divergence diversity and convergence  สถาบัน รัฐ ตลาด(53)

 divergence diversity and convergence  สถาบัน รัฐ ตลาด(53)

ประเด็นที่ฮิตมากหลัง Brexit คือ มันจะทำให้กลุ่มยูโรโซน และอียูล่มสลายหรือไม่ หรืออนาคตยุโรปจะเป็นอย่างไร แม้ไม่มี Brexit

 ก็มีทั้งคนและกระแสจากฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านการรวมตัวของยุโรป มองว่าในที่สุด ถ้าไม่มีพัฒนาการหรือการปฏิรูปใหญ่ ยูโรโซนและอียูจะไปไม่รอด

โดยตรรกะ เราจะเข้าใจอนาคตยุโรปได้ดีขึ้น ถ้าเราเข้าใจความคิดของแต่ละประเทศที่สำคัญๆ ว่าคิดอย่างไรกับยุโรป หรือที่เรียกกันว่า The Idea of Europe และโดยนัยยะ ความคิดเกี่ยวกับประเทศของตัวเอง อันเป็นผลิตผลทางด้านประวัติศาสตร์ มิติด้านอัตลักษณ์ การได้เสียจากการเข้าร่วมกับประชาคมยุโรป ในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่เขตการค้าเสรีแบบง่ายๆ หรือตลาดเดียว Single market หรือใช้เงินสกุลเดียวร่วมกัน หรือแม้กระทั่งร่วมกันแบบสุดๆ คือเป็นสหภาพทางการเงิน (Political Union)

อังกฤษ (จะใช้แทน สหราชอาณาจักร) เป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจมาก ในเชิงวิวัฒนาการ ด้วยเหตุผลหลายๆประการ หนึ่งเป็นเพราะอังกฤษเป็นประเทศขนาดใหญ่ ทั้งทางเศรษฐกิจและบทบาทในเวทีโลก อังกฤษมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 6 ของโลก ครึ่งหนึ่งของการค้าของอังกฤษทำกับอียู นำเข้าสินค้าเกษตร กว่าครึ่งจากอียูเช่นกัน กว่าครึ่งของธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบต่างๆ ในอียู อยู่ที่ City of London ที่มีบทบาทมากกว่าปารีส หรือแฟรงค์เฟิร์ต อังกฤษอาจจะไม่ใช่เป็นแหล่งที่รองรับคนงานเคลื่อนย้ายที่ใหญ่ที่สุดของอียู แต่อังกฤษเป็นแหล่งของการลงทุนโดยตรงที่ใหญ่ที่สุดจากกลุ่มประเทศในอียู ในทางทหาร อังกฤษกับฝรั่งเศส มีการใช้จ่ายทางด้านการทหาร มีขนาดของกองทัพและกำลังมากกว่าครึ่งและใหญ่ที่สุดของยุโรป ทั้งอังกฤษและอียู ต่างก็มีสถานภาพที่ยิ่งใหญ่ในระดับโลก แน่นอนว่าต่างฝ่ายต่างต้องพึ่งกันและกัน ดูเหมือนโดยข้อเท็จจริงมีหลายเรื่องที่อังกฤษ ต้องพึ่งหรือได้จากอียู มากกว่าที่อียูจะได้จากอังกฤษ โดยเฉพาะสัญลักษณ์ในเชิงอำนาจ

แต่ความน่าสนใจของอังกฤษไม่ได้อยู่เพียงแค่ความยิ่งใหญ่ของอังกฤษ โดยเฉพาะในอดีต แต่อยู่ที่โลกทัศน์ ความคิดของผู้นำอังกฤษในแต่ละยุคสมัย โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และอิทธิพลของความคิดของผู้นำที่มีต่อชาวอังกฤษ แกนของความคิดมีอยู่ว่า อังกฤษไม่เคยมีความคิดว่าตัวเองเป็นยูโรเปียน โดยเฉพาะทางด้านจิตวิญญาณ มีบางคนบอกว่าเป็นเพราะสภาพทางภูมิศาสตร์ของอังกฤษที่เป็นเกาะเล็กๆ แยกออกมาจากภาคพื้นทวีป แต่นี่เป็นเพียงเหตุหนึ่ง มีปัจจัยอื่นที่สำคัญกว่านั้น

เมื่อสิ้นสงครามโลกใหม่ๆ ความคิดเรื่อง United Europe มีมาจากหลายทิศทาง Churchill เอง พูดถึงและสนับสนุน United States of Europe แม้ว่ายังไม่มีภาพของรายละเอียดในเชิงปฏิบัติการและวิวัฒนาการ แต่ก็ชัดเจนว่า Churchill คิดว่าอังกฤษ สนับสนุน แต่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของโครงสร้างนี้ เพราะอังกฤษมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาของตัวเอง และมีหลายอย่างที่ไม่เหมือนยุโรปภาคพื้นทวีป

