เหล้าเก่าในขวดใหม่

เหล้าเก่าในขวดใหม่

รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรที่มีรายได้น้อย

 โดยการโอนเงินสำหรับผู้ที่ลงทะเบียน เพื่อขอรับความช่วยเหลือสวัสดิการจากรัฐบาล ซึ่งได้ลงทะเบียนไปแล้ว ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณในส่วนนี้กว่า 6 พันล้านบาท โดยตามเหตุผลของมาตรการนี้คือเกษตรกรที่มีรายได้น้อยจำนวนมาก เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำมานานจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ อีกทั้งยังเผชิญกับภาวะหนี้สินที่ไม่สามารถชำระได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือโดยตรงด้วยการโอนเงินเข้าบัญชี

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังออกมาตรการ ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ด้วยมาตรตการลดดอกเบี้ย ลดหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าของธ.ก.ส. ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรจำนวนมากที่เป็นลูกค้าธ.ก.ส. ซึ่งเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพเช่นเดียวกัน โดยรัฐบาลหวังว่าด้านหนึ่งจะเป็นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และตรงกับเป้าหมาย เนื่องจากมีการลงทะเบียนไว้ล่วงหน้าแล้ว ยังช่วยให้เกิดสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ

หากพิจารณามาตรการของรัฐบาลตั้งแต่เริ่มต้น และเมื่อเปรียบเทียบกับนโยบายรัฐบาลก่อนหน้านั้นหลายสมัย จะเห็นว่ามาตรการทั้งหมดที่รัฐบาลใช้ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกับที่เคยทำมาแล้ว เพียงแต่มีการเปลี่ยนรูปแบบและเป้าหมายเท่านั้น ซึ่งมาตรการทั้งหมดที่รัฐบาลใช้ด้วยวิธีนี้ ไม่ว่าจะเป็นการอัดฉีดโดยตรง หรือออกมาตรการทางอ้อม ผ่านการลดต้นทุนทางการเงิน ก็ล้วนแต่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดนั่นคือคนมีรายได้น้อย

อย่างไรก็ตาม หากไม่นับรวมมาตรการด้านการคลังผ่านการลงทุนโครงการขนาดใหญ่แล้ว จะเห็นได้ว่ารัฐบาลที่ผ่านมา รวมถึงรัฐบาลนี้มีหลักคิดในการให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยไม่ต่างกันมากนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่อาศัย การเดินทาง และการนลดค่าครองชีพ ซึ่งหากเราไม่ยึดติดในเรื่องชื่อของตัวนโยบายที่มักจะพยายามคิดให้มีความแตกต่างกันเพียงไร แต่ในที่สุดแล้วหลักคิดก็ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาของกลุ่มเป้าหมายของรัฐบาลไม่เคยเปลี่ยนแปลง

เราไม่ต้องการวิพากษ์วิจารณ์ว่านโยบายเหมาะสมหรือสมควรหรือไม่ เพราะแต่ละรัฐบาลก็ใช้หลักคิดไม่ต่างกันมากนัก แต่หากมองไปให้พ้นเรื่องของตัวนโยบาย โดยมองไปที่กลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายของนโยบายเหล่านี้ก็ชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมที่ผ่านมาในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมานั้นแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กล่าวคือ คนจนก็เป็นกลุ่มเดิมที่ยังเผชิญกับปัญหาเดิมๆ ซึ่งสามารถดูได้จากมาตรการเหล่านี้มักจะดำเนินการผ่านธ.ก.ส.และเป็นคนกลุ่มเดิมๆ

ประเด็นคำถามสำคัญในเชิงนโยบายคือทำไมนโยบายในลักษณะนี้เกิดขึ้นซ้ำซาก จนกระทั่งมีการกล่าวกันว่าไม่มีรัฐบาลไหน กล้ายกเลิกในบางนโยบายเช่นการอุดหนุนรถไฟและรถเมล์ฟรี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพื้นฐานต่างๆของคนกลุ่มที่เป็นเป้าหมายของนโยบายนี้ไม่เปลี่ยนไปจากเดิม ดังนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องใช้นโยบายในลักษณะประชานิยม ซึ่งไม่ว่าจะเป็นประชานิยมอย่างอ่อนหรือเป็นเข้มข้น และอาจเป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมามีปัญหาในเรื่องการกระจายความมั่งคั่ง

แน่นอนว่านโยบายลักษณะนี้ย่อมมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ไม่ว่าจะมีความเห็นเป็นอย่างไร หากปัญหาในระดับพื้นฐานยังไม่ได้รับการแก้ไข รัฐบาลต่อๆไปก็ยังใช้นโยบายลักษณะเดียวกันนี้ ดังนั้น ในเมื่อนโยบายนี้ต้องการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ เราเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งต้องเข้ามาดูคนกลุ่มนี้อย่างจริงจัง และหามาตรการเพื่อช่วยให้ออกจากหลุมดำแห่งความยากจน และหากไม่สามารถแก้ได้ ประเด็นนี้เองจะเป็นระเบิดเวลาที่อาจนำไปสู่การต่อสู้เรียกร้องในเรื่องความเป็นธรรมในอนาคต