ใช่...ใครๆ ก็เป็นหมา (เฝ้าบ้าน) ได้

ใช่...ใครๆ ก็เป็นหมา (เฝ้าบ้าน) ได้

ไม่มีวงการไหนอยู่รอดได้ หากไม่ปรับตัวให้สอดคล้อง

กับความเปลี่ยนแปลงอันเร่งร้อนรุนแรง ที่มีเทคโนโลยีเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก

ไม่ปรับก็พับฐาน ภายใต้สภาวะ Perfect Storm ที่สร้างความกระเทือนเลื่อนลั่นมาระยะหนึ่งแล้ว

ประโยคนี้ผมบอกเล่ากับคนข่าวในเนชั่นเป็นการภายในมาอย่างน้อย 5 ปีก่อน

ไม่ใช่เพราะผมมีญาณวิเศษหรือมีความรู้ความสามารถอะไรเลย ตรงกันข้ามผมเป็นเพียงคนคอยสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมโลก เพราะรู้น้อยและเรียนหนังสือมาไม่มาก จึงต้องพยายามถามไถ่หาความรู้ คอยศึกษาติดตามความเคลื่อนไหวรอบตัวและรอบโลก ได้รู้ได้เห็นอะไรก็มาเล่าสู่กันฟังในแวดวงเพื่อนร่วมงาน

ครั้งแรกที่เห็นสัญญาณของความน่าตื่นตาตื่นใจแห่งเทคโนโลยี ที่มีผลต่อการทำงานของคนข่าวเกิดเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน เมื่อเพื่อนคนหนึ่งเอา กล้องถ่ายรูปดิจิทัล ที่ไม่ต้องใช้ฟิล์มจากไต้หวันมาให้ผมดู

เป็นครั้งแรกที่มีกล้องถ่ายรูปโดยไม่ต้องใช้ฟิล์ม ซึ่งสำหรับผมเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่ใช่เพียงแค่สร้างความแปลกใหม่เท่านั้น แต่ผมเริ่มคิดว่าถ้าแนวโน้มเป็นเช่นนั้นจริง การทำงานของสื่อจะก้าวไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง

ผมเก็บความคิดอย่างนั้นไว้คนเดียว เพราะกลัวจะถูกคนที่รู้เรื่องดีกว่าเยาะเย้ยความ ตื่นตระหนกเกินเหตุ ของผม

ผมคุยกับช่างภาพในที่ทำงาน กระซิบว่าผมตื่นเต้นกับมัน ช่างกล้องส่วนใหญ่หัวเราะ บอกผมว่า มันเป็นแค่ของเล่นเด็ก เป็นไปไม่ได้ที่กล้องจะไม่มีฟิล์ม เพราะนั่นคือสัจธรรมของวิชาชีพ

ขณะนั้น คำว่า เทคโนโลยี ยังไม่อาจสร้างความตื่นเต้น หรือตระหนกให้กับแวดวงคนอาชีพสื่อหรืออาชีพอื่นใดเท่าไหร่นัก

ข้ามมา 20 ปี วันหนึ่งหลังจาก พายุ เทคโนโลยีถาโถมเข้ามาสู่วงการสื่ออย่างไม่มีใครปฏิเสธได้แล้ว

คนข่าวคนหนึ่งบอกผมว่า Facebook จะเปิดให้สมาชิกเฉพาะที่เป็นเซเลปส่งวีดิโอสดที่เรียกว่า Facebook Live จากมือถือได้

ผมบอกเขาว่าก่อนหน้านี้ทวิตเตอร์เปิดตัว Periscope ในแนวทางนี้แล้ว และได้กระซิบกระซาบบอกให้คนข่าวทุกคน กระโดดลงไปทดลองใช้ดู เพราะนั่นอาจจะเป็นอีกหนึ่งจังหวะ ของการเปลี่ยนโฉมหน้าแห่งการทำงานของคนข่าว

ผมแสดงอาการตระหนกต่อด้วยการบอกคนข่าวคนนั้นว่า ถ้า Facebook Live เปิดตัวอย่างนั้น อย่าคิดว่าเขาจะจำกัดเฉพาะให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใช้ อีกไม่นาน เขาก็จะเปิดกว้างไปหมด เพราะนั่นคือทิศทางธุรกิจของเขา

