นวัตกรรรมเพื่อสังคม

นวัตกรรรมเพื่อสังคม

เมื่อพูดถึงเรื่องของการสร้างนวัตกรรม คนส่วนใหญ่อาจให้ความสำคัญไปกับ นวัตกรรมเชิงธุรกิจ

ซึ่งหมายถึงการนำเสนอสิ่งใหม่ออกสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็น สินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือ การบริการต่างๆ ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค ทำให้ธุรกิจและระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม เติบโตขึ้นได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

แต่ในอีกมิติหนึ่งของการสร้างสรรค์นวัตกรรม ยังมีสิ่งที่เรียกว่า นวัตกรรมเพื่อสังคม ซึ่งหมายถึงการนำเสนอแนวคิด หรือไอเดียใหม่ๆ ที่จะตอบสนองความต้องการของสังคมที่จะทำให้สังคมและมนุษย์โดยทั่วไปมีชีวิตที่ดีขึ้นโดยไม่ได้หวังผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินหรือกำไรทางธุรกิจเป็นหลัก

เช่น การนำเสนอแนวคิดใหม่ในการแก้ไขปัญหาเรื้อรังต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมหรือชุมชน ซึ่งอาจมีลักษณะเฉพาะสังคมนั้นๆ หรืออาจมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป โดยแนวคิดนวัตกรรมเกิดขึ้นมาจากสมาชิกในชุมชนเอง หรือจากบุคคลภายนอกที่มีความจริงใจและต้องการช่วยเหลือสมาชิกหรือคนในชุมชนหรือสังคมนั้นๆ

ปัญหาทางสังคมที่ต้องการ นวัตกรรมเพื่อสังคม มาแก้ไข อาจมีได้ตั้งแต่เรื่องของ ความแตกต่างทางชนชั้น สถานะทางเศรษฐกิจ ความแตกต่างทางความคิดเห็นและความเชื่อ ระบบการเมือง การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ สุขอนามัยและโรคภัยไข้เจ็บ

ตลอดไปจนถึง โอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษา และการได้รับโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ

นวัตกรรมเพื่อสังคม จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ปัญหาเหล่านี้ให้หมดไปได้อีกช่องทางหนึ่ง

ความจำเป็นที่จะต้องมีการสนับสนุนให้เกิด นวัตกรรมเพื่อสังคม ขึ้นมา ก็เนื่องจากได้พิสูจน์แล้วว่า นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ หรือแม้กระทั่งการจัดสรรงบประมาณของประเทศ ไม่สามารถเข้าถึงและแก้ไขปัญหาเชิงสังคมต่างๆ ให้หมดไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คำว่า นวัตกรรม มีความหมายที่มากไปกว่า การปรับปรุงหรือแก้ไข แต่หมายถึงการพลิกโฉมวิธีคิดและวิธีการที่จะนำมาใช้กันเลยทีเดียว

ขั้นตอนในการสร้าง นวัตกรรมเพื่อสังคม มักจะเริ่มต้นจากการมองเห็นปัญหาและการมีความคิดริเริ่มใหม่ๆ ในการแก้ปัญหานั้นๆ

ปัญหาเชิงสังคม มักจะเกี่ยวกับความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองของสมาชิกหรือผู้มีส่วนได้เสียในสังคม และ นวัตกรรมเพื่อสังคม จะเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์วิธีการตอบสนองความต้องการนั้นๆ ให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม และได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย

ความต้องการของสังคมที่ไม่ได้รับการตอบสนองนี้ ในบางครั้งก็สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น ปัญหาความยากจน ความหิวโหย การไร้ที่อยู่อาศัย สุขอนามัยที่เลวร้าย

แต่ความต้องการบางส่วนก็ไม่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนและเปิดเผย เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ความแตกต่างชองชนชั้น หรือ ความไม่เท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

นวัตกรเพื่อสังคม อาจจะเป็นบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กร ที่สามารถมองเห็นและชี้บ่งความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองของสังคมเหล่านี้

ความคิดริเริ่มในการตอบสนองปัญหาทางสังคมด้วยนวัตกรรม เกิดขึ้นได้จากการติดตามสังเกตพฤติกรรมและสภาพของสังคม ความสนใจ หรือการเข้าไปสัมผัสกับผู้คนในสังคมนั้นโดยตรงเกิดขึ้นจากการเกิดศาสตร์หรือองค์ความรู้เชิงวิชาการที่ค้นพบใหม่ หรือการเกิดเทคโนโลยีที่ค้นพบใหม่

นอกจากนั้น ความคิดริเริ่มใหม่ ยังอาจจะไม่ใช้ความใหม่อย่างแท้จริงก็ได้ แต่เกิดจากการนำความรู้เดิมที่รู้จักกันมาแล้วจากหลายๆ แห่ง มารวมกันเกิดเป็นแนวทางใหม่ในการแก้ไขปัญหาสังคม

หลังจากเกิดไอเดียหรือความคิดริเริ่ม ขั้นตอนต่อไปของการสร้าง นวัตกรรมเพื่อสังคม ก็คือการนำไอเดียนั้นไปทดลองปฎิบัติจริง ซึ่งอาจเริ่มจากการทำแบบจำลองขนาดเล็ก แล้วทำการปรับแต่งข้อบกพร่องต่างๆ ที่พบ ก่อนการนำไปใช้ในขนาดหรือสัดส่วนเชิงกว้างตามที่ได้ออกแบบไว้

หากนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ออกแบบไว้ สามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้ผลจริงตามต้องการ วิธีการใหม่ดังกล่าวนี้ ก็อาจนำไปใช้ต่อให้แพร่กระจายออกไปได้ในชุมชนหรือสังคมอื่นๆ ที่มีปัญหาใกล้เคียงกันได้

ซึ่งจะทำให้ครบองค์ประกอบของการสร้างนวัตกรรมทั้ง 3 ขั้นตอน คือ การคิดสร้างสรรค์ การนำไปใช้จริง และการเกิดการแพร่กระจายต่อไปในวงกว้าง