ประวัติศาสตร์การพัฒนาทางการเมืองแสดงให้เห็นว่า อังกฤษมีระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ มีพัฒนาการของความเป็นเสรีนิยมทั้งทางเศรษฐกิจ และการเมืองล้ำหน้ากว่าประเทศในภาคพื้นยุโรปมองจากมิติกระบวนการประชาธิปไตย บทบาทและการจำกัดอำนาจรัฐ อำนาจกษัตริย์ก็ดี โดยเฉพาะในครึ่งแรกของศตวรรษที่20 ทั้งหมดนี้ทำให้อังกฤษฝังใจอยู่ในความเชื่อว่าประเทศของตนและรัฐของตน รวมทั้งวัฒนธรรมแองโกลแซกซอนที่มีอิทธิพลต่ออเมริกา ผ่านระบบ Common Law ของอังกฤษซึ่งมีบทบาทต่อวิวัฒนาการของระบบกฏหมายของสหรัฐ เช่นเดียวกัน อเมริกาดูจะล้ำหน้ายุโรปไปหลายขุมของพัฒนาการของกระบวนการประชาธิปไตยที่มีการจำกัดอำนาจรัฐเพื่อให้สิทธิพลเมือง 

อังกฤษจริงๆแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปรู้สึกและต้องการใกล้ชิดกับอเมริกามากกว่าที่จะใกล้ชิดเป็นหนึ่งเดียวกับยุโรป อิตาลี สเปน หรือชาวดัตช์ ล้วนเคยร่ำรวย ยิ่งใหญ่ แต่ศตวรรษที่ 19 อังกฤษ เจริญก้าวหน้าก่อนและมากกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรปในช่วงแรกๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปฏิวัติอุตสาหกรรมเริ่มที่นี่ ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและพลังอำนาจของอังกฤษที่แผ่ไปทั่วทุกมุมโลกที่ถึงขีดสูงสุดในศตวรรษที่ 19 หรือต้นทศวรรษที่ 20 ทั้งในแง่ของการครอบครองพื้นแผ่นดินโลก และการกำหนดกติกาทางเศรษฐกิจการค้า (นโยบายการค้าเสรี)

ความยิ่งใหญ่ของอังกฤษที่มีไปทั่วทุกมุมโลกไม่ได้เกิดขึ้นเพราะอังกฤษ มีอำนาจเหนือ หรือครอบงำยุโรปแต่อย่างใด ไม่เหมือนช่วงที่ฝรั่งเศสยิ่งใหญ่เพราะนโปเลียนแผ่ขยายอำนาจไปทั่วทั้งยุโรปและตะวันออกกลาง อังกฤษอาจจะเคยครอบครองอเมริกาเหนือ แต่อิทธิพลและอำนาจนี้ก็หมดไป เมื่อเมริกาประกาศอิสรภาพในปลายศตวรรษที่ 18 ผู้เขียนคิดว่าเราสามารถมองอังกฤษในเชิงวิวัฒนาการความสัมพันธ์ของอังกฤษกับยุโรป เหมือนกับที่อเมริกา ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ยึดถือลัทธิมอนโร คือ อเมริกาอยากอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่ยุ่งกับใคร อังกฤษไม่ต้องการเข้าไปยุ่งในกิจการของยุโรป แต่ไหนแต่ไรมา ยุทธศาสตร์ของอังกฤษคือการพยายามสร้างดุลย์แห่งอำนาจให้เกิดขึ้นในยุโรป ไม่ให้ใครขึ้นมาใหญ่จนเป็นอันตรายต่ออังกฤษโดยทุกวิถีทาง

อังกฤษจึงไม่ไว้ใจ ระแวง และกลัวเสมอ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อยุโรปจะรวมเป็นหนึ่งเดียวเพียงแค่จะค้าขายกัน ไม่จำเป็นก็จะไม่เข้าร่วม และยิ่งจะกลัว ขัดขวาง คัดค้าน เมื่อใดก็ตามที่ยุโรปจะรวมตัวแบบลึกๆ มากขึ้น

ด้วยเหตุนี้เองถึงได้มีผู้สันทัดกรณีจำนวนมาก เมื่อวิเคราะห์บทบาทและความเป็นมาของอังกฤษในยุโรป เชื่อว่าถ้าเป็นการแต่งงาน การแต่งงานของคู่นี้จะไปไม่รอดมาตั้งแต่ต้นแล้ว ซึ่งในที่สุดก็เป็นจริง