หากคนข่าวปรับใช้เพื่อประโยชน์เพื่อทำหน้าที่ต่อสาธารณชนได้ ก็ควรจะต้องทดลองใช้เป็นเครื่องมือ

เพราะการที่นักข่าวใช้มือถือถ่ายทอดเหตุการณ์สด ๆ ได้ถึงผู้คนจำนวนมากพร้อม ๆ กันนั้นอาจจะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ทำให้คำว่า ถ่ายทอดสด เปลี่ยนความหมายไปโดยสิ้นเชิง

คำว่า OB หรือ Outdoor Broadcasting ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นหัวใจของคนทำทีวีในการรายงานสด ต้องใช้บุคลากรเป็นสิบ ค่าใช้จ่ายครั้งละเป็นหมื่นเป็นแสนนั้นกำลังจะกลายเป็นอดีต...หรือไม่?

ทุกครั้งที่มี สิ่งใหม่ ในเทคโนโลยีที่มีผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านบวกหรือลบต่อวิชาชีพของใคร ย่อมไม่มีใครฟันธงได้ฉับพลันว่าจะพัฒนาต่อเนื่องเป็นแนวโน้มใหม่ หรือเป็นเพียงความตื่นเต้นชั่วครั้งชั่วคราวที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

แต่สำหรับคนรักอาชีพของตัวเองเป็นชีวิตจิตใจ ความกลัว และ ความระแวดระวัง เป็นอาวุธป้องกันหายนะได้

หนึ่งในปรากฏการณ์แห่งความเปลี่ยนแปลงในแวดวงสื่อนับเนื่องจากเมื่อ 20 ปีก่อนถึงวันนี้คือสิ่งที่ผมเรียกว่า

ใคร ๆ ก็เป็นหมา (เฝ้าบ้าน) ได้

ดังจะได้เล่าขานกันต่อไปเพื่อแบ่งปันความคิดของผมว่าคนที่อ้างตนเป็น “สื่อสารมวลชน” มีบทบาทวางตัวเองเป็น หมาเฝ้าบ้าน” (Watchdog) บ้าง ผู้เฝ้าประตู” (Gatekeeper) บ้างกำลังต้องเผชิญกับความท้าทายและโอกาสอย่างไร

เราต่างก็ตกอยู่ในกระแสแห่งความ ปั่นป่วน ที่ฝรั่งเรียก Disruption

แรงป่วนนี้มาจากแรงกระหน่ำข้างนอกเกือบทุกทิศทาง และกระเทือนทุกอาชีพ

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าถ้าเราไม่อยากให้แรงข้างนอกป่วนเราจนโซซัดโซเซ เราก็ควรจะต้องป่วนตัวเราเองจากข้างใน

แต่เราพร้อมจะ ป่วนตัวเองจากข้างใด แค่ไหน? หรือแม้หากเราตัดสินใจจะ disrupt ตัวเอง เรา พร้อมจะปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง คำถามคือ

ปรับทันกับความเปลี่ยนแปลงหรือไม่?

ความเห็นในกรอบนี้เป็นเพียงความพยายามเล็ก ๆ ที่จะกระตุ้นให้เกิดการถกแถลงวิพากษ์วิจารณ์บทบาทสื่อท่ามกลางพายุรอบทิศเช่นนี้อย่างจริงจังและตรงไปตรงมาเท่านั้น

อันตรายไม่ได้อยู่ที่ความเห็นแปลกแยก เพราะยิ่งเห็นแย้งกันมากยิ่งจะได้มุมมองที่จะหาทางออกจาก มหาภัยพิบัติ ครั้งประวัติศาสตร์ที่ยังไม่มีใครสามารถประเมินว่าจะผ่อนคลาย, หักเหหรือยุติลงเมื่อใด

อันตรายอยู่ที่ความเงียบงัน การขีดเส้นแบ่งฝ่ายและความหวาดกลัวที่จะก้าวออกจาก ย่านปลอดภัย” (comfort zone) ของตนต่างหาก