที่น่าจับตาว่า ในปีนี้ ผู้บริโภคเริ่มเปิดกว้างให้กับช่องทางการขายใหม่ๆ มากขึ้น ทั้งการเลือกซื้อจากร้านสะดวกซื้อ หรือซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงการสั่งซื้ออาหารเจในรูปแบบคลีนฟู้ดออนไลน์/เดลิเวอรี่ ซึ่งมีจุดดึงความสนใจผู้บริโภคอยู่ที่ความแปลกใหม่ของเมนูอาหารเจและการบริการที่เข้าถึงได้มากขึ้น อาทิ สั่งซื้อง่ายและการบริการส่งถึงที่ ทั้งนี้ แม้ว่าผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะไม่ใช่ผู้เล่นหลักที่ครองพื้นที่ในตลาด แต่คาดว่าจะเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามาช่วยสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดอาหารและเครื่องดื่มเจได้ในระยะต่อไป จากตัวสินค้าที่มีความน่าสนใจและมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งคาดว่าจะได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภคกลุ่มเจรุ่นใหม่ ที่หันมาตัดสินใจซื้ออาหารและเครื่องดื่มเจจากช่องทางเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ จากพฤติกรรมการบริโภคและการเลือกซื้อของผู้บริโภคเจรุ่นใหม่ ที่แตกต่างไปจากผู้บริโภคเจดั้งเดิมที่ยังเน้นประกอบอาหารเจทานเอง โดยเลือกทานเจในรูปแบบง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก เน้นหาซื้อสะดวก ไม่แพง น่าจะเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการอาหารเชิงสุขภาพ และเน้นรูปแบบการให้บริการใหม่ๆ ที่จะเข้ามาทำตลาดเพื่อขยายฐานลูกค้าได้เพิ่มขึ้น อาทิ กลุ่มคลีนฟู้ดออนไลน์ (Clean Food Online) กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มออร์แกนิค กลุ่มอาหารเจประเภท Ready to Eat เป็นต้น

จับตา กลุ่มผู้บริโภคเจรุ่นใหม่” ... เป้าหมายทางการตลาดในช่วงเทศกาลกินเจ

เทรนด์การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเจ ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมาก ส่งผลต่อทิศทางตลาดและการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยหากมองถึงการปรับตัวในระยะข้างหน้า พบว่า จะแตกต่างกันไปตามกลุ่มเป้าหมายที่ผู้ประกอบการแต่ละรายเข้าไปจับตลาด ดังนี้

ผู้บริโภคเจดั้งเดิม: ผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังให้ความสำคัญกับวิธีการปรุงอาหารที่ถูกหลักวิธีกินเจ และกว่าร้อยละ 60 บริโภคอาหารเจทุกมื้อ (9 วัน) ดังนั้น ในการเลือกซื้ออาหารเจ ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะไม่เน้นความแปลกใหม่ของเมนูมากนัก แต่จะเน้นไปที่ร้านดั้งเดิมหรือช่องทางการขายเดิมๆ หรือร้านประจำที่คุ้นเคย อาทิ ร้านอาหารเจที่อยู่ใกล้บ้านหรือที่ทำงาน หรือร้านแผงตักขายข้างทาง ภายใต้ความสมเหตุสมผลของราคาอาหารที่สอดคล้องกับคุณภาพอาหารที่ได้รับ

ผู้บริโภคเจรุ่นใหม่: อาทิ กลุ่มพนักงานออฟฟิศ ผู้ประกอบการธุรกิจส่วนตัว ข้าราชการ หรือกลุ่มลูกค้า High-End ที่มีกำลังซื้อสูง ฯลฯ เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ผู้ประกอบการน่าจะเข้าไปทำตลาดให้มากขึ้น แม้อัตราการบริโภคอาหารเจจะน้อยกว่าผู้บริโภคเจกลุ่มดั้งเดิม (เฉลี่ย 5 วัน และรับประทานวันละ 2 มื้อ) แต่มีอำนาจการซื้อค่อนข้างสูง โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้ส่วนใหญ่นิยมกินเจเพราะอยากทดลองตามกระแสเทศกาล ไปพร้อมๆ กับการอิ่มบุญจากการงดเว้นเนื้อสัตว์ ดังนั้น แม้ว่าช่องทางการเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มเจจะยังคงเป็นการเลือกกินจากร้านอาหารมาเป็นอันดับแรก แต่เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้กล้าที่จะใช้จ่ายหรือทดลองซื้ออาหารเจที่มีความแตกต่าง แปลกใหม่ ทั้งรสชาติอาหาร รูปลักษณ์อาหารที่ดูน่ารับประทาน เมนูอาหารที่หลากหลาย และรูปแบบการให้บริการที่แตกต่างจากช่องทางการขายเดิมๆ อีกทั้งผู้บริโภคบางส่วนไม่อยากไปเลือกซื้อหรือต้องการหลีกเลี่ยงผู้คน และสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย (อากาศร้อน ฝนตก) ส่งผลให้ช่องทางการขายสมัยใหม่ที่เน้นอำนวยความสะดวกและรวดเร็วอย่างร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงการสั่งซื้ออาหารเจในรูปแบบคลีนฟู้ดออนไลน์/เดลิเวอรี่ มีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้น ทดแทนช่องทางการขายรูปแบบเดิมๆ (ซื้ออาหารเจสำเร็จรูปจากร้านอาหาร และร้านอาหารข้างทางแบบตักขาย)

โดยสรุป เทศกาลกินเจ ถือเป็นเทศกาลอิ่มบุญสำหรับคนไทยมายาวนาน และคาดว่าจะได้รับความสนใจจากผู้คนที่หันมารับประทานอาหารในช่วงเทศกาลนี้เพิ่มมากขึ้น แต่ด้วยรูปแบบการบริโภคและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้คนในสังคม จำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องหันมาปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการทำตลาดให้สอดรับกับเทรนด์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคเป้าหมายในแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคเจรุ่นใหม่ ที่คาดว่าจะเข้ามามีบทบาทต่อทิศทางตลาดอาหารและเครื่องดื่มเจในระยะต่อไป ด้วยตัวสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ทั้งในแง่ของคุณภาพสินค้าและการให้บริการที่ช่วยอำนวยความสะดวกและรวดเร็วให้กับผู้บริโภคได้ 

สำหรับในปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เทศกาลกินเจปี 2559 ผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ จะมีเม็ดเงินใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มเจสะพัดกว่า 4,500 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.2 (YoY) โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 300 บาท/คน/วัน[2] โดยอัตราการขยายตัวดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นผลมาจากผู้บริโภคเพิ่มจำนวนวันกินเจ และราคาสินค้าอาหารเจที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจาก 270 บาท/คน/วันในปีที่แล้ว เป็น 300 บาท/คน/วันในปีนี้ ขณะเดียวกันจำนวนผู้บริโภคอาหารเจที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากเทรนด์รักสุขภาพก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มเจในช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นจากปีที่แล้